คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ผู้ผลิตต้องมีคุณภาพ วิฑูรย์ สิมะโชคดี

สํานักข่าวบีบีซีได้รายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “สหภาพยุโรป” ประกาศกฎใหม่สำหรับ “บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า” (เช่น อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และตู้เย็น) โดยมีสาระสำคัญว่า “จะต้องผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และต้องออกแบบให้ง่ายต่อการซ่อมแซมโดยผู้ใช้งานหรือช่างทั่วไป”

วัตถุประสงค์ของกฎหรือข้อบังคับนี้ ก็เพื่อยืดอายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 10 ปี โดยบริษัทจะต้องปรับปรุงการผลิตให้ได้ตามวัตถุประสงค์นี้ในเดือน เม.ย.2021

กฎข้อนี้ออกมาภายหลังจากที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง “สิทธิในการซ่อมบำรุง” รวมถึงข้อร้องเรียนจำนวนมากจากผู้บริโภคทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือว่า “ผู้ใช้งานไม่สามารถซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหายได้ด้วยตนเอง หลังจากสิ้นสุดการรับประกันจากบริษัทไปแล้ว”

รวมทั้งยังไม่สามารถหาผู้ที่สามารถซ่อมแซมได้ในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตออกแบบให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นต้องซ่อมแซมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูง ซึ่งเป็นการบังคับทางอ้อมให้ผู้ใช้งานต้องซื้อเครื่องใหม่เท่านั้น

Advertisement

นอกจากนี้ อายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สั้น ยังส่งผลให้เกิดขยะที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังต้องสูญเสียพลังงานมากขึ้นในกระบวนการผลิตเครื่องใหม่ด้วย

กรณีนี้ มีการคาดกันว่า ข้อบังคับใหม่นี้จะช่วยประหยัดงบประมาณที่สูญเสียไปกับการใช้พลังงานได้มากถึง 20,000 ล้านยูโรต่อปีภายในปี 2030 และลดปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากถึง 5% ของปริมาณใช้อยู่ในยุโรปปัจจุบัน และยังจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 50 ล้านตัน

ภายใต้ข้อบังคับใหม่นี้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายังจะต้องจัดเตรียมอะไหล่และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย เพื่อบริการให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการซ่อมแซมเองหรือช่างทั่วไป โดยอะไหล่และชิ้นส่วนเหล่านั้นต้องสามารถใช้ได้กับเครื่องมือซ่อมบำรุงทั่วไป และไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย

Advertisement

ขณะที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ตั้งคำถามถึงความปลอดภัยและความรับผิดชอบของผู้ผลิต หากเกิดข้อผิดพลาดจากการซ่อมแซมโดยผู้ใช้งานเองที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการซ่อม

ปัจจุบัน นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีอีกหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาที่กำลังดำเนินการออกกฎหมายในทำนองเดียวกันนี้ เพื่อให้สิทธิในการซ่อมบำรุงแก่ผู้บริโภค

ข้อบังคับนี้ยังบังคับใช้กับบริษัทต่างชาติที่จะส่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปด้วย

ดังนั้น แนวความคิดในเรื่องนี้ คงทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องคิดใหม่ทำใหม่ คือ ต้องคิดครบวงจรเริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ จนถึงขั้นตอนที่ต้องทำลายเศษซาก เมื่อหมดอายุของการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นๆ แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต พลังงานที่ใช้ ความรู้ความสามารถของพนักงานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ได้ การจัดเก็บ การขนส่ง การซ่อมบำรุงระหว่างการใช้งาน จนถึงการทำลายซากเมื่อหมดอายุ การบริหารจัดการตลอดกระบวนการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยต้องคำนึงถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมตามที่ “ผู้บริโภค” หรือ “ผู้ใช้งาน” ต้องการหรือเรียกร้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับของ “ภาครัฐ” รวมตลอดถึงการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมของชุมชนและสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับสากลด้วย

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ น่าจะเพียงพอที่จะยืนยันว่า “ผู้ผลิตต้องมีคุณภาพ” ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image