สมเด็จพระปิยมหาราช กับการปฏิรูปการศึกษาไทย : โดย ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

สมเด็จพระปิยมหาราชเป็นพระราชสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพสกนิกรชาวไทยพร้อมใจกันน้อมถวาย ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2558 ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ในปี 2404 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ และได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยซึ่งเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี 2410

พระองค์ได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมชนกาธิราช ขณะพระชนมายุ 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 15 วัน และจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 สิริพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติ 42 ปี

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ทรงปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี สังคม และรูปแบบการปกครองให้ทันสมัยดังเช่นอารยประเทศ เฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการศึกษาไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งจะได้นำเสนอสาระสำคัญ ดังนี้

ปฐมบทของการปฏิรูปการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริที่จะ “สร้างคน” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนต่างๆ ขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่ราษฎรอันจะนำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ ต่อไป เช่น โรงเรียนแผนที่ โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือนฯ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ได้ผลิตคนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามการศึกษามิใช่เพียงการให้ความรู้ความสามารถแก่ตัวบุคคลที่จะออกไปประกอบอาชีพได้เท่านั้น แต่สาระและจุดหมายที่แท้จริงของการศึกษานั้นจะต้องพัฒนาคนอย่างเป็นองค์รวมในทุกด้าน ทั้งด้านความรู้พื้นฐาน ความรู้ในอาชีพ ศิลปะการดำรงชีวิตในการทำงาน และความมีศีลธรรมจรรยาในตัวเองเพื่อที่จะดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข

Advertisement

พระราชดำริด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีประเด็นสำคัญที่ใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษาในรัชสมัยของพระองค์คือ การพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ ความสามารถอันจะเป็นรากฐานของการพัฒนาชาติบ้านเมือง ทรงวางหลักการจัดการศึกษาของชาติไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มวางรากฐานการศึกษาแผนใหม่ที่เป็นระบบ ทรงจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวังแล้วขยายผลการจัดออกไปสู่ราษฎรทุกระดับชั้นด้วยแนวคิดและวิธีการที่เป็นระบบแบบแผน แนวพระราชดำริ พระบรมราชโองการ และพระราชดำรัสของพระองค์ที่ปรากฏด้านการศึกษาแสดงให้เห็นถึงแนวพระราชดำริด้านการศึกษาของพระองค์ โดยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ทรงชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาเพราะการกำหนดให้คนฉลาด รู้จักคิด รู้ปฏิบัติอันจะส่งผลถึงความเจริญของงานบ้านเมืองในอนาคต

การจัดตั้งสถาบันการศึกษา

การปฏิรูปการศึกษานั้นสิ่งสำคัญคือสถาบันการศึกษาที่เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ซึ่งดำเนินการดังนี้

1.จัดตั้งโรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้แน่วแน่ที่จะจัดการศึกษาให้เจริญขึ้นในบ้านเมืองให้จงได้ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เพียง 4 ปี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวังเพื่อฝึกอบรมกุลบุตรให้มีความรู้พอที่จะเข้ารับราชการได้ ในขั้นแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชโองการชักชวนให้พระราชวงศ์และข้าราชการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ทรงเน้นถึงประโยชน์ของการศึกษาในการอบรมสั่งสอนบุคคลให้มีวิชาความรู้ รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีอันจำเป็นต่อการเข้ารับราชการ เพื่อเป็นการจูงใจบุคคลเข้าเรียน

2.จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มขยายโรงเรียน สำหรับราษฎรหรือสามัญชนตามพระอารามต่างๆ โดยไม่ใช้การบังคับให้ส่งบุตรหลานเข้าเรียน แต่ทรงใช้ประกาศชักจูงชี้แนะให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการศึกษาแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนยอมรับการศึกษาว่าเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาส่วนตนและส่วนรวมในเวลาต่อมา โดยจัดให้มีโรงเรียนขึ้นในวัด เพื่อให้ราษฎรทั่วไปทุกระดับชั้นได้มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือโดยทั่วถึงกัน อันเป็นการวางรากฐานการพัฒนาชีวิตของประชาชนและจะส่งผลถึงการพัฒนาประเทศต่อไปด้วย

