ไทยพบพม่า : การบ้านการเมืองว่าด้วยฟอนต์พม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในปี 2014 เครื่องมือแปลภาษา Google Translate เพิ่มภาษาพม่าเข้าไปเป็นครั้งแรก และในปีต่อมา Gmail อีกบริการหนึ่งของ Google ก็เพิ่มภาษาพม่าเข้าไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ในพม่าที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี (35-40 ล้านคนในปี 2018) เท่ากับว่าประชากรพม่าถึง 80 เปอร์เซ็นต์ สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

ก่อนพม่าจะเปิดประเทศในปี 2012 การใช้อินเตอร์เน็ตในพม่าเข้าขั้น “จำกัดจำเขี่ย” และยุ่งยากมาก ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อครั้งเข้าไปทำวิจัยในพม่าเมื่อปี 2008 ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือยังมีน้อย เพราะซิมโทรศัพท์ที่รัฐบาลผูกขาดนั้นมีราคาแพงนับแสนบาท และความเร็วอินเตอร์เน็ตในอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วไปในเมืองก็เชื่องช้าเอามากๆ การที่ปิดประเทศมายาวนานตั้งแต่ปี 1962 ทำให้เทคโนโลยีในพม่าล้าหลังกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก และจำกัดอยู่แต่กับคนรวยหรือคนที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล-กองทัพเท่านั้น ด้วยความที่เป็นสังคมปิดนี้
ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในพม่าจึงต้องพัฒนาระบบหลายอย่างของตนขึ้นมา โดยเฉพาะฟอนต์ (font) หรือชุดแบบอักษรสำหรับการพิมพ์ การออกแบบตัวอักษร (typeface) และการออกแบบเลย์เอาต์บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้ตั้งบนพื้นฐานของมาตรฐานสากลที่แพร่หลายทั่วโลก หรือระบบ “ยูนิโค้ด” (Unicode)

ระบบฟอนต์ในคอมพิวเตอร์ในพม่าเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 2004 โดยบริษัท Alpha Mandalay หนึ่งในผู้บุกเบิกด้านไอทีในพม่า ที่ได้คิดค้นระบบฟอนต์และคีย์บอร์ดในนาม “ซอจี” (Zawgyi) ขึ้น อนึ่ง คำว่า “ซอจี” เป็นชื่อที่มีมนต์ขลังยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นชื่อแม่น้ำ ชื่อกวีพม่าที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งแล้ว ยังเป็นชื่อของนักเล่นแร่แปรธาตุในตำนานและคติชนพื้นเมืองของพม่า ผู้ประดิษฐ์ฟอนต์ซอจีน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากซอจีในเทพนิยายนี้เอง

เนื่องจากซอจีเป็นระบบฟอนต์แรกที่ถูกนำมาใช้งาน ซอจีจึงเป็นฟอนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เว็บไซต์ส่วนใหญ่เลือกใช้ฟอนต์ซอจี ว่ากันว่าผู้ใช้งานซอจีมีปริมาณมากถึงร้อยละ 90 ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งประเทศเลยทีเดียว ในขณะที่ทั่วโลกใช้ฟอนต์ยูนิโค้ด ที่พัฒนาโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ยูนิโค้ดคอนซอร์เทียม (Unicode Consortium) ที่สหรัฐอเมริกา ข้อจำกัดของฟอนต์ทั้งสองประเภทคือใช้ร่วมกันไม่ได้ (หรืออาจได้แต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ) ดังนั้นคนพม่าจึงต้องมีฟอนต์ทั้งซอจีและยูนิโค้ดติดตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนของตนเอง

Advertisement

เมื่อสังคมพม่าเริ่มเปิด และบริษัทต่างชาติตบเท้าเข้าไปลงทุนในพม่ามากเป็นประวัติการณ์ ยูนิโค้ดเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ผู้ใช้อุปกรณ์ไอที แต่ก็ยังต้องขับเคี่ยวกับซอจี ที่เป็น “เจ้าตลาด” ตัวจริงเสียงจริงมานาน ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีทั่วโลกอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่าเหตุใดชาวพม่าจึงยังเลือกใช้ฟอนต์ซอจี ด้วยข้อจำกัดหลายประการของฟอนต์ซอจี ทำให้ผู้ใช้บางคนต้องผลิตฟอนต์ของตนเอง จอห์น โอเคล (Joan Okell) ปรมาจารย์ด้านภาษาพม่า ก็เป็นหนึ่งในผู้ประดิษฐ์ฟอนต์ภาษาพม่าชุดหนึ่ง ใช้ชื่อว่า Avalaser แต่ใช้ได้สำหรับคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเท่านั้น (โอเคลในวัย 85 ปีใช้คอมพิวเตอร์แมคอินทอชมาทั้งชีวิต ตั้งแต่บริษัทแอปเปิลออกแมคอินทอชเครื่องแรกในปี 1984) และยังมีฟอนต์สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ในยุคแรกๆ นามว่า
“มยะเซดี” (Myazedi) ที่ประดิษฐ์โดย โก หง่วย ทุน (Ko Ngwe Tun) ที่จะเป็นพื้นฐานให้กับซอจีในเวลาต่อมา

การอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจว่าฟอนต์ซอจีและฟอนต์ยูนิโค้ดมีระบบการพิมพ์ที่แตกต่างกันอย่างไรคงเกินสติปัญญาของผู้เขียน แต่หากจะพูดสั้นๆ คือระบบการเขียนภาษาพม่ามีความซับซ้อนกว่าภาษาไทย เพราะมีสระและพยัญชนะผสม (consonant clusters) และเครื่องหมายแสดงการออกเสียงบนหรือล่างตัวอักษร (diacritics) อยู่มาก คีย์บอร์ดภาษาพม่าจึงเต็มไปด้วยตัวเปลี่ยนเสียง (marker) ยุ่บยั่บไปหมด ดังนั้นเมื่อชาวพม่าที่คุ้นเคยกับการพิมพ์ระบบของซอจีแล้ว การเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่จึงเป็นประเด็นใหญ่เรื่อยมา

ในปัจจุบัน บริษัทไอทีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล แอปเปิล และเฟซบุ๊ก หันมาใช้ยูนิโค้ดในการแสดงผลหมดแล้ว ยูนิโค้ดยังสนับสนุนตัวอักษรของภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ฉาน มอญ กะยาห์ และกะเหรี่ยงอีกด้วย แต่สำหรับเว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่เป็นของคนพม่า แน่นอนพวกเขายังเลือกใช้ซอจี บางสำนักเลือกใช้ทั้งซอจีและยูนิโค้ด แต่ก็มีเป็นจำนวนน้อย แม้แต่บริษัทผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ ทั้งหัวเว่ยและซัมซุงเอง เมื่อเข้าไปทำตลาดในพม่าก็ยังต้องติดตั้งฟอนต์ซอจีมาให้ส่วนเป็นฟอนต์มาตรฐาน ส่วนผู้ที่อยากดาวน์โหลดยูนิโค้ดก็ต้องดาวน์โหลดเองในภายหลัง

Advertisement

เมื่อซอจีมีข้อจำกัดและไม่ได้เป็นระบบสากล เหตุใดคนพม่าส่วนใหญ่ยังเลือกใช้ซอจีกันอยู่? ก็ต้องตอบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเคยชิน และความไม่คุ้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่พวกเขาคิดว่าจะเข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิต ในความเห็นของผู้เขียน สองปัจจัยนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พม่าพัฒนาได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ด้านเว็บไซต์ขนาดใหญ่ทั่วไป แม้อยากเปลี่ยนไปใช้ยูนิโค้ดใจจะขาด แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่…จนกระทั่งรัฐบาลพม่าต้องลงมาแทรกแซงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านไอทีของพม่าได้ออกประกาศมาว่าระบบยูนิโค้ดจะเป็นระบบเอ็นโค้ดดิ้งหลัก (default encoding system) แทนระบบซอจีที่ใช้มานาน 13 ปี หน่วยงานของภาครัฐก็ปรับตัวและ “อพยพ” สู่อ้อมอกของยูนิโค้ดมาตั้งแต่เดือนเมษายน และเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงสารสนเทศพม่าออกอีเมล์ไปยังเว็บไซต์ข่าวทั่วประเทศให้ใช้ยูนิโค้ดแทนซอจี

สำนักข่าว Frontier ของพม่ารายงานว่าในอีเมล์ของกระทรวงสารสนเทศนั้นแท้จริงแล้วก็ส่งมาโดยใช้ฟอนต์ของซอจี!

การเปลี่ยนไปใช้ยูนิโค้ดนี้เป็นประเด็นใหญ่ในสังคมพม่า ขนาดที่กระทรวงสารสนเทศขอความร่วมมือให้ดาราและบรรดาเน็ตไอดอลทั้งหลายช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาใช้ยูนิโค้ด ประเด็นนี้เปรียบประหนึ่งการเปิดประตูพม่าต่อโลกและโลกไอทีอีกครั้งหนึ่ง เหมือนการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งยังไงยังงั้น การลดบทบาทของซอจี ระบบฟอนต์ที่อยู่กับสังคมพม่ามายาวนาน และเติบโตในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง-สังคมที่สำคัญที่สุดในช่วง 2006-2012 จึงมีผลกระทบกับจิตใจของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วพม่า

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ต้องกลับมาทบทวนคือเมื่อพม่าหันมาใช้ยูนิโค้ดอย่างเป็นทางการแล้ว แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะยอมออกจาก “คอมฟอร์ตโซน” ของตนเพื่อฝึกใช้ยูนิโค้ด แต่จะเกิดอะไรขึ้นกับฐานข้อมูลเก่าๆ จำนวนมหาศาลที่ล้วนเขียนด้วยระบบซอจี? ทางเลือกในตอนนี้คือบริษัทไอทีที่กล่าวมาต้องจัดการแปลงซอจีในฐานข้อมูลเดิมให้เป็นยูนิโค้ดทั้งหมด หรือต้องอนุโลมให้ผู้ใช้อ่านจากฐานข้อมูลเก่าๆ ด้วยซอจีได้

ดีเบตว่าด้วยซอจีและยูนิโค้ดยังคงมีอยู่ต่อไป เป็นประเด็นของเก่าไปใหม่มา และการทำลายความเคยชินเดิมๆ เพื่อปรับจูนโลกไอทีของพม่าให้เข้าได้กับทั่วทั้งโลก แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด และสำหรับสังคมที่ผู้คนนับถือลัทธิ “คอมฟอร์ตโซน” เป็นที่ตั้ง การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างแน่นอน

หากผู้อ่านสนใจเรื่องฟอนต์พม่า เฉพาะบนคอมพิวเตอร์ ดูคู่มือที่จอห์น โอเคล ปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี 2017 ได้ที่ http://www.bamalearnburmese.com/img/resource/Burmese_fonts_guide_JO_2017.pdf

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image