จากเก้าอี้สู่ประตูในปีที่ 43 : 6 ตุลา ในฐานะอดีตที่มีชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

จากเก้าอี้สู่ประตูในปีที่ 43 : 6 ตุลา ในฐานะอดีตที่มีชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ [email protected]

ในฐานะคนหลังรุ่นเดือนตุลาฯรุ่นแรกๆ (คือเกิดทันแต่เด็กเกินจะไปร่วมอะไรกับเขา) ความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์เดือนตุลาฯ โดยเฉพาะ 6 ตุลาคม 2519 เป็นความทรงจำที่หลากหลายมิติและเรื่องราว เสมือนกับเหตุการณ์นั้นยังมีชีวิตของมันเองต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ผมผ่านการมีชีวิตที่ไม่มีเหตุการณ์นี้อยู่ในความทรงจำเลยในตอนเด็ก เพราะไม่เคยมีการพูดเรื่องนี้ในระบบการศึกษา

มาสู่ยุคของการแสวงหาคำตอบนี้เองนอกกระบวนการศึกษาในโรงเรียน ผ่านการรับรู้ด้วยสมุดภาพบันทึกเหตุการณ์ที่ไม่มีในห้องสมุดโรงเรียน ผ่านงานนิทรรศการที่ธรรมศาสตร์ ผ่านเรื่องเล่าของคนที่ผ่านเหตุการณ์ และผ่านพ็อคเก็ตบุ๊กการบันทึกเรื่องราว

Advertisement

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคที่การพยายามบันทึกเหตุการณ์และหลักฐานอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการรำลึกเหตุการณ์ด้วยคำอธิบายทางวิชาการและแนวคิดใหม่ๆ อีกมากมาย ไล่เรียงมาจนถึงได้เห็นภาพของเหตุการณ์ปรากฏในสื่ออื่นๆ นอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์และกระจายในวงกว้างผ่านสื่อโซเชียล โดยเฉพาะในยุคที่นายกรัฐมนตรีแนะนำให้ประชาชนและผู้บริหารหาความรู้ผ่านกูเกิล

ก็แค่อยากจะบอกว่า “ลองเข้ากูเกิล” ดูสิครับว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้นถูกบันทึกเอาไว้อย่างไร และแพร่กระจายออกไปจนถึงขั้นที่ผมคิดว่ามันมีชีวิตในตัวเองไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยมุมมองและเรื่องราวจากฝ่ายไหนก็แล้วแต่

ผมเห็นความเป็นจริงในข้อนี้ก็เลยนึกถึงนักวิชาการ/กิจกรรมท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการบันทึกเรื่องราว 6 ตุลาฯ มาอย่างยาวนาน รวมทั้งบรรดาคนรู้จักที่ผมเคารพรักหลายท่านที่มุ่งมั่นบันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์ในวันนั้นยังปรารภผ่านสื่อบ่อยๆ ว่าโครงการพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ ที่ได้ผลักดันและเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างน่าชื่นชมนั้นจะสำเร็จไหม หรือต่อให้สำเร็จจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน ผมก็คิดว่าความมุ่งมั่นที่จะบันทึกเรื่องราวนี้เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ปัจจุบันมันเป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังเริ่มที่จะเป็นเจ้าของและเล่าเรื่องหรือส่งต่อเรื่องราวเหล่านั้นเป็นของตัวเองจนทำให้เรื่องราวของ 6 ตุลาฯ มันได้กลายไปอยู่ในจักรวาลของข้อมูลข่าวสารไปแล้ว

อยากจะแซวด้วยมิตรภาพว่า โครงการพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ อาจจะต้องมีสองเวอร์ชั่นคือ โครงการที่ทำจริงๆ ในทางกายภาพ ไม่ว่าจะถาวร หรือหมุนเวียน และอาจจะต้องบันทึกลงไปในโลกเสมือนคืออินเตอร์เน็ตเหมือนที่ริเริ่มมานาน และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก

แต่อีกเวอร์ชั่นหนึ่งก็ควรจะใส่รหัสเอาไว้ในบล็อกเชนด้วย คือให้มันไม่สามารถลบเลือนไปจากความทรงจำของโลกใหม่ได้ด้วย และไม่ว่าใครก็ลบสิ่งนี้ออกไปจากจักรวาลไม่ได้ รวมทั้งรัฐไทยด้วย

อย่างไรก็ดี การรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในปีที่ 43 นี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะศูนย์กลางความทรงจำใหม่ของเรื่องเล่าเหมือนจะเคลื่อนไปอยู่ที่ประตูเหล็กที่ย้ายมาจากนครปฐม ที่ถูกให้ความหมายว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง และวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีการแขวนคอศพที่เป็นช่างไฟสองรายชาวอีสาน ที่ไปปิดโปสเตอร์ประท้วงการกลับเข้าประเทศของพระถนอม (จริงๆ น่าจะเป็นเณร) หลังจากที่ถูกกดดันให้ออกจากประเทศด้วยการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

การเสียชีวิตของช่างไฟฟ้าสองคนในเหตุการณ์นั้นนำไปสู่การแสดงละครเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และนำไปสู่ยุทธการการปลุกระดมทางการเมือง จนในที่สุดเกิดการล้อมปราบนักศึกษาในเหตุการณ์วันนั้น

ในมุมมองของผมในปีนี้ความสำคัญของการรำลึก 6 ตุลาฯ ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการเพิ่มวัตถุทางประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำ เช่น โทรโข่ง กางเกงยีนส์ และประตู เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่อาจไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องตามจุดมุ่งหมายของทีมงานบันทึกประวัติศาสตร์ แต่การเปลี่ยนจุดเล่าเรื่องหลักจากเก้าอี้และการแขวนคอที่สนามหลวงนั้นน่าสนใจยิ่ง (และในช่วงสองสามปีนี้การค้นพบของอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ก็ได้พบแล้วว่าคนที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวงนั้นไม่ได้มีคนเดียวอย่างที่เคยเข้าใจกัน) เพราะทำให้เราได้เห็นประเด็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจในการเพิ่มความทรงจำและให้ความหมายใหม่ๆ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพิ่มเติมจากเดิม โดยจุดเน้นอาจจะไปอยู่ที่การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าตัวความรุนแรงในวงกว้างที่เกิดใน “ทุ่งแห่งการล้อมปราบและลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” หรือสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่ใช่ว่าเรื่องเก้าอี้ (และศพที่ถูกตี) นั้นจะหมดไป แต่เก้าอี้และศพที่ถูกแขวนและถูกตีได้รับสถานะใหม่ทางประวัติศาสตร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกผลิตซ้ำโดยคนรุ่นหลังในหลายรูปแบบมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ภาพการจัดการความกวนประสาทช่างถามของเจ้าโตโดยมานี ในเพจมานีมีแชร์ การเป็นสัญลักษณ์ของการจัดงานเดือนตุลาฯมองไปสู่อนาคตของนิสิตคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ที่ริเริ่มโดยเนติวิทย์และเพื่อน ซึ่งสร้างมิติใหม่ในการมองไปข้างหน้าเพิ่มจากการรำลึกอดีต และเชื่อมโยงงาน 6 ตุลาฯ กับขบวนการร่มที่ฮ่องกงโดยการเชิญโจชัว หว่อง มาพูดแต่ถูกกักที่สนามบิน

ที่สำคัญ เมื่อประมาณ 22 ตุลาคม 2561 มิวสิกวิดีโอเพลง “ประเทศกูมี” ของวง Rap against Dictatorship ถููกปล่อยออกมาในยูทูบและมียอดชมจนถึงสัปดาห์นี้ประมาณ 72 ล้านครั้ง ซึ่งหากจะลองพิจารณาดูด้วยตัวเลขคร่าวๆ ตัวเลขยอดชมมีเกินจำนวนประชากรของประเทศ และจำนวนคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตก็มีประมาณ 57 ล้านคน หรือเข้าถึงเกินร้อยละแปดสิบ โดยความสำคัญของเพลงดังกล่าวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อหาเพลง แต่อยู่ที่มิวสิกวิดีโอของเพลงที่จำลอง (หรือผลิตซ้ำ) เหตุการณ์บรรยากาศในสนามหลวงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เอาไว้ด้วย ทั้งบรรดาไทยมุง ทั้งเหตุการณ์เก้าอี้ฟาดศพ

การอธิบายความรุนแรงเหตุการณ์ของเก้าอี้ฟาดศพนั้นได้ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์นี้ในฉากของภาพรางวัลพูลิตเซอร์ (ไม่นับภาพเด็กที่ยิ้มในเหตุการณ์) ได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง ทำให้เหตุการณ์ในวันนั้นสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพูดถึงสิ่งที่เกิดในวันนี้ และสิ่งที่ย้ำเตือนเราเมื่อมองไปสู่อนาคต แต่อีกทางหนึ่งอีกหลายอย่างที่เริ่มถูกบันทึกใหม่อย่างประตูที่มีการแขวนคอ และอีกหลายเหตุการณ์ก็ยังอยู่ในขั้นของการค้นพบ เก็บรักษา และให้ความหมายที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อยู่

คำถามก็คือ นอกเหนือจากการเก็บบันทึกเรื่องราวที่ยังหล่นหาย เราอาจจะเห็นคนอีกมากมายที่อาจจะเริ่มทำหน้าที่ให้ความหมายใหม่ๆ หรือทำให้ประวัติศาสตร์บาดแผลดังกล่าวนั้นมีชีวิตใหม่ๆ ของมันเอง โดยไม่ต้องยึดติดกับตัวเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างแนบแน่น แต่โลดแล่น (และหลอกหลอน) ในโลกร่วมสมัยอย่างแหลมคม และอาจทำให้เราเห็นว่าการกระทำของรัฐที่มีต่อคนตัวเล็กตัวน้อยนอกเหนือจากนักศึกษายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ การค้นพบศพของผู้นำชุมชนชาติพันธุ์ที่ต่อสู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมก็ยังตอกย้ำเรื่องของความรุนแรงและการกระทำตามอำเภอใจของรัฐ ซึ่งสำหรับผมการที่รัฐทำแบบนี้ได้อาจไม่ใช่แค่เพราะว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้เท่านั้น เพราะนั่นเป็นคำถามทางสังคมวิทยาพื้นฐาน แต่ถ้าในฐานะนักรัฐศาสตร์สิ่งที่ต้องถามต่อก็คือ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่มันถูกประกอบสร้างและสืบสานมาได้ด้วยการจัดวางสถาบัน (institutional arrangement) ที่สลับซับซ้อน เช่น กรอบกฎหมาย และอำนาจในการออกกฎหมาย และการประกอบสร้างวาทกรรม

รวมถึงการมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้และพร้อมให้การสนับสนุนระบบนี้ ซึ่งการวิเคราะห์พลวัตของโครงสร้างนี้ทำให้เราเห็นปฏิสัมพันธ์ของวัฒนธรรม ชนชั้น และการจัดวางสถาบันที่ทำให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้ ณ ห้วงขณะของเวลาดังกล่าว

ที่กล่าวมานี้ก็ต้องการชี้ให้เห็นว่า ประตูเหล็กอาจจะต้องรอวันที่จะเริ่มมีชีวิตของตนเองในวันต่อๆ ไป พ้นจากการค้นพบอดีตและย้อนไปสู่อดีตแต่เพียงเท่านั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะมีส่วนสำคัญในการคำนึงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นพิเศษในปีนี้ก็คือ การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ “คนรุ่นใหม่” ในช่วงปลายของระบอบ คสช.เต็มรูป จนถึงชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ ก็เลยทำให้เกิดความพยายามเปรียบเทียบและเชื่อมโยงสถานการณ์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เข้ากับบรรยากาศและสถานการณ์ทางการเมืองในปีนี้เป็นพิเศษ แต่ผมกลับคิดว่าเรื่องนี้อาจจะยังไกลตัวจากคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ถ้าจะพูดถึงความพยายามค้นหาความจริงแท้ของเหตุการณ์ในอดีตในแง่ลำดับเวลา และภาพรวมของเหตุการณ์อย่างเป็นระบบ เหมือนที่คนสมัยผมพยายามค้นหารายละเอียดของเหตุการณ์เป็นลำดับเวลา หรือค้นหาว่าใครอยู่เบื้องหลัง หรือแม้กระทั่งพยายามหานัยยะ ความหมาย และความคิดรวบยอดของเหตุการณ์เหล่านั้นว่ามันคือเหตุการณ์อะไร

ขณะที่คนรุ่นใหม่อาจรู้สึกเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในอดีตผ่านวัตถุ หรือห้วงขณะบางขณะของเหตุการณ์ที่มันกระแทกกระเทือนไปสู่จิตใจและความรู้สึกของพวกเขา และด้วยการรับรู้ข้อมูลที่เปิดกว้างและหลากหลายมากขึ้นนั้น พวกเขาย่อมพอจะประกอบสร้างเหตุการณ์ในสมัยนั้นขึ้นมาได้เองในวันนี้และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อก้าวสู่อนาคตของพวกเขา

สำหรับผมแล้ว สิ่งที่เขารับรู้ (ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความมุ่งมั่นของทีมนักประวัติศาสตร์และอีกหลายฝ่ายที่จะค้นหาและเชื่อมร้อยส่วนที่ยังขาดหายไปในประวัติศาสตร์บาดแผลในครั้งนั้น) น่าจะเพียงพอในระดับที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถก้าวเดินต่อไป และร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่โดยการเชื่อมโยงเรื่องราวกลับสู่อดีตในมุมมองของเขาเองมากขึ้นเรื่อยๆ

ในประการสุดท้ายสำหรับข้อสังเกตในปีนี้ ผมกลับรู้สึกว่าสิ่งที่ยังขาดหายไปในวันนี้อาจจะมีมากกว่าเรื่องของการบันทึกว่าคนฝ่ายที่เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในวันนั้นวันนี้เขาอยู่ตรงไหน เขาคิดอะไร ซึ่งเรื่องนี้คาดว่ากำลังจะมีงานทางวิชาการชิ้นใหญ่ออกมาไม่นานนี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมคือ ชนชั้นนำรุ่นใหม่ๆ ในระบอบปัจจุบันเขายืนอยู่ตรงไหนในเหตุการณ์นั้น หรือเขารับรู้เหตุการณ์วันนั้นอย่างไร ในกรณีที่เขายังไม่ใช่ผู้เล่นสำคัญในเหตุการณ์ในวันนั้น

ผมอยากยกตัวอย่างและตั้งคำถามหนึ่ง เช่น ตัวนายกรัฐมนตรีปัจจุบันซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อ 2557 นั้น มักจะมีคนสนใจประวัติของท่านแค่ว่าเป็นนายทหารสังกัดไหนเมื่อเข้าสู่ไลน์อำนาจ และนับพี่นับน้องกับใครบ้าง

สิ่งที่เราไม่เคยสนใจคือประวัติในช่วงต้นของนายกรัฐมนตรีที่จบการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหารในปี 2514 และจบโรงเรียนนายร้อย ปี 2519 ซึ่งแน่นอนว่าตัวท่านเองอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นในฐานะผู้มีอำนาจ แต่หากเชื่อตามทฤษฎีของการศึกษาการรับรู้ถึงอำนาจและบทบาททางการเมืองของทหารฟิลิปปินส์จากอดีตมาจนถึงยุคที่ร่วมสมัย ที่อธิบายว่าทหารจะก่อรูปสำนึกทางการเมืองในแง่ของการต้องการจะเกี่ยวข้องทางการเมืองมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับสองห้วงเวลาในชีวิตของพวกเขาคือ ช่วงการเข้าเรียนในโรงเรียนทหาร และช่วงที่จบมาใหม่ๆ ว่าพวกเขาอยู่ในบรรยากาศทางการเมืองแบบใด (A.McCoy. 1999. Closer than Brothers: Manhood at the Philippine Military Academy. New Haven, CT: Yale University Press) ในแง่นี้ทหารไทยอาจจะไม่ได้มีห้วงเวลาแห่งการเรียนรู้ซึ่งพลังอำนาจทางการเมืองของเขาในแบบนี้

แต่ถ้าเราลองคิดตามสักนิด สิ่งที่น่าค้นหาอาจจะเป็นเรื่องที่ว่าตัวผู้นำประเทศวันนี้เขาเรียนรู้ถึงเหตุการณ์ในวันนั้นอย่างไร และถ้าย้อนไปลองค้นหาว่าการที่เขาถูกหล่อหลอมปลูกฝังมาในช่วงต้นของชีวิตทางราชการมีผลต่อการก่อรูปสำนึกทางอำนาจและบทบาททางการเมืองอย่างไรก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ กว่าจะไปสู่เหตุการณ์ที่เริ่มมีการผ่อนปรนทางการเมืองในปี 2523 (หรืออาจจะต้องตีความใหม่ว่า แทนที่จะมองว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มันคือการสถาปนาอำนาจนำใหม่ของชนชั้นนำไทยและทหารภายใต้ระบอบการจัดลำดับชั้นที่ทหารเป็นผู้กำหนดเกมอำนาจให้นักการเมืองเล่นในวงจำกัดตลอดช่วงของพลเอกเกรียงศักดิ์ถึงพลเอกเปรมเสียมากกว่า)

ถ้าคำถามของผมยังพอมีความน่าค้นหาอยู่บ้าง เราอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากการศึกษาแค่รุ่นของทหารว่ามีส่วนในการก่อร่างสำนึกทางอำนาจและบทบาททางการเมืองของผู้นำทหารไม่ใช่กับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อาจจะต้องเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและตำแหน่งแห่งที่และเครือข่ายของพวกเขาในห้วงเวลานั้นๆ บางทีในกรณีของประเทศไทยนั้น หัวใจสำคัญอาจไม่ใช่แค่การหล่อหลอมของทหารในโรงเรียนทหาร หรือการจบการศึกษาและรับราชการในช่วงต้น แต่เราอาจจะพอเห็นร่องรอยบางอย่าง เมื่อเทียบกับการรับรู้ของทหารในรุ่นถัดๆ มาที่มีต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น

(ในกรณีของฟิลิปปินส์ เขาพบว่าทหารที่ชอบปฏิวัติคือรุ่นที่เรียนและจบออกมาในช่วงมาร์กอสเรืองอำนาจและกลายตนเป็นเผด็จการ เพราะทหารโดยเฉพาะทหารที่จบใหม่จะถูกเรียกใช้ในงานทางการเมืองจนทำให้พวกเขามองว่าพวกเขามีความสำคัญทางการเมืองและขาดไม่ได้ และนั่นคือการเรียนรู้ทางการเมืองและเรียนรู้สำนึกทางอำนาจและบทบาททางการเมืองที่แท้จริงมากกว่าการเรียนในโรงเรียน ส่วนของไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image