สหรัฐเกาไม่ถูกที่คัน : วีรพงษ์ รามางกูร

ปัญหาเศรษฐกิจโลกกับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ เอาเข้าจริงก็ยังเป็นปัญหาคู่กัน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐกับยุโรป รวมทั้งรัสเซียและยุโรปตะวันออก เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่าต้องไปด้วยกัน

ต่อมาจีนกลายเป็นตัวถ่วงไม่ให้เศรษฐกิจโลกตกลงเร็วไปกว่านี้ เพราะขณะที่เศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐกำลังประสบกับปัญหาหดตัว แทนที่จะขยายตัว ยุโรปไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย เรื่อยมาจนถึงสเปน โปรตุเกส ไปจนถึงรัสเซียและยุโรปตะวันออก รวมทั้งญี่ปุ่น เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ล้วนพากันหดตัวลงไปอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน

สหรัฐอเมริกาซึ่งทุกวันนี้ก็ยังต้องถือว่าเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก ที่ดูว่าจะดีกว่ายุโรปสักหน่อยก็กำลังจะทิ่มหัวลง หลังจากบางประเทศใช้นโยบาย พาณิชย์นิยม Mercantilism ซึ่งเขาเลิกใช้กันมากว่า 300 ปีแล้ว เมื่อ อดัม สมิธ เขียนหนังสือเรื่อง “ความมั่งคั่งของชาติ” หรือ “Wealth of Nation” กล่าวคือประเทศจะมั่งคั่งได้ต้องโกยเงินเข้าประเทศโดยการสนับสนุนการส่งออกและกีดกันการนำเข้า นโยบายอย่างนี้ประเทศเล็กทำได้ ไม่เป็นอันตรายต่อการค้าของโลก ไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง

แต่ถ้าเป็นประเทศใหญ่มีขนาดของการค้าระหว่างประเทศเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งจีนด้วยในขณะนี้ หากหันกลับไปใช้นโยบาย “พาณิชย์นิยม” หรือ Mercantilism ซึ่งเลิกใช้มา 300 ปีแล้ว หันมาใช้นโยบายเสรีนิยมตามทฤษฎี “ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ” ของ อดัม สมิธ และ เดวิด ริคาร์โด แล้วก็พัฒนาเรื่อยๆ มาจนมีการลงนามร่วมมือกันจัดตั้ง GATT ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือ General Agreement on Tariffs and Trade แล้วก็กลายมาเป็นองค์การค้าโลกในปัจจุบัน โดยอเมริกาเป็นคนผลักดัน เพราะอเมริกาขณะนั้นเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมหาศาล

Advertisement

ประเทศอเมริกาไม่ได้บอบช้ำจากสงครามโลก ไม่เหมือนยุโรปและญี่ปุ่น โรงงานอุตสาหกรรมเสียหายจากภัยของสงครามเกือบหมด เงินดอลลาร์กลายเป็นเงินที่ใช้เป็นทุนสำรองของประเทศ เป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศแทนเงินปอนด์สเตอริง ที่ต้องประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ สหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เกิดธนาคารโลก เพื่อจัดระเบียบเศรษฐกิจและการเงินของโลก World Economic and Financial Order ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออเมริกาอย่างมหาศาล

เงินดอลลาร์ เป็นเงินตราที่ยังสามารถอยู่ในมาตรฐานทองคำได้ จนกระทั่งแพ้สงครามเวียดนาม เงินดอลลาร์จึงต้องออกจากมาตรฐานทองคำ เพราะมีราคาตกลงมาอย่างหนักเป็นเวลานานเมื่อเทียบกับราคาทองคำ

การที่อเมริกาเป็นผู้นำในการกดดันให้ประเทศต่างๆ เปิดตลาดเสรีทั้งตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงิน กดดันให้ประเทศต่างๆ ลอยตัวค่าเงินแทนการตรึงค่าเงินไว้กับทองคำหรือดอลลาร์สหรัฐ หรือตะกร้าของเงินสกุลแข็งซึ่งก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเอง

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เศรษฐกิจโลกก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว อเมริกาก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดและกลายเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก นิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกแทนลอนดอน

นอกจากจะเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจและการเงินของโลกแล้ว สหรัฐยังกลายเป็นมหาอำนาจทางทหารอันดับหนึ่งของโลก มีแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์และอวกาศอย่างไม่มีผู้ใดเทียบเคียงได้ แต่การแข่งขันในด้านแสนยานุภาพทางอาวุธ ทั้งอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธภาคพื้นดินและอวกาศ รวมทั้งการดำรงตนเป็นผู้นำทางอวกาศ เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้งบประมาณจากภาษีอากรของประชาชนอเมริกาอย่างมหาศาล

ภาระสำคัญอีกอันหนึ่งที่เป็นภาระกับผู้เสียภาษีอเมริกันก็คือการเป็น “ตำรวจโลก” หรือ World Police ผู้ที่ถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำให้อเมริกาในนามของสหประชาชาติต้องทำสงครามอยู่ตลอดเวลา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

เมื่อสหรัฐอเมริกาเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจก็ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ หรือคุณภาพชีวิตของชนชั้นสูง ชนชั้นเศรษฐีมีมาตรฐานสูงขึ้นตามลำดับ การที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนอเมริกันส่วนใหญ่มีมาตรฐานสูงขึ้นกว่าประเทศใดๆ ในโลก ก็ทำให้ค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการ ฐานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ยิ่งเป็นชาวนาซึ่งเหลือจำนวนไม่เกิน 5% ของแรงงานทั้งหมดยิ่งมีฐานะดี เพราะโครงการยกระดับราคาสินค้าเกษตรขึ้นของสหรัฐอเมริกาที่ให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ โดยการจำกัดเนื้อที่เพาะปลูกและจำกัดการส่งออกในราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายกันในประเทศ เช่นเดียวกับนโยบายสินค้าเกษตรของประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว

ประเทศไทยทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะแรงงานในภาคเกษตรยังมีมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดในระบบ แรงงานในภาคบริการค้าปลีกค้าส่งมี 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาคการผลิตในอุตสาหกรรม

การที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้นโยบายถอยหลังเข้าคลอง หรือนโยบายพาณิชย์นิยม กีดกันการค้าทั้งในรูปภาษีขาเข้าและมาตรการอย่างอื่น เช่น โควต้านำเข้าหรือมาตรการอื่นๆ กีดกันการค้าจากจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกไปสหรัฐ ที่เสนอราคาสินค้าที่ถูกที่สุดสำหรับคุณภาพเดียวกัน ในขณะเดียวกันจีนก็จะใช้นโยบายกีดกันการค้าอย่างเดียวกัน

การขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นปัญหามหภาค กล่าวคือสหรัฐผลิตน้อยกว่าใช้จ่าย ส่วนที่ขาดจากการผลิตไม่พอกับการใช้จ่ายเพื่อบริโภคและการลงทุน ก็คือการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก ดุลการค้าของอเมริกาจึงขาดดุลเสมอมา แต่ที่ทำได้เพราะชาวโลกยังยินดีถือทรัพย์สินในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันภาคครัวเรือนหลังจากหักภาษีแล้วก็ไม่ได้ใช้จ่ายเกินตัว หรือไม่ได้ใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนมากไปกว่ารายได้หลังจากหักภาษีแล้ว ตัวที่ใช้จ่ายเกินตัวก็คือรัฐบาลกลางสหรัฐที่ใช้จ่ายเกินกว่ารายได้เป็นอันมาก ส่วนที่ใช้จ่ายเกินกว่ารายรับจากภาษีและรายรับอย่างอื่นก็ชดเชยด้วยการออกพันธบัตรขายให้กับธนาคารพาณิชย์ บริษัทห้างร้าน ประชาชน รวมถึงธนาคารกลางประเทศต่างๆ สถาบันและประชาชนในต่างประเทศด้วย

ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ดอกเบี้ยถีบตัวสูงขึ้น ภาระการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐก็จะถีบตัวสูงขึ้นเป็นเงินจำนวนมากเสมอ ความสามารถของการแข่งขันของเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่และประเทศรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงกับตะกร้าของเงินสกุลแข็ง 10 สกุล แต่ให้น้ำหนักกับเงินดอลลาร์สหรัฐมากที่สุด

ในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐได้ลดดอกเบี้ยนโยบายหรือ Fed Fund Rate ลงไปอีก 0.25% เป็นการลดครั้งที่สองในรอบปีนี้ อัตราดอกเบี้ยจึงลงไปอยู่ที่ 2.00% จากที่เคยอยู่ที่ 2.50% เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว

สถานการณ์อย่างนี้ ลอร์ด จอห์น เมนาร์ด เคนส์ เรียกว่าสภาพที่เกิด “กับดักสภาพคล่อง” หรือ Liquidity Trap ในสภาพอย่างนี้นโยบายการเงินคือการเพิ่มปริมาณเงินในระบบจะใช้ไม่ได้ผล ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการเงินจะเกิดขึ้นผ่านการลดลงของดอกเบี้ย ซึ่งบัดนี้ก็ลดลงต่ำที่สุดแล้ว

การเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐที่เคยเรียกกันว่า Open Market Operation บัดนี้มีศัพท์เรียกเสียใหม่ว่า QE Quantitative Easing วิธีการเหมือนเดิมคือธนาคารกลางออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากธนาคารพาณิชย์ เงินก็ไหลออกจากธนาคารกลางมาที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์ก็ปล่อยกู้ให้เอกชน ดอกเบี้ยก็จะลดลง

แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่เป็นอย่างนั้น กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์ได้เงินมาแล้วก็ปล่อยไม่ออก เอาเงินกลับไปฝากธนาคารกลางตามเดิม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตรงตามทฤษฎีกับดักสภาพคล่อง กล่าวคือธนาคารกลางเป็นกับดักของเงิน

รัฐบาลอเมริกันกับธนาคารกลางพยายามอธิบายนโยบาย QE หรือ Quantitative Easing ผ่อนปรนเชิงปริมาณ หลอกคนอเมริกันเป็นคุ้งเป็นแคว แต่ไม่ตรงกับปัญหา ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำตามวัฏจักรต้องแก้ด้วยนโยบายการคลัง กล่าวคือลดภาษี เพิ่มรายจ่าย หรือเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ

แต่เนื่องจากระบบเศรษฐกิจอเมริกันเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ แข่งขันกับจีนไม่ได้ การเพิ่มการขาดดุลงบประมาณก็จะไม่ทำให้การลงทุนเพิ่ม การผลิตไม่เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นแต่เพียงทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น ทำให้ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอเมริกาต้องเป็นหนี้มากยิ่งขึ้น อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลและประชาชนอเมริกันไม่ต้องการ

การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา จึงเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “เกาไม่ถูกที่คัน” ถ้าจะแก้ปัญหาให้ถูกจุดก็ต้องลดการขาดดุลงบประมาณลงมาคราวละมากๆ อย่างต่อเนื่องโดยการขึ้นภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้ทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ลดงบประมาณรายจ่ายลง ทำค่าเงินอเมริกันเมื่อเทียบเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินหยวนของจีน เงินเยนของญี่ปุ่นและเงินตราสกุลอื่นๆ ให้อ่อนลงอย่างน้อยก็ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลง ภาระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐจึงจะลดลง

การที่สหรัฐอเมริกาทำเช่นนั้น แม้จะเป็นการแก้ไขความไม่สมดุลของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ก็อาจจะสร้างภาวะซบเซาให้กับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้นก็ได้ เป็นปัญหาลิงแก้แห

ที่สหรัฐกระทำอยู่ทุกวันนี้เป็นการเกาไม่ถูกที่คันแต่ถ้าอเมริกาเกาถูกที่คันชาวโลกก็อาจจะแย่กว่านี้ก็ได้อย่างน้อยก็ระยะแรก และอาจจะพาไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รวมทั้งจีนด้วยก็ได้

เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ง่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image