‘เจ้าขุน’ ซินโดรม : โดย กล้า สมุทวณิช

เดิมทีคำว่า “ซินโดรม” (Syndrome) เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่หมายถึง “กลุ่มอาการ” ที่รวมอาการผิดปกติหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งอาจจะหมายถึงสภาวะเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจก็ได้

ในภายหลังคำนี้ก็ถูกนำมาใช้อธิบายถึง “พฤติกรรมร่วม” บางประการของผู้คนที่ตกอยู่ในบางสภาวะหรือเงื่อนไขเดียวกันก็ได้ เช่นมีคำเรียกอาการตกจริตเฉียบพลันในนักท่องเที่ยวซึ่งไปเยือนมหานครปารีสเป็นครั้งแรกแล้วพบว่ามันไม่ได้เป็นเช่นในจินตนาการภาพฝันว่า “ปารีสซินโดรม”

ที่อยู่ในกระแสล่าสุดคือคำว่า “ฮ่องเต้ซินโดรม” ที่หลุดจากปากของ อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในการบรรยายพิเศษเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ซึ่งเขาได้กล่าวถึง “…นักธุรกิจที่เกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทองชีวิตไม่เคยลำบาก เป็นเหมือนพวกฮ่องเต้ซินโดรม…”

ถ้าไม่ไร้เดียงสากันจนเกินไป คงรู้กันดีว่าเขาหมายใจจะกล่าวถึงใคร

Advertisement

“ฮ่องเต้ซินโดรม” (Little emperor syndrome) มีที่มาจาก แอนดรูว์ มาร์แชล (Andrew R.C Marshall) นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเอเชียหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ได้นิยามพฤติกรรมร่วมของหนุ่มสาวชาวจีนชั้นกลางถึงชั้นสูงที่เกิดและเติบโตมาภายใต้นโยบายลูกคนเดียวว่า หลายคนมีกลุ่มพฤติกรรมที่ขาดความอดทนและระเบียบวินัย ไม่อาจยอมรับความผิดหวังได้และอาจจะแสดงออกอย่างก้าวร้าวเอาแต่ใจ ทั้งนี้เนื่องจากการเลี้ยงดูที่ประคบประหงมเป็นจุดสนใจจากครอบครัวที่มีเด็กเพียงคนเดียวในบ้าน

ใครจะมีพฤติกรรมตรงกับกลุ่มอาการฮ่องเต้ซินโดรมนี้หรือไม่ก็ว่ากันไป แต่ในฐานะที่ผม-ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงราชการ ที่แม้จะยอมรับกันตรงๆ ว่าไม่ได้มีความเจริญก้าวหน้าในทางนี้ แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาร่วมครึ่งชีวิตนับถึงตอนนี้ ก็ได้เห็น “พฤติกรรมร่วม” อย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการที่มีตำแหน่งใหญ่ปานกลางถึงใหญ่โตมาก ที่อาจจะเรียกว่าเป็น “กลุ่มอาการ” หรือ “ซินโดรม” อย่างหนึ่งก็ได้เช่นกัน

ขอเรียกกลุ่มพฤติกรรมนี้ว่า “เจ้าขุนซินโดรