มรณสักขีแห่งนิติธรรม : โดย กล้า สมุทวณิช

สําหรับมนุษย์แล้วความตายคืออำนาจอันร้ายกาจอันยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างเป็นรูปธรรมและภาวะวิสัย

ด้วยความตายนั้นไม่มีโทษหรือภัยอื่นใดจะมาเทียบเท่า เพราะมันคือการยุติ “ความมี” หรือ “ความเป็น” ทั้งหลายในโลกกายภาพของมนุษย์ที่ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ และทุกคนรับรู้และยอมรับในความจริงเดียวกัน ส่วนโลกหลังกายภาพหรือโลกแห่งความตายจะมีจะเป็นอย่างไรก็สุดแต่ความเชื่อทางศาสนาหรือจิตวิญญาณซึ่งก็ยังไม่ยุติ เพราะล้วนไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้

ความยิ่งใหญ่นี้เองทำให้บุคคลใดที่สละชีวิตตนเองโดยความเต็มใจเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่งจึงได้รับการเคารพและคารวะในทุกวัฒนธรรม เช่น ในศาสนาคริสต์ การสละชีวิตของตนเพื่อยืนยันในศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นถือเป็นมรณสักขี ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการสถาปนาขึ้นเป็นบุญราศีหรือนักบุญ

ในแง่มุมของกฎหมายเรื่องหนึ่งเรายอมรับความยิ่งใหญ่แห่งความตายเป็นพิเศษในกฎหมายพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นวิชาย่อยในสาขาวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอีกทีหนึ่ง

Advertisement

กฎหมายพยานหลักฐานคือวิชาการศึกษาและสร้างเครื่องมือเพื่อให้ศาลหรือจริงๆ แล้วคือตัวผู้พิพากษานั้น เอาไว้ใช้ในการคัดกรองชั่งตวงว่า จะรับฟังสิ่งใดเพื่อนำไปวางบนตราชูแห่งดุลยพินิจเพื่อพิจารณาพิพากษาตัดสิน ประกอบด้วยหลักอันละเอียดยิบย่อยมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แตกแขนงออกไปจากกฎเกณฑ์หลักข้อหนึ่งคือ “ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องพิสูจน์”

ซึ่งหลักกฎหมายที่เหลือคือเกณฑ์ย่อยเพื่ออธิบายหลักใหญ่ในข้อนี้ เช่น อะไรบ้างที่ถือว่าต้องพิสูจน์หรือไม่ต้องพิสูจน์ สิ่งใดชอบธรรมพอที่จะมีคุณค่าที่จะรับไว้พิสูจน์ได้ บางอันก็เป็นเหมือนหลักกฎหมายธรรมชาติ เช่นผู้ใดแสดงตนไม่ว่าจะโดยการลงชื่อหรือประการใดเพื่อรับรองข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรใดย่อมหมายความว่าผูกพันข้อเท็จจริงตามข้อความแห่งลายลักษณ์อักษรนั้น หรือบางอย่างก็เป็นกฎหมายบ้านเมือง เช่น ลายลักษณ์อักษรบนเอกสารที่ไม่ได้ตีตราเสียอากรให้รัฐนั้น แม้ว่าจะมีลายมือชื่อหรือการรับรองก็ไม่ให้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้

หลักการเรื่องพยานหลักฐานใดรับฟังเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้แค่ไหนอย่างไรนั้นเป็นเรื่องจุกจิกยุ่งยาก ในทางอาญาพยานบอกเล่าที่เพียงกล่าวอ้างว่าได้รู้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งมานั้นรับฟังมิได้ เว้นแต่เหตุสำคัญประการหนึ่งที่ถือว่าเป็นพยานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดจนละเว้นกฎแห่งการรับฟังพยานบอกเล่าได้ นั่นได้แก่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่กล่าวถึงไปในตอนต้น

Advertisement

นั่นก็คือการใช้คำประกาศเมื่อใกล้ตายเป็นพยาน (Dying Declaration)

