รัฐศาสตร์เบื้องต้นว่าด้วยรัฐเดี่ยวและรัฐรวม : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

วิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นเคยเป็นวิชาบังคับที่บรรดานิสิต นักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัยต้องเรียนกันภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หรือวันมหาวิปโยค (เป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นเหตุการณ์ที่มีนิสิต นักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคน ชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้น) ซึ่งในช่วงเวลาหลายปีภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นั้นทำให้บรรดาผู้คนทั้งหลายตระหนักว่าการที่ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้นั้น ประชาชนจึงต้องมีความรู้เรื่องการปกครองเป็นอย่างดีดังตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่เด็กที่เรียนจบระดับประถมทุกคนต้องสอบผ่านวิชารัฐธรรมนูญ และนักเรียนที่เรียนจบระดับมัธยมก็เช่นกันซึ่งระดับความยากง่ายของข้อสอบรัฐธรรมนูญนั้นแตกต่างกันตามช่วงอายุ ส่วนในระดับปริญญาตรีนักศึกษาต้องสอบผ่านวิชารัฐบาลอเมริกันทุกคนจึงจะจบได้ปริญญาตรี

ดังนั้น จึงมีการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยให้เป็นวิชาบังคับที่นิสิตนักศึกษาทุกคณะต้องลงเรียน ซึ่งผู้เขียนเองรับผิดชอบการสอนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นภาคการศึกษาหนึ่งๆ จะสอนนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 600 คน เป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงให้วิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นกลับไปเป็นวิชาเลือกที่หลายคณะไม่ยอมเลือกอีกต่อไปในปัจจุบัน

ดังนั้น การไม่รู้เรื่องการปกครองของบ้านเราจึงน่าจะเป็นเรื่องปกติซึ่งแสดงออกจากสื่อต่างๆ ก็ออกจะกังวลว่าความไม่รู้หรือรู้นิดหน่อย ผิดๆ ถูกๆ นั้นเป็นอันตรายจริง จึงอยากขออนุญาตทบทวนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นสักเล็กน้อยพอไม่ให้ท่านผู้อ่านที่เคารพต้องรำคาญนัก

หัวใจของวิชารัฐศาสตร์ก็บ่งบอกชัดอยู่ที่ชื่อของวิชาแล้วคือศาสตร์แห่งรัฐหรือความรู้เกี่ยวกับรัฐนั่นเอง ซึ่งเรื่องรัฐนี้ก็คือประเทศนั่นเองและรัฐ (State) เป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ โดยเกิดมีขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมภาคีชาติอเมริกาครั้งที่ 7 ที่กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ทวีปอเมริกาใต้ ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2476 โดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของรัฐ ด้วยการบอกถึงสถานะความเป็นรัฐชาติเอาไว้อย่างแจ้งชัดในอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the states)

Advertisement

มาตราที่ 1 ว่ารัฐ คือนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

1) มีดินแดนที่แน่นอน คือมีขอบเขตของอาณาบริเวณที่แน่นอนจะมีเนื้อที่ใหญ่หรือเล็กก็ได้

2) มีประชากร คือต้องมีมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น จำนวนกี่คนก็ได้ แต่ต้องมีสภาพเป็นสังคมในดินแดนนั้น

Advertisement

3) มีรัฐบาล คือต้องมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารและจัดการดินแดนที่แน่นอนในพื้นที่นั้นๆ อย่างมีประสิทธิผล

4) มีอำนาจอธิปไตย คืออำนาจในการปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐอื่นใดและอำนาจอธิปไตยนี้รวมถึงอำนาจในการสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ อย่างเสรีด้วย

จะเห็นได้ว่าหัวใจของรัฐก็คือรัฐบาล (Government) ซึ่งภาษาไทยใช้ว่าปกครองเนื่องจากรัฐบาลทำหน้าที่บริหารและจัดการทั้งดินแดน ประชากรและอำนาจอธิปไตย

รัฐบาลหรือการปกครองก็มีเพียง 2 แบบเท่านั้นคือ

1.เผด็จการ คืออำนาจอธิปไตยเป็นของคนคนเดียวหรือกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เช่น คสช. เป็นต้น

2.ประชาธิปไตย คืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ครับ ! ไม่ได้ซับซ้อนหรือยุ่งยากแต่ประการใดเลย และโดยนัยเดียวกันรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดเมื่อเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยก็หมายความว่าประชาชนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญจนถึงการเสนอการแก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชนจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน

ไม่ใช่อาชญากรรมเพราะประชาชนย่อมพูดได้ !

อีทีนี้มาถึงเรื่องรัฐเดี่ยว กับรัฐรวม สำหรับการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นก็ต้องเรียนเรื่องรัฐเดี่ยวกับรัฐรวมเป็นตอนแรกๆ เมื่อเรียนเรื่องรัฐคืออะไรไปแล้ว เรื่องรัฐเดี่ยวกับรัฐรวมนี้ไม่เกี่ยวกับการมีพระมหากษัตริย์หรือไม่มีพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมันคือรูปแบบการปกครองที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน เพียงแต่การกระจายอำนาจจะใช้วิธีที่ต่างกันเท่านั้น การที่ผู้คนแตกตื่นกันมากหากว่าเคยเรียนรัฐศาสตร์เบื้องต้นมาแล้วก็แสดงว่าต้องหลับในห้องเรียนหรือหนีเรียนอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image