นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาห์เหม็ด แห่งเอธิโอเปีย : น่าพิศวงทั้งคนและประเทศ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

อาบีย์ อาห์เหม็ด : ภาพรอยเตอร์

รางวัลโนเบลเป็นรางวัลประจำปีระดับนานาชาติซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสแกนดิเนเวียเพื่อพิจารณามอบรางวัลโนเบลให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือความอัจฉริยะและความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นหรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ตามเจตจำนงของ นายอัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดนผู้มั่งคั่งจากการประดิษฐ์ไดนาไมต์ (เขาได้จดสิทธิบัตรเมื่อปี พ.ศ.2410 โดยปกติแล้วไดนาไมต์จะขายในเป็นแท่ง ไดนาไมต์ถือเป็นระเบิดที่มีอานุภาพสูงใช้ในการระเบิดหินภูเขา) เริ่มมีการมอบรางวัลครั้งแรกใน พ.ศ.2444 โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 5 สาขาคือ รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาการแพทย์ สาขาวรรณกรรม และสาขาสันติภาพโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลในแต่ละสาขานั้นถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดในสาขาวิชาชีพนั้นๆ

สำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้นั้นผู้ได้รับรางวัลคือ นายอาบีย์ อาห์เหม็ด โดยเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนที่ 100 พอดี นายอาบีย์ อาห์เหม็ด จะได้รับเงินรางวัลมูลค่าราว 27 ล้านบาท ในพิธีมอบรางวัลที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

นายอาบีย์ อาห์เหม็ด มีอายุเพียง 42 ปี ตอนที่เขาได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาเอธิโอเปียให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2561 นั้นทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศเอธิโอเปียและเป็นผู้นำประเทศที่หนุ่มสุดในทวีปแอฟริกา ดังนั้นนายอาบีย์ อาห์หมัด ถือว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ปฏิรูปประเทศในหลายด้านในเวลาเพียงปีเศษ เขาก็ได้รับรางวัลโนเบลเพราะทำหลายอย่างมากเพื่อความสมานฉันท์ระหว่างเชื้อชาติและศาสนาในประเทศที่มีประชากรมากอันดับสองของทวีป

โดยเฉพาะในเวลาเพียง 2 เดือนหลังเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้เจรจายุติศึกกับประเทศเอริเทรีย ซึ่งรบกันยืดเยื้อมาตั้งแต่ พ.ศ.2541 มีผู้คนตายไปเพราะสงครามเกือบแสนคน

Advertisement

ในภูมิภาคจะงอยแอฟริกาที่ประเทศเอธิโอเปียตั้งอยู่นี้นั้นนอกจากขัดแย้งกันทางด้านการเมืองแล้วก็ยังรบกันอีกเนื่องจากความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ และศาสนาอีก แต่ลักษณะพิเศษของนายอาบีย์ อาห์เหม็ด คือเป็นคนข้ามวัฒนธรรมคล้ายกับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวคือบิดาของเขาเป็นมุสลิมจากเผ่าโอเมโร (เผ่าใหญ่สุดของประเทศ) มารดาเป็นคริสเตียนออร์ธอดอกซ์จากเผ่าแอมฮารา

ส่วนอาบีย์ อาห์เหม็ดเองเป็นโปรเตสแตนต์ นิกายเพนเทคอสต์ (เน้นหนักไปทางพระจิตในตรีเอกานุภาพ) อาบีย์ อาห์เหม็ด ทำมาหลายอย่างมาก เคยเป็นทหารฝ่ายขบถต่อต้านรัฐบาลเผด็จการตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2534 ต่อมายังเป็นทหารรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในประเทศรวันดา ระหว่างเป็นทหารได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงอาดิสบาบาจนจบปริญญาตรี แล้วจึงไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทที่อังกฤษ และกลับมาเรียนอีกหลายปีจนจบปริญญาเอกในประเทศเอธิโอเปีย โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการสร้างสันติและการแก้ไขความขัดแย้งในประเทศนั่นเอง

ภายในเวลา 1 ปีเศษที่นายอาบีย์ อาห์เหม็ด เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ด้วยการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่วงการเมือง เริ่มด้วยการแต่งตั้ง นางซาห์เล-เวิร์ก ซูว์เด ผู้เป็นตัวแทนเอธิโอเปียในสหประชาชาติเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ส่วนในคณะรัฐมนตรีของนายอาบีย์ก็ประกอบด้วยสตรีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมีสตรีครึ่งหนึ่งในคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังแต่งตั้งให้สตรีดำรงตำแหน่งสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศที่เคยมีการควบคุมการพาณิชย์และการลงทุนอย่างเข้มงวดแห่งนี้ และเขาได้สั่งปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายพันคนออกจากคุกกับอนุญาตให้กลุ่มผู้เห็นต่างที่เคยลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศสามารถเดินทางกลับประเทศได้

ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาคือการเป็นผู้ผลักดันให้มีการทำข้อตกลงสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้านคู่ปรปักษ์อย่างเอริเทรีย ซึ่งช่วยปิดฉากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อมานานร่วม 20 ปี อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปของนายอาบีย์ ยังเผยให้เห็นปัญหาความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในเอธิโอเปียและความรุนแรงจากปัญหาดังกล่าวที่ทำให้ประชาชนต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิดราว 2.5 ล้านคน

ซึ่งเป็นงานใหญ่หลวงนักที่นายอาบีย์ อาห์เหม็ด ผู้ที่รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ยังต้องแก้ไขต่อไป

ประเทศเอธิโอเปียเป็นหนึ่งในชาติที่มีประวัติศาสตร์อันต่อเนื่องยาวนานที่สุดในทวีปแอฟริกาและเป็นดินแดนที่ได้รับอารยธรรมจากอียิปต์และกรีกตั้งแต่สมัยโบราณ ดินแดนเอธิโอเปียก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่าอบิสสิเนีย ปกครองโดยราชวงศ์เอธิโอเปีย ซึ่งเชื่อว่าเป็นเชื้อสายของพระเจ้าเมเนลิกที่ 1 พระราชโอรสของพระเจ้าโซโลมอนแห่งอาณาจักรอิสราเอลโบราณ และพระนางชีบาตามตำนานฮีบรู

ใน พ.ศ.2412 อิตาลีได้เข้ายึดครองแคว้นเอริเทรียของเอธิโอเปียและประกาศให้แคว้นเอริเทรียเป็นอาณานิคมของตนเมื่อปี 2433 แต่ในสนธิสัญญาสันติภาพอิตาลียังคงยอมรับเอกราชของเอธิโอเปียต่อไป เอธิโอเปียอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าไฮเล เซลัซซี ต่อมาอิตาลีได้เข้ายึดเอธิโอเปีย เอริเทรียและโซมาลีแลนด์ โดยรวมกันเป็นแอฟริกาตะวันออกของอิตาลี

ใน พ.ศ.2484 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเจ้าไฮเล เซลัซซีได้รับความช่วยเหลือของกองทัพอังกฤษจนสามารถยึดเอธิโอเปียคืนจากอิตาลีได้เป็นผลสำเร็จ แต่อิตาลียังคงยึดแคว้นเอริเทรียไว้ ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงโดยอิตาลีเป็นฝ่ายแพ้ เอธิโอเปียจึงได้ผนวกดินแดน เอริเทรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในฐานะจังหวัด ที่ 14 จนกลายเป็นชนวนการสู้รบระหว่างชาวเอริเทรียที่ต้องการเอกราชกับฝ่ายเอธิโอเปียเรื่อยมา จนกระทั่ง พ.ศ.2536 ชาวเอริเทรียก็สามารถขับไล่ทหารเอธิโอเปียออกจากเอริเทรียได้สำเร็จและเป็นประเทศ เอกราชตั้งแต่นั้นมา

ใน พ.ศ.2541 มีการปักปันเขตแดนกันระหว่างเอธิโอเปียกับเอริเทรีย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้จึงเกิดสงครามอีกรอบที่รบกันร่วม 20 ปี จึงเพิ่งเลิกรากันไปในปีที่แล้วนี้เอง

ครับ ! ปัญหาใหญ่ของประเทศเอธิโอเปียก็คือประชากรแบ่งออกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (เผ่า) ถึง 4 กลุ่มใหญ่ และมักมีการสู้รบกันอยู่เป็นนิจทำให้ชาวเอธิโอเปียที่ต่างกลุ่มชาติพันธุ์กันนี้ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเกิดราว 2.5 ล้านคน อันเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาลเอธิโอเปียที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้เลย

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image