ในทางกฎหมายแม้คำพูดของคนตายที่อาจจะซัดทอดผู้อื่นจะถือเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็ได้รับความศักดิ์สิทธิ์แห่งมรณะของผู้กล่าวถ้อยคำชุบให้เป็นพยานที่ฟังได้และมีน้ำหนักได้ หลักการนี้แม้จะเป็นหลักการในระบบกฎหมายจารีตหรือ Common law ซึ่งไม่ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความของไทยก็ตาม แต่ก็เป็นหลักที่ศาลให้การยอมรับผ่านบรรทัดฐานของคำพิพากษา

หลักที่ศาลฎีกายอมรับว่าคำพูดก่อนตายของบุคคลนั้นสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ว่า ผู้กล่าวถ้อยคำจะต้องรู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะตายโดยแน่แท้หรือไม่มีหวังรอดชีวิต จึงกล่าวถ้อยคำนั้นออกมาต่อผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งจะนำถ้อยคำนั้นมาเบิกความต่อศาล

เหตุที่ถ้อยคำของคนตายเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ก็เพราะอำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งความตายนั่นแหละ ที่กฎหมาย (หรือจริงๆ ก็คือมนุษย์เรา) เชื่อว่าไม่มีใครพูดโกหกก่อนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าวว่าใครเป็นคนฆ่า หรือสิ่งใดทำให้เขาต้องจบชีวิตลง

แม้ว่าในระยะหลังๆ จะเริ่มมีทฤษฎีแก้หรือการตั้งคำถามถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพยานถ้อยคำก่อนตาย เช่นหากเกิดจากความเจ็บป่วยทางจิตหรือสติหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะสภาวะอันใกล้ตายนั้นจะทำให้สงสัยว่าคำพูดก่อนตายในบางกรณีจะมีน้ำหนักหรือไม่ แต่นั่นก็เป็นการสร้างความชัดเจนให้แก่ถ้อยคำก่อนตายว่าจะต้องเป็นของจริงจึงควรค่าน่ารับฟัง

ในหลายเรื่อง การหาพยานหลักฐานทางอื่นนั้นจัดว่ายากเย็นหรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ เช่นสิ่งที่เป็นหลักฐานนั้นไม่อาจบันทึกหรือหลงเหลือร่องรอยประการใดเลย อาจจะเกิดจากการสั่งการด้วยวาจา อิทธิพลหรืออำนาจที่มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริง หากความที่ไม่ปรากฏให้เห็นนั้นก็ทำให้สิ่งทรงอิทธิพลนั้นอยู่นอกสายตาของกฎหมาย หรือแม้แต่การพิสูจน์ต่อสาธารณชน

หลายคนจึงเลือกใช้ความตายเพื่อพิสูจน์ในสิ่งเหล่านั้น ไม่แตกต่างจากมรณสักขีในทางศาสนา เช่นที่ สืบ นาคะเสถียร ใช้การจบชีวิตของตนเองลงเพื่อสะท้อนถึงปัญหาการบุกรุกป่าห้วยขาแข้งและความไม่เอาธุระของทางภาครัฐ หรือ นวมทอง ไพรวัลย์ ที่ใช้สิ่งเดียวกันนั้นเพื่อสั่งสอนให้นายทหารที่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้คณะรัฐประหารได้ทราบว่า ผู้ที่มีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้นั้นมีอยู่จริง

เช่นเดียวกันกับที่ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น คณากร เพียรชนะ พยายามจะกระทำเพื่อแสดงให้เห็นว่า การแทรกแซงครอบงำการพิพากษาอรรถคดีโดยลำดับชั้นบังคับบัญชาของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมนั้นมีอยู่จริง แม้ภายหลังท่านจะรอดชีวิต แต่หลายสิ่งก็บ่งชี้ว่าเขาหมายใช้ความตายเพื่อแสดงไว้ซึ่งอุดมการณ์แห่งความยุติธรรมจริงๆ

เรื่องของความตายที่ใช้พิสูจน์ถึงคุณค่าแห่งอุดมการณ์และความยุติธรรมนั้น มีมาแต่โบราณกาเล หลายเรื่องเป็นอุทาหรณ์ในทางนิติปรัชญา สองกรณีที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องแต่ง และอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องจริง

