จิตวิวัฒน์ : มันมาเพื่อให้เราเรียนรู้ : โดย พระไพศาล วิสาโล

ร่างกายคนเราถ้าไม่เคยเจอเชื้อโรคเลย หากเจอครั้งแรกก็อาจจะตายได้ อย่างเช่นสมัยก่อนใครที่ไม่เคยเจอไข้ทรพิษ ไม่เคยเจอไข้ฝีดาษ ไข้รากสาด พอเจอก็ตายเลย แต่ทำไมบางคนไม่ตาย ก็เพราะว่าเขาเคยเจอมาก่อน คนสมัยก่อนถ้าเจอโรคฝีดาษ ไข้รากสาด หรือไข้ทรพิษแล้วไม่ตาย ต่อไปถ้าเจออีกก็ไม่ตาย เพราะอะไร เพราะว่าภูมิคุ้มกันร่างกายของเราจำเชื้อเหล่านี้ได้ มันเคยเจอมาแล้ว จึงเข้าไปจัดการกับเชื้อเหล่านั้น แต่ตอนที่ยังไม่เจอ ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่รู้ว่าเชื้อโรคเหล่านี้เป็นอันตราย จึงพลาดท่าเสียที ปล่อยให้มันเข้ามาเล่นงานร่างกาย จนหลายคนถึงกับตาย แต่บางคนก็รอดตาย

ครั้นรอดตาย ร่างกายก็มีประสบการณ์ ได้บทเรียน รู้แล้วว่าเชื้อพวกนี้เป็นอันตราย เพราะฉะนั้น พอมันเข้ามาในร่างกายอีก ภูมิคุ้มกันก็จะกินเชื้อเหล่านี้ ทำลายเชื้อเหล่านี้จนหมดสิ้น

เด็กที่อยู่กับดินกับทราย อาบน้ำคลอง หรืออาบน้ำธรรมชาติ พวกนี้จะป่วยยาก ทีแรกอาจจะป่วยเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่าได้รับเชื้อเข้าไป แต่หลังจากนั้นแล้วเขาจะมีภูมิคุ้มกัน จะป่วยยากมาก ไม่เหมือนคนกรุงที่สมัยนี้ป่วยด้วยโรคนั้นโรคนี้ เช่น โรคมือเท้าปาก เดี๋ยวนี้เป็นกันเยอะ โรคภูมิแพ้ หอบหืด ก็เป็นกันมาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าตั้งแต่เล็กๆ เขาไม่ค่อยสัมผัสกับเชื้อโรค เนื่องจากพ่อแม่ดูแลแบบประคบประหงมมาก ดินไม่ให้แตะ ทรายไม่ให้สัมผัส จะเล่นกับโคลนก็ไม่ยอมให้เล่น แถมมีน้ำยา สบู่ ครีม ไว้ทาฆ่าเชื้อ พอไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโรค ร่างกายก็เลยไม่รู้ว่าเชื้อตัวไหนที่ไว้ใจได้ เชื้อตัวไหนไว้ใจไม่ได้ จึงพลาดท่าให้กับเชื้อโรคที่อันตราย

การได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความฉลาด เวลาที่สัตว์เจอคน มันไม่เพียงรู้ว่าคนน่ากลัว มันยังรู้นิสัยใจคอของคน รวมทั้งรู้ทันพฤติกรรมของเราด้วย เช่น ลิงทันทีที่เห็นเราหยิบหนังสติ๊กขึ้นมา มันก็หนีแล้ว ทั้งที่หนังสติ๊กไม่มีหินหรือกระสุนเลย แต่ว่าประสบการณ์สอนมันว่าหนังสติ๊กสามารถทำร้ายมันได้ มันเคยเจอคนเอาหนังสติ๊กยิงมัน

Advertisement

ฉะนั้น ต่อไปพอแค่เห็นคนจับหนังสติ๊กมันก็หนีแล้ว มันรู้เพราะอะไร เพราะมันเจอบ่อยๆ

การเจอบ่อยๆ ทำให้เกิดประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้ และทำให้ฉลาด แต่ก็แปลก จิตใจของเรา เจอความโกรธ เจอความเศร้า เจอความคับแค้น เจอความเครียด เจอความเบื่อนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ค่อยได้เรียนรู้เลย กลับพลาดท่าเสียทีให้กับอารมณ์เหล่านี้ง่ายขึ้น คนที่หงุดหงิดง่าย หรือหงุดหงิดบ่อยๆ ตั้งแต่เล็ก พออายุมากจะยิ่งหงุดหงิดง่ายขึ้น คนที่โกรธ เจ้าอารมณ์มาตลอด พอแก่ตัวก็ยิ่งโกรธง่าย ยิ่งอารมณ์เสียง่าย ยิ่งตกเป็นเหยื่อของความโกรธ ความหงุดหงิดได้ง่าย เป็นเพราะอะไร มันเป็นเรื่องที่แปลก

ถ้าลองมาคิดดู ทำไมจิตใจเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา หรือเรียนรู้จากการเจอะเจอกับอารมณ์เหล่านี้อยู่บ่อยๆ กลับถูกมันหลอก ถูกมันครอบงำง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรียนสูงแค่ไหน ก็โดนอารมณ์เหล่านี้หลอก ครอบงำได้ง่าย ถ้าปล่อยให้มันครองจิตครองใจบ่อยๆ

Advertisement

คนเราเวลามีใครมาหลอก ก็จะถูกหลอกได้อย่างมากแค่ครั้งสองครั้ง เช่น ทีแรกเขามาขอยืมเงิน อ้างว่าลูกไม่สบาย เราก็ให้ยืมเงินไปเพราะสงสาร ไม่กี่วันต่อมาเขาก็มาขอยืมอีก คราวนี้บอกว่าพ่อป่วย เราก็ให้ยืมเงินอีก อาทิตย์ต่อมาเขาก็มาหาอีก บอกว่าเมียประสบอุบัติเหตุ ขอยืมเงินหน่อย คราวนี้เราเริ่มไม่เชื่อแล้ว เพราะว่าเราจับทางได้ เราเริ่มผิดสังเกตกับพฤติกรรมของคนคนนี้ พอเราเจอแบบนี้มา 2-3 ครั้งเราก็รู้แล้วว่าคนคนนี้นิสัยอย่างไร ไม่ยอมให้หลอกอีก เพราะจับทางได้

แต่ทำไมอารมณ์ร้ายๆ ทั้งหลาย เช่น ความโกรธ เกลียด อิจฉา เศร้า คับแค้น หลอกเราได้ทุกครั้งเลย แต่ละครั้งก็สรรหาเหตุผลให้เราเชื่อมัน เช่น เวลาโกรธมันก็จะหาเหตุผลมาหว่านล้อมเราว่าสมควรที่เราจะโกรธคนนี้ เพราะว่าเขาทำไม่ถูกต้อง เขาไม่ยุติธรรม บางทีไม่ใช่แค่สรรหาเหตุผลมาให้เราโกรธ แต่ยังสรรหาเหตุผลมาเพื่อให้เราทำยิ่งกว่านั้น เช่น สั่งให้เราด่ามัน ทำร้ายมัน ทั้งที่การทำอย่างนั้นจะก่อผลเสียกับเรา แต่เราก็หลงเชื่อ เพราะมันให้เหตุผลที่ดูดีว่า เพื่อสั่งสอน เพื่อความถูกต้อง ปล่อยไว้ไม่ได้

ทำไมใจเราเจออารมณ์เหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งชีวิต ก็ยังถูกมันหลอกอยู่นั่นเอง

คนที่อายุ 70-80 ปี คงโดนอารมณ์เหล่านี้หลอกนับหมื่นๆ ครั้งแล้ว น่าคิดว่า มันมาทีไร เราก็ถูกมันหลอกได้ทุกครั้ง อย่างนี้เรียกว่าหลงก็ได้ พอหลงแล้วเราก็ไม่เรียนรู้ เจอมันทีไร เราก็โดนหลอกทุกที แต่ถ้าเปลี่ยนจากหลงมาเป็นเห็น เราจะฉลาดขึ้น อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทีไร เราเห็นมัน เราไม่หลงเชื่อมัน เจอบ่อยๆ เราจะฉลาดขึ้น

ตอนเจอใหม่ๆ เราอาจจะพลาดท่าเสียที โดนมันเล่นงาน โดนมันหลอก จนร้อนรุ่ม กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่เมื่อหลุดออกมาได้ และเห็นมัน เราก็จะจดจำได้ว่าอารมณ์แบบนี้ อาการแบบนี้ ไม่น่าไว้ใจ พอมันโผล่ครั้งหน้า เราจะเริ่มรู้ทาง ไม่ยอมหลงเชื่อมันอีกต่อไป หรือถ้าหลงเชื่อมันก็แค่ประเดี๋ยวเดียว

จิตของเราควรจะเป็นอย่างนี้ คือ หลังจากพลาดท่าเสียทีให้กับอารมณ์อกุศลมาหลายครั้ง จิตเราก็ฉลาดขึ้น รู้ว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นโทษ ในขณะเดียวกัน การที่เจอมันบ่อยๆ จึงรู้ว่าอารมณ์แบบนี้ อาการแบบนี้ไว้ใจไม่ได้ ไม่หลงเชื่อมัน ไม่ควรปล่อยให้มันครอบงำจิตใจอีกต่อไป

ถ้าเราฝึกใจของเราให้หมั่นเห็นอารมณ์เหล่านี้ การเจอะเจออารมณ์เหล่านี้บ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดี มันจะทำให้เราฉลาดมากขึ้น ฉลาดในการรู้ทางและรู้ทันอารมณ์อกุศลเหล่านี้

เรารู้ทางและรู้ทันมัน ไม่หลงเชื่อมัน ก็เพราะจำได้ว่ามันเคยหลอกเรา รวมทั้งจำลักษณะอาการของมันได้ พอเห็นอารมณ์ที่มีลักษณะอาการแบบนี้เข้ามา ก็ไม่หลงเชื่อมันอีกต่อไป

แต่ก่อนนี้จำไม่ได้ พลาดท่าเสียทีมันทุกที ที่จำไม่ได้ก็เพราะไม่เห็นมัน มันมาทีไรก็หลงไปกับมันทุกที เรียกอีกอย่างว่า เข้าไปเป็นกับมัน ถ้าเราไม่ยอมพลาดท่าเสียทีหรือหมดเนื้อหมดตัวไปกับมันตั้งแต่เรายังหนุ่มยังสาว เมื่อเราอายุมาก แก่ตัวลง เราก็จะยังคงมีจิตใจสดใส เบิกบาน อารมณ์ดี ไม่ใช่เป็นคนที่หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ หรือขี้โกรธ

เราต้องเรียนรู้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ขณะที่ยังมีเวลา ฝึกจิตให้เห็น รู้ทันและรู้ทางอารมณ์เหล่านี้ เงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้ทัน หรือรู้ หรือฉลาดในการเกี่ยวข้องกับอารมณ์เหล่านี้ ก็คือการเจอมันบ่อยๆ

เด็กๆ ถ้าเจอเชื้อโรค เจอจุลินทรีย์ เจอแบคทีเรียตั้งแต่เด็กๆ ต่อไปเชื้อโรคเหล่านี้ก็จะทำอะไรร่างกายเด็กไม่ได้ จิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเราหมั่นรู้ทันหรือรู้ทางอารมณ์เหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อแก่ตัวเราก็จะไม่เป็นคนขี้หงุดหงิด ขี้โมโห เป็นคนเจ้าอารมณ์ อย่างที่เราเห็นคนแก่เดี๋ยวนี้จำนวนไม่น้อยเป็นกัน บางคนไม่ทันแก่ก็เป็นคนขี้หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ หัวเสียแล้ว

เราควรหมั่นเห็น และหมั่นเรียนรู้จากอารมณ์เหล่านี้ เริ่มจากวางใจเสียใหม่ ว่าอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นของเลวอย่างเดียว มันมีประโยชน์ที่ช่วยให้เราเรียนรู้ ทีแรกก็รู้ว่ามันมีอาการหรือลักษณะอย่างนี้ ความโกรธเป็นอย่างนี้ ความเกลียดเป็นอย่างนี้ ความฟุ้งซ่านเป็นอย่างนี้ ต่อไปมันจะแสดงสัจธรรมให้เราเห็นลึกไปกว่านั้นด้วย

เราจะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเห็นไตรลักษณ์ได้จากอารมณ์เหล่านี้ มันมาเพื่อสอนเราให้เห็นสัจธรรม เพื่อทำให้เราฉลาดมากขึ้น คนที่เจออะไรต่ออะไรมากมาย แต่ไม่ฉลาดเลย แสดงว่าเขาไม่ได้เรียนรู้ เรียกว่าไม่มีประสบการณ์ก็ได้ แต่ถ้าเรามีประสบการณ์เมื่อไหร่ ประสบการณ์จะสอนให้เราฉลาดและมีปัญญา

พระไพศาล วิสาโล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image