ร.ร.ดัง รับเด็กสอบ กี่ %… ไหนว่าจะกระจายอำนาจ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ร.ร.ดัง รับเด็กสอบ กี่ %... ไหนว่าจะกระจายอำนาจ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ร.ร.ดัง รับเด็กสอบ กี่ %… ไหนว่าจะกระจายอำนาจ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ข้อถกเถียงทางปัญญาว่าด้วย แนวปฏิบัติในการรับนักเรียนปี 2563 โรงเรียนดังสอบเข้า 100% ไม่จบลงง่ายๆ ตราบใดที่ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกมาให้นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้ก่อนล่วงหน้า เพื่อประกอบการตัดสินใจจะสมัครเข้าโรงเรียนไหน

องค์ประกอบการพิจารณาในการกำหนดแนวปฏิบัติครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงประเด็นเดียวเกี่ยวกับสัดส่วนการรับนักเรียนโดยการสอบแข่งขันควรเป็น 100% หรือต่ำกว่า อย่างที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่อง หน้าที่ ความรับผิดชอบในการตัดสินใจภายใต้หลักการกระจายอำนาจให้หน่วยปฏิบัติ คือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากับโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

ประเด็นหลังนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรให้หน่วยงานในพื้นที่ดังกล่าวร่วมกันตัดสินใจ จะเลือกแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนอย่างไร เพราะรู้บริบทของสภาพพื้นที่ดีกว่า ส่วนกลางเพียงแต่วางหลักการสำคัญกว้างๆ เท่านั้น เป็นต้นว่า นักเรียนทุกคนต้องมีที่เรียน อย่าให้มีการทุจริต

Advertisement

ส่วนประเด็นว่าด้วยการสอบ หากมองว่าการสอบคือความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะเป็นวิธีการตัดสินที่ทำให้เด็กเก่ง ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมดีกว่า มีโอกาสเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมได้เปรียบเด็กยากจน เรียนไม่เก่งเพราะไม่ได้เรียนกวดวิชา มองโดยเอาฐานะทางเศรษฐกิจเป็นฐานคิด การสอบทุกอย่าง ทุกระดับก็คือสัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น

การรับสมัครนักเรียน โรงเรียนดังหรือไม่ดังก็ตาม หากจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนมีมากกว่าจำนวนที่นั่งที่โรงเรียนจะรับได้ โรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะตัดสินด้วยการสอบ ยกเว้นบางแห่งใช้วิธีการจับสลาก

การสอบโดยกำหนดเงื่อนไขให้เด็กที่อยู่ใกล้โรงเรียนมีโอกาสได้รับคัดเลือกก่อนเพราะเป็นเด็กในเขตพื้นที่บริการ ขณะที่เด็กอีกคนหนึ่งคะแนนสอบเท่ากัน หรือสูงกว่าแต่เนื่องจากเป็นเด็กที่อยู่ไกลโรงเรียน จัดเป็นเด็กนอกเขตพื้นที่บริการ เด็กคนหลังนี้มีโอกาสได้รับการคัดเลือกภายหลัง ซึ่งอาจจะไม่ได้เข้าเรียนทั้งๆ ที่คะแนนสูงกว่า

Advertisement

กรณีนี้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการสอบแข่งขัน 100% เพื่อความเสมอภาค เท่าเทียม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

มองมุมนี้ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่วิธีการสอบ แต่อยู่ที่การให้โอกาสนักเรียนที่อยู่ใกล้โรงเรียนก่อนนักเรียนที่อยู่ไกลโรงเรียน หรือการแบ่งเขตพื้นที่บริการเป็นในเขต กับนอกเขต นั่นเอง เป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม

ในความเป็นจริงโรงเรียนเด่น ดังส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง ทั้งในจังหวัดใหญ่ๆ และในกรุงเทพมหานคร เด็กในเมือง ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมดีอยู่ใกล้โรงเรียนเด่นดังย่อมได้เปรียบเด็กยากจนอยู่ห่างไกลโรงเรียนเด่นดังอยู่แล้ว การกำหนดเขตพื้นที่บริการ ให้เป็นเด็กนอกเขต ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

การให้โอกาสเด็กที่อยู่ใกล้โรงเรียนเด่นดังก่อน จึงยิ่งเป็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมต่อเด็กที่อยู่ห่างไกลแต่อยู่ใกล้โรงเรียนไม่เด่นดัง

สาเหตุพื้นที่ฐานของปัญหาทั้งปวงสืบเนื่องมาจากคุณภาพมาตรฐานโรงเรียนของเรา แตกต่างกันมาก นั่นเอง

หลักคิดแบ่งเขตพื้นที่บริการเป็นในเขต นอกเขต และไม่ควรสอบแข่งขัน 100% เพื่อให้โอกาสเด็กไม่เก่งได้เรียนโรงเรียนดีใกล้บ้านและได้เรียนร่วมกับเด็กเก่ง แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นการปิดกั้น หรือจำกัดโอกาสเด็กไม่เก่งที่บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียนดีเด่นดัง แต่อยู่ใกล้โรงเรียน ไม่เด่น ไม่ดัง อย่างชัดเจน

ถามว่า หลักการไม่สอบแข่งขัน 100% เพื่อให้เด็กไม่เก่ง เด็กเก่งได้เรียนร่วมกันนี้ ควรใช้กับโรงเรียนชั้นนำ ซึ่งปกติก็รับนักเรียนโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือก 100% อยู่แล้วด้วยหรือไม่ เช่น เตรียมอุดม มหิดลวิทยานุสรณ์ จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เป็นต้น

แนวทางการปรับจำนวน % การสอบคัดเลือก กับการเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่บริการใหม่นี้ ก็มีเพียงแค่ว่า หากโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ เห็นควรจะเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่บริการจากในเขต นอกเขต เป็นเขตพื้นที่บริการทั่วประเทศ อย่างเตรียมอุดม มหิดลวิทยานุสรณ์ บ้าง ควรมีโอกาสทางเลือกในการตัดสินใจ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนและนักเรียน

ขณะเดียวกันแก้ปัญหาความลักลั่น เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากที่ตั้งของถิ่นที่อยู่อาศัยต่างกัน ไม่ว่าอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลโรงเรียนให้มีโอกาสได้เข้าเรียนโรงเรียนดีเด่นดัง เท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image