เรือแป๊ะตอบโต้ แจ้งฟัน 7 พรรค เบรกเกม ‘รื้อ รธน.’

สัญญาณการเมืองตึงเครียด

เรือแป๊ะอายุเพียง 3 เดือน ปะทะประเด็นการเมืองหนักๆ ทั้งในและนอกสภา เกิดอาการระส่ำระสาย

ที่หนักกว่าก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เสียงสะท้อนจากแวดวงธุรกิจดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แกนนำรัฐบาลเครียด เร่งอัดมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ล่าสุด เรือแป๊ะออกอาวุธตอบโต้ โดย พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4

Advertisement

แจ้งความ ตร.ปัตตานี ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลทั้ง 12 คน ผู้อภิปรายในงานเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่ลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีเมื่อ 28 ก.ย.

ฝ่ายทหารระบุว่า เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าไปในเวทีเสวนา พบว่า บุคคล 12 คน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยมีประชาชนร่วมรับฟังประมาณ 150 คน ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กพรรคประชาชาติ และเผยแพร่เนื้อหาของเวทีเสวนาดังกล่าวลงในช่องยูทูบเพื่อให้กับประชาชนทั่วไปรับชมรับฟัง

“ทั้ง 12 คน ได้พูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” พล.ต.บุรินทร์ระบุในคำร้องทุกข์

ขอให้ตำรวจดำเนินคดีทั้ง 12 คน ให้ได้รับโทษตามกฎหมายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

“ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชนฯ”

ผู้ต้องหา 12 คน คือ หัวแถวของ 7 พรรค ตั้งแต่ 1.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ 2.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 3.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา หัวหน้าพรรคประชาชาติ 4.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ

5.นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย 6.นายมุข สุไลมาน กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ 7.พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

8.นายสมพงษ์ สระกวี อดีต ส.ว. ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย 9.นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

10.น.ส.อสมา มังกรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ 11.นายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

และ 12.นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

เนื้อหาการเสวนาของฝ่ายค้าน มุ่งไปที่อธิบายความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวิพากษ์วิจารณ์การเมืองภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การปราศรัยในพื้นที่ 3 จังหวัด ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดของประชาชนในพื้นที่ เพราะในการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ล้วนแต่ไม่รับรัฐธรรมนูญ

และยังมีคำอภิปรายของ นางชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ กล่าวว่า โยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ากับการแก้ไขปัญหาไฟใต้

โดยระบุว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้

จึงหวังว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะมีพื้นที่ที่สามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ คำอภิปรายของอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ไปแตะถึงมาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญ

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1 ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”

ขณะที่แกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน เรียกประชุมในวันที่ 4 ต.ค.ก่อนแถลงตอบโต้ว่า กอ.รมน. ซึ่งดำเนินการเรื่องนี้ มีนายกฯเป็นผู้บังคับบัญชา

เท่ากับว่านายกฯเป็นผู้สั่งการให้มีการดำเนินคดี

การแสดงความเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย การฟ้องร้องเช่นนี้ คือการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย

โดยรวม 7 พรรคประกาศต่อสู้ตามกฎหมาย พร้อมกับยืนยันว่า ฝ่ายค้านย้ำและยืนยันมาตลอดว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2

และวันที่ 6 ต.ค.จะดำเนินการแจ้งความกลับด้วย

ในทางการเมือง ก็คือความพยายามเบรกการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายค้านเดินสายอย่างต่อเนื่อง จนอาจกล่าวได้ว่า กระแสในเรื่องนี้ “จุดติด”

และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกมากล่าวในทำนองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันก่อน ก็ถูกโจมตีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว

นายกรัฐมนตรีจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลตนเองได้อย่างไร

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 จะเข้าสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 17 ต.ค.นี้

จำนวนเสียงที่ปริ่มน้ำ ช่องห่างแคบๆ ระหว่างเสียงรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ทำให้แกนนำรัฐบาลต้องคิดหนัก

จนนายกฯออกมากล่าวระหว่างพบปะกับตัวแทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า หวังว่าคงผ่าน ถ้าไม่ผ่านคนเดือดร้อนกันทั้งประเทศ

แถมด้วยการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 5 นครปฐม ก็กำลังร้อนแรง เพราะฝ่ายค้านประกาศว่าจะเป็นจุดเริ่มของโดมิโนล้มรัฐบาล

วันที่ 23 ต.ค.จะมีการลงคะแนนเลือกตั้ง แพ้หรือชนะ มีผลทางการเมืองติดตามมาทั้งสิ้น

การใช้กฎหมายและกลไกราชการ เพื่อสกัดความเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจได้ผลเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้

แต่รอบนี้ สถานการณ์แตกต่างจากเดิมมาก

จะได้ผลอย่างเดิมหรือไม จะตอบโจทย์ที่รัฐบาลต้องการหรือไม่ ยังน่าสงสัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image