เรื่องแต่งนั้นคือโศกนาฏกรรมของแอนทิโกนี (Antigone) หรือภาษาไทยบางสำนวนเรียกอันตราคนี ของโซโฟคลีส (Sophocles) นักปราชญ์ชาวกรีกในสมัยสี่ถึงห้าร้อยปีก่อนคริสตกาล

ใจความสำคัญของเรื่องเกิดขึ้นหลังจากศึกชิงอำนาจรัฐของผู้ครองนครธีบส์ ในที่สุดฝ่ายที่ได้ครองอำนาจรัฐนั้นได้ประกาศคำสั่งซึ่งมีค่าเสมือนกฎหมายอาชญากรสงคราม ห้ามผู้ใดร่ำไห้อาลัย รวมถึงห้ามทำศพตามประเพณีแก่กบฏผู้ทรยศ ให้ปล่อยประจานไว้กลางสมรภูมิเป็นเหยื่อแร้งกา หากนางอันตราคนี ซึ่งอันที่จริงแล้วจะเรียกว่าเชื้อพระวงศ์ก็ว่าได้ เพราะเท่ากับมีศักดิ์เป็นน้าของกษัตริย์ (โดยผู้ออกคำสั่งดังกล่าวนั้นคือผู้สำเร็จราชการแทน) ได้ฝ่าฝืนทำศพให้แก่โพลีไนซีสพี่ชายของเธอเพื่อรักษาประเพณี

การกระทำของนางอันตราคนีคือการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองที่ประกาศโดยผู้ทรงอำนาจรัฐโดยชอบธรรม อย่างน้อยก็ตามกติกาแห่งโลกนั้น แม้ว่าฝ่ายบ้านเมืองเองก็ไม่ได้อยากเอาโทษด้วยเข้าใจและเห็นว่าก็เป็นเชื้อเป็นเจ้า จึงเกลี้ยกล่อมว่าหากเพียงอันตราคนีสารภาพว่าได้กระทำไปเพราะไม่รู้ว่ามีคำสั่งก็จะพ้นผิด แต่นางก็ยืนยันว่าตนเองนั้นรู้อยู่ว่ามีคำสั่งเช่นนั้น แต่ก็จะกระทำการฝ่าฝืน คือปลงศพพี่ชายของนางอยู่ดี

อันตราคนีได้ให้เหตุผลโต้แย้งว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นไม่มีอำนาจมาลบล้างกฎหมายของเทพเจ้า ซึ่งแม้แต่เทพบดีแห่งโอลิมปัสก็ไม่มีวันที่จะออกกฎหมายให้ปล่อยทิ้งเหยียดหยามผู้ตายมาให้มนุษย์ปฏิบัติ ในทางกลับกันการปลงศพให้แก่ผู้ตายเป็นประเพณีและศีลธรรมซึ่งหมายถึงกฎแห่งพระเจ้าที่มนุษย์จะล่วงละเมิดมิได้ เช่นนี้ นางจึงยืนยันที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองนั้นเพราะมันไม่ใช่กฎหมาย หรือถ้ารัฐบดีจะเอาโทษเอาทัณฑ์ก็ยอมตายเสียดีกว่าที่จะละเมิดต่อกฎหมายของเทพเจ้า

เรื่องจบลงด้วยการที่นางอันตราคนีแขวนคอตายในคุกถ้ำซึ่งเป็นที่จำขัง และตามด้วยความตายตามกันของคนรักและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนเรื่องที่สองนั้นเป็นเรื่องในประวัติศาสตร์ซึ่งหากใครที่เรียนทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือปรัชญาน่าจะเคยผ่านหูผ่านตา คือ ความตายของโสคราตีส

เมื่อขั้วอำนาจในนครเอเธนส์เปลี่ยน นักปราชญ์ชราก็ถูกตั้งข้อหาว่าปฏิเสธเทพเจ้าของนครรัฐและทำให้บรรดาเยาวชนเสียคน (นี่คือข้อหาอมตะที่ยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้) จึงถูกดำเนินคดีต่อศาลประชาชน ซึ่งแม้คำพิพากษานั้นจะผิดพลาดและไม่ชอบธรรม แต่โสคราตีสกลับยอมรับผลแห่งคำพิพากษา แม้ว่าจะมีคนอาสาพาหนีในระหว่างที่รอการประหารชีวิตตามประเพณี แต่เขาก็เลือกที่จะอยู่รอกินยาพิษจากพืชเฮมล็อก เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งกฎหมายบ้านเมือง

นิติมรณสักขีในเรื่องจริงและเรื่องแต่งนั้นมีความแตกต่างกัน หากอันตราคนียอมตายเพื่อปฏิเสธกฎหมายบ้านเมืองและรักษากฎหมายแห่งเทพเจ้า หรือความยุติธรรมที่มีคุณค่าสูงยิ่งกว่ากฎเกณฑ์ที่มนุษย์ตราใช้ได้โดยมีอำนาจ ส่วนโสคราตีสนั้นยอมตายเพื่อรักษากฎหมายของบ้านเมือง แม้ว่าจะมาจากการพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม

แต่นั่นจึงทำให้มีผู้นำอุทาหรณ์การตายของโสคราตีสมา “ตีกิน” กระทบคราดถึงกรณีที่มีผู้คนกลุ่มตรงข้ามประกาศไม่ยอมรับโทษทัณฑ์จากกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่เป็นธรรม

ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ความคิด นิติปรัชญา” ของท่าน ซึ่งขออนุญาตคัดมาลงบางส่วนเพื่อปิดท้ายดังนี้

“…หากเราพิจารณาทัศนะของโสคราตีสผ่านคำสอนเกี่ยวกับกฎหมายและความยุติธรรมโดยละเอียดแล้ว จะพบว่าการที่โสคราตีสยืนยันไม่หลบหนีและยอมรับโทษตามคำพิพากษา ก็เนื่องจาก
โสคราตีสให้น้ำหนักความสำคัญกับคุณค่าในทางกฎหมายที่ในยุคสมัยหลังเรียกว่าความมั่นคงแน่นอนแห่งกฎหมาย หรือความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ (legal security) ตลอดจนคุณค่าแห่งการดำรงอยู่ของนครรัฐเป็นสำคัญ โสคราตีสเห็นว่านครรัฐย่อมดำรงอยู่ไม่ได้หากศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว แต่คำพิพากษานั้นกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายและถูกทำลายลง เขาเห็นว่าแม้เขาจะถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยคำพิพากษาที่ไม่ยุติธรรม แต่ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเขานั้นไม่ได้เกิดจากกฎหมาย หากเป็นเพราะการปรับใช้กฎหมายโดยไม่ถูกต้องของผู้พิพากษา …

โสคราตีสไม่ได้กล่าวอ้างกฎหมายใดๆ ที่ถูกต้องเป็นธรรมยิ่งกว่า ดำรงอยู่สูงกว่าหรือเหนือกว่ากฎหมายบ้านเมืองซึ่งเรามักเรียกกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายธรรมชาติ ข้ออภิปรายของเขาอยู่บนฐานของกฎหมายบ้านเมืองโดยแท้…”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด ความพยายามที่จะใช้ความตายเป็นปากเสียงของผู้พิพากษาท่านหนึ่ง คือการอ้างความตายเป็นพยานเพื่อยืนยันอุดมการณ์ทางกฎหมายและความยุติธรรมของตน อันแสดงให้เห็นว่าจะกี่พันปีผ่านไป มนุษย์ของเราก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มีพลังอำนาจอยู่เหนือสัญชาตญาณเบื้องต้นของทุกสรรพสิ่งมีชีวิตคือความรักตัวกลัวตาย สิ่งนั้นเกิดขึ้นเฉพาะต่อมนุษย์ผู้มีเรื่องเล่าและความเชื่อ สิ่งนั้นคืออุดมการณ์

เพราะสำหรับมนุษย์บางคนแล้ว เพียงยังดำรงชีวิตไม่ได้พิสูจน์ถึงการมีชีวิต

Vivre, c’est prouver qu’on vit ?

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image