3.จัดตั้งสถาบันการศึกษาของสงฆ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้งแตกฉาน จนตระหนักพระราชหฤทัยถึงความสำคัญของสถาบันศาสนาที่มีต่อชีวิตและสังคม พระองค์ทรงดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ขึ้น 2 แห่ง คือ มหามกุฏราชวิทยาลัยตั้งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ตามพระบรมราชโองการ ร.ศ.112 เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งที่วัดมหาธาตุ เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน ร.ศ.108 โดยเฉพาะที่มหามกุฏราชวิทยาลัยได้มีการนำวิชาการแบบใหม่ เช่น ภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์เบื้องต้น และวิชาอื่นๆ เข้ามาสอน มีการสอบด้วยการเขียนและคิดคะแนนการสอบเป็นการวัดผลการศึกษาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ให้ทรงกับภาระเป็นผู้อำนวยการศึกษาหัวเมือง เพื่อจัดการศึกษาแก่กุลบุตรทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรอันเป็นต้นรากแห่งการประถมศึกษาในปัจจุบัน ได้มีการนำหลักสูตร วิธีการเรียนและการสอบของมหามกุฏฯ มาปรับปรุงใช้กับการศึกษาในโรงเรียนทั่วๆ ไป และมหามกุฏราชวิทยาลัยเองก็ยังต้องรับภาระผลิตครูพระออกไปดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย การที่พระสงฆ์ในสมัยนั้นรับภาระการศึกษาประชาบาลแนะนำชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจความสำคัญของการศึกษา เอื้อเฟื้อสถานที่เรียนและจัดการเรียนการสอน จึงนับเป็นการเกื้อกูลการศึกษาของไทย

การสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา

นอกจากการจัดตั้งสถาบันการศึกษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาดังต่อไปนี้

1.จัดตั้งกรมศึกษาธิการ
เมื่อประชาชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแล้วต่างก็นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนหัวเมือง จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งกรมขึ้นมารับผิดชอบการศึกษาของพลเมืองโดยตรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นในปี พ.ศ.2430 มีตำแหน่งข้าหลวงผู้บัญชาการศึกษาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่ทำหน้าที่จัดการศึกษาเล่าเรียนทั้งปวง ต่อมา พ.ศ.2435 จึงได้ยกฐานะกรมศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมดา และเปลี่ยนเป็นกระทรวงศึกษาธิการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 6)

2.การส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางแนวทางการจัดการศึกษาที่จะเกิดผลดีแก่บ้านเมือง กล่าวคือ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสไปเรียนวิชาต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ซึ่งบรรดาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์เข้ารับราชการตามกรมกองต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริจัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบการพัฒนาบ้านเมืองด้านต่างๆ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากร วรลักษณ์) ที่ทรงเข้ามารับผิดชอบด้านการจัดการศึกษาในตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการและ เสนาบดีกระทรวงการคลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) ทรงรับผิดชอบด้านการศาลและยุติธรรม สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรรม พระบรมราชชนก รับผิดชอบด้านแพทยศาสตร์ศึกษา การสาธารณสุข และการอุดมศึกษา เป็นต้น

3.การประกันคุณภาพการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาตามขั้นตอนต่างๆ แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรวจตราการกำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ทำเป็นรายงานให้ทรงพิจารณาเสมอ เพื่อนำไปปรับปรุงการจัดการศึกษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น กล่าวคือ

3.1 ติดตามการเรียนการสอนในโรงเรียนไทย (ตามวัด) ให้มีมาตรฐานดีขึ้น
3.2 กวดขันระเบียบวินัย ห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ ครูไม่ปล่อยให้นักเรียนเล่นจนเสียการเรียน
3.3 ครูไม่ควรทิ้งห้องสอน หรือปล่อยให้ว่างโดยไม่สอน
3.4 ให้ครูสอนตรงเวลาตามตารางสอน ไม่ควรเปลี่ยนเวลา และการทำกิจกรรมควรจัดนอกเวลาเรียนปกติ

ดังนั้นการศึกษาของไทยจึงได้เกิดมีระบบการกำกับดูแลการปฏิบัติขึ้นอย่างจริงจังมากขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติด้านต่างๆ ด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อเปรียบกับการศึกษาในยุคปัจจุบันก็คือการประกันคุณภาพการศึกษานั่นเอง

4.การพัฒนาเพื่อการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสื่อการศึกษาในการจัดการศึกษาตามพระราชดำริของพระองค์ คือ การจัดทำแบบเรียนขึ้นใหม่ แต่เดิมใช้แบบเรียน แบบ 6 เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจนพิจารณ์ และพิศาลการันต์ ซึ่งนักเรียนมักจะเรียนไม่ใคร่จบ พระองค์จึงทรงมอบให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงคิดแบบเรียนเร็วขึ้น นอกจากนี้ ได้เริ่มมีแนวคิดการแต่งตำราเรียนจากการแปลหนังสือต่างประเทศ แต่เรียบเรียงในภาษาไทยให้เข้าใจง่าย เป็นการเรียนรู้เหมือนฝรั่งโดยใช้ภาษาไทย นับเป็นต้นแบบของการแต่งตำราเรียนในสมัยต่อมา

5.การจัดตั้งหอสมุดสำหรับประชาชน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาตามอัธยาศัยของประชาชนให้เป็นที่ประจักษ์ชัด ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นเป็นที่รวบรวมหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้แสวงหาวิชาความรู้และความเพลิดเพลินใจ อันเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน

หอสมุดวชิรญาณเป็นที่รวบรวมหนังสือทั้งหนังสือภาษาไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหอสมุดแห่งชาติในประเทศไทย การจัดการหอสมุดมีคณะกรรมการเรียกว่า กรรมสัมปาทิกสภา มีอำนาจในการอนุญาตให้ใช้หอสมุด และการใช้ประโยชน์จากหนังสือต่างๆ ซึ่งพัฒนามาสู่การเกิดทรัพย์สินทางปัญญาครั้งแรกในประเทศไทย คือ กฎหมายลิขสิทธิ์

6.การสร้างแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อการศึกษาของไทย นอกจากการจัดการศึกษาในระบบให้เป็นแบบแผนโดยทั่วไปแล้ว ยังสนพระราชหฤทัยและวางรากฐานในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยไว้ ด้วยการตั้งหอมิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์และการจัดนิทรรศการ ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของราษฎรในขณะนั้น

การสร้างแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างกว้างขวาง มีลักษณะเป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษาไทย คือ การศึกษาตามอัธยาศัยที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน

7.แนวคิดเกี่ยวกับการอุดมศึกษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศหลายครั้ง แต่ละครั้งได้เกิดที่เป็นประโยชน์ต่อชาวสยามหลายด้าน ในส่วนของการศึกษาพระองค์รงพบเห็นการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ จึงทรงดำริให้มี University ขึ้น และต่อมามีการยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

แนวคิดนี้เป็นผลให้ประเทศไทยจัดการศึกษาระดับประถม ระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษา ครบถ้วนทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งการอุดมศึกษานั้นได้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน

ปัจฉิมบท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้แสดงพระราชดำริด้านการศึกษา ปรากฏให้เห็นชัดตั้งแต่แนวคิดพื้นฐานด้านการจัดการศึกษา ทรงตระหนักว่าความสำคัญของการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาชีวิตและการพัฒนาประเทศ ด้วยการเริ่มที่การพัฒนาคน และการพัฒนาคนนั้นต้องพัฒนาในทุกด้าน ซึ่งเป็นสาระและจุดหมายหลักของการจัดการศึกษาอยู่แล้วในพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระบรมราชโองการด้านการศึกษา พระองค์ได้ทรงเน้นว่าการจัดการศึกษาเพื่อราษฎรทุกคน แต่เนื่องจากบ้านเมืองยังไม่เคยมีการจัดการศึกษาที่เป็นแบบแผนมาก่อน จึงทรงจัดแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการบูรณาการแบบแผนเดิมกับแบบแผนสากลเข้าด้วยกัน เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ และสภาพสังคมไทยในสมัยนั้น พืชพันธุ์แห่งปัญญาที่พระองค์ให้ทรงหว่านไว้ให้ทวยราษฎรทั่วพระราชอาณาจักรในรัชสมัยของพระองค์ได้งอกงามหยั่งรากลึกเป็นความมั่นคงวัฒนาของชาติไทย จวบจนปัจจุบันนี้

ด้วยคุณูปการอันหาที่สุดมิได้ต่อวงการศึกษาไทย ขอเชิญประชาชนชาวไทยได้ร่วมรำลึกถึงพระองค์ท่านในวาระสำคัญวันที่ 23 ตุลาคม 2562 “วันปิยมหาราช” พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน

ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image