จิตวิวัฒน์ : เมื่อตรรกะวิปลาส ความวินาศก็อาจจะตามมา : จุมพล พูลภัทรชีวิน

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ตามหลักอิทัปปัจจยตา

ความคิดและตรรกะที่วิปลาส มีโอกาสก่อให้เกิดคำพูดและการกระทำที่วิปริต มีโอกาสส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตทั้งของตนเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่ง

โอกาสต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง แต่ส่วนสำคัญมันเกิดจากความคิด ตรรกะ คำพูด และการกระทำของคน โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของความคิด เจ้าของตรรกะ เจ้าของคำพูด และเจ้าของการกระทำ

ลองพิจารณาเรื่องต่อไปนี้ดู

Advertisement

หลายคนชอบอ้างประชาธิปไตย สิทธิ และ/หรือเสรีภาพ โดยปราศจากขอบเขต ประหนึ่งว่า ประชาธิปไตย สิทธิ และ/หรือเสรีภาพ เป็น “องค์” อิสระ และ/หรืออยู่เหนือสิ่งอื่นใด จึงคิด พูด และทำตามที่อ้าง แล้วผลเป็นเช่นไร? ตนเองอยู่ดีมีสุขหรือเปล่า? สังคมอยู่ดีมีสันติสุขหรือไม่? ความปรองดองที่อยากให้เกิด มันเกิดจริงๆ หรือ?

การคิดแบบแยกส่วน มีส่วนทำให้เกิดการพูดและการกระทำแบบแบ่งแยก แยกพรรคแยกพวก ตัดสินถูกผิดอย่างรวดเร็วด้วยเกณฑ์ (ความเชื่อ/ตรรกะ) ของตัวเอง

แล้วผลเป็นเช่นไร? ตนเองอยู่ดีมีสุขหรือเปล่า? สังคมอยู่ดีมีสันติสุขหรือไม่? ความปรองดองที่อยากให้เกิด มันเกิดจริงๆ หรือ?

Advertisement

โลกยุคปัจจุบันถูกขับเคลื่อนและถูกกดดันด้วยความเชื่อและการอ้างแนวคิดและแนวปฏิบัติของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม และระบอบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ภายใต้การนำและการกำกับควบคุมของประเทศมหาอำนาจไม่กี่แห่ง ใช่หรือไม่?

แล้วผลเป็นเช่นไร? ประเทศอยู่ดีมีสุขหรือเปล่า? สังคมโลกอยู่ดีมีสันติสุขหรือไม่? สันติภาพที่อยากให้เกิด มันเกิดจริงๆ หรือ?

เราเชื่อจริงๆ หรือไม่ว่า หากทุกประเทศมีระบบเศรษฐกิจที่เสรี มีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ประเทศนั้นๆ จะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเมืองที่มั่นคง มีเสถียรภาพ มีสันติสุขกันทั่วหน้า?

ลองพิจารณาประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นตัวอย่าง หรือลองพิจารณาประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างเช่น ประเทศจีน รัสเซีย และอิหร่าน เป็นต้น แล้วลองพิจารณาประเทศภูฏาน และประเทศเราเอง ประเทศไทย ทุกประเทศที่กล่าวถึง ยกเว้นประเทศภูฏาน ต่างก็มีปัญหาวุ่นวายทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ใช่หรือไม่?

หากสมมุติเปลี่ยนให้ประเทศมหาอำนาจ ก.ที่มีความเชื่อในระบบเศรษฐกิจและการเมืองตามที่กล่าว กลายไปเป็นประเทศเล็กๆ หรือประเทศที่มีวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ ก. และกลับกัน แต่ละประเทศจะมีการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและการเมืองหรือไม่?

ความเสรี และความเป็นประชาธิปไตย ดูเหมือนจะสื่อถึงการยอมรับ การให้ความสำคัญ และความสัมพันธ์ของความแตกต่างหลากหลาย แล้วทำไมต้องบีบรัด คุกคามบังคับ หรือแม้กระทั่งทำลายความแตกต่าง?

ตกลงความแตกต่างหลากหลาย เป็นความงดงาม หรือความน่าเกลียดน่ากลัว เป็นสิ่งพึงสงวน รักษาและพัฒนาให้คงอยู่ หรือต้องถูกทำลาย หรือต้องทำให้เหมือนกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกันที่เรียกว่า มาตรฐานสากล?

ถ้าทุกประเทศ ทุกกลุ่มคน หรือทุกคน ต่างก็คิด พูด และทำในทำนองเดียวกันดังต่อไปนี้ อะไรจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ถ้าใครไม่เห็นด้วยกับเรา พวกเขาเป็นศัตรูของพวกเรา…ฉันต้องมาก่อน…ฉันต้องเป็นที่หนึ่ง…ทุกคนต้องคิด พูด และทำเหมือนฉัน ภายใต้มาตรฐานเดียวกันที่ฉันและพวกของฉันเป็นผู้กำหนด…

โลกนี้คงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง รุนแรง ไร้ความสุขสงบ เต็มไปด้วยสงครามเย็น สงครามร้อน สงครามศาสนา สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง…เพราะความแตกต่างกลายเป็นสิ่งน่าเกลียดน่ากลัว ไม่พึงประสงค์ ต้องทำให้พวกเขามาเป็นพวกฉัน ถ้าทำให้เป็นพวกฉันไม่ได้ก็ทำลายล้างพวกมันเสียเลย

ความเชื่อ/ตรรกะที่วิปลาส ก่อให้เกิดการพูดและการกระทำที่วิปริต ความฉิบหายก็จะตามมา โลกาจะวินาศด้วยอุกกาบาตแห่งความชั่วร้ายเหล่านี้

ในทางตรงกันข้าม ถ้าทุกประเทศ ทุกกลุ่มคน หรือทุกคน ต่างก็คิด พูด และทำในทำนองเดียวกันดังต่อไปนี้ อะไรจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ฉัน เขา เรา และสรรพสิ่งต่างเป็นเพื่อนร่วมโลก เราจึงควรมีความรัก ความเมตตา เอื้ออาทรต่อกัน…มนุษย์ทุกคน ทุกชนเผ่า ต่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราจึงควรเรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน…

มนุษย์ทุกคน ทุกชนเผ่า มีความแตกต่างและหลากหลาย เราจึงควรเรียนรู้ที่จะยอมรับและเคารพในความแตกต่างและหลากหลายเหล่านั้น ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสุข สงบ และสันติ…

มนุษย์ทุกคน ทุกชนเผ่า และสรรพสิ่ง ต่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม ความคิด การพูด และการกระทำของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ต่างกระทบถึงกันและกัน และกระทบถึงสรรพสิ่ง ไม่มากก็น้อย ไม่ทางหนึ่งก็ทางใด ไม่เร็วก็ช้า ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะมีสติและปัญญา สร้างสรรค์ความคิด การพูด และการกระทำที่ดีงามทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่ง…

มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาได้ ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ผิดพลาดได้ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะให้อภัย เรียนรู้ที่จะให้และสร้างสรรค์โอกาสแก่กันและกัน เพื่อที่จะได้เรียนรู้ พัฒนา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน…

โลกของเราก็จะเต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร เป็นโลกของการ “รู้รักสามัคคี” มีความมั่นคง มีเสถียรภาพทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีความสุข สงบ สันติ บนความแตกต่างและหลากหลายของขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่งดงาม

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image