ที่เห็นและเป็นไป : ไปต่อในสภาพการเมืองแบบนี้ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ถ้าตั้งคำถามว่า “ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำพูดใดชี้แนวโน้มการเมืองไทยว่าจะไปทางไหนได้ชัดที่สุด”

คำตอบคงเป็นคำพูดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ว่า

“ทุกปัญหาเขามีกฎหมายไว้ เพื่อไม่ให้เกิด ไม่ให้ทำ ถ้าไม่เคารพกฎหมายก็เลิกหมด ทุกประเทศที่เขาเจริญๆ วันนี้เขาเคารพกฎหมายทุกตัว ของประเทศเรา มีแต่ชวนกันเลิกกฎหมาย หรือชวนกันแก้ให้มากที่สุด ไม่รู้มันย้อนทางกันอย่างไร”

เพียงแต่ว่า การจะเห็นคำพูดนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดในการชี้แนวโน้มทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องมองคำตอบนี้ในขณะที่จิตพ้นจากมายาคติอันเกิดจากความชอบความชังส่วนตัว

Advertisement

เป็นขณะที่จิตพร้อมจะเปิดทางให้พิจารณาความด้วยปัญญาแท้

หากวางจิตให้พร้อมเช่นนั้นแล้ว ลองทบทวนดู

ก่อนหน้าที่จะปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

“พล.อ.ประยุทธ์” ถูกฝ่ายค้านอภิปรายเรื่อง “ไม่ทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดบังคับให้ต้องทำ”

รัฐธรรมนูญย่อมถือเป็น “กฎหมายสูงสุดของประเทศ”

ฝ่ายค้านหยิบยกการนำกล่าวในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเข้ารับหน้าที่คณะรัฐมนตรี โดยตัดคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ออกไป

อันเป็นประเด็นถูกกล่าวหาว่า “ไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ” ซึ่งต้องถือว่าทำผิดกฎหมาย

แล้วในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์เดินออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นชัดว่าตั้งใจที่จะไม่ชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งข้อกล่าวหา

ย้ำอีกครั้งว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ”

ในช่วงนั้นมีคนจำนวนมากเป็นห่วงว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำเช่นนั้น ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ผู้นำประเทศ เพราะต่อไป การเรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายย่อมเป็นเรื่องที่เสมือนน้ำท่วมปาก พูดอย่างคล่องๆ ไม่ได้อีก เพราะขนาดถูกกล่าวหาว่าไม่ทำตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ยังละเลยที่จะชี้แจงให้เข้าใจว่ามีความคิดในเรื่องความเหมาะความควรอย่างไร

แต่แล้วคำพูดดังกล่าวข้างต้น กลับกลายเป็นความกังวลของหลายคนที่มองปัญหาด้วยมโนธรรม กลับเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวกับวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์เลย

พล.อ.ประยุทธ์ยังพูดเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญของการอยู่ร่วมกันในประเทศได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด

ยิ่งการกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่บางคำพูดถึงการ “แก้” อันทำให้โยงไปถึงความเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ ในความหมายว่า “การขอแก้ไขเป็นการปฏิเสธที่จะต้องทำตามกฎหมาย”

เหมือนไม่เข้าใจว่า “การทำตามกฎหมาย” กับ “การขอแก้กฎหมาย” เป็นคนละเรื่องกัน

ไม่เข้าใจสิ่งที่ทุกคนทำคือ “ยังทำตามกฎหมายอย่างให้ความเคารพ แม้จะเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม โดยเลือกที่จะเสนอแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั้นให้เป็นธรรมขึ้น แทนที่จะเลือกละเมิดกฎหมาย”

คำกล่าวที่เหมือนไม่เข้าใจตรรกะเช่นนี้

ขณะที่ “ไม่มีคำตอบให้กับข้อกล่าวหาตน”

การเลือกที่จะตีความกฎหมาย ที่จะใช้กฎหมาย และมองการละเมิดกฎหมาย อันเป็นกติกาการอยู่ร่วมกันของประเทศ โดยไม่สนใจว่าเพื่อนร่วมสังคมคนอื่นจะมองเห็นอย่างไร มีความเป็นห่วงอย่างไร ของผู้นำที่มีอำนาจเต็ม

ย่อมเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่าแนวโน้มการเมืองจะดำเนินไปเคลื่อนไปในทิศทางไหน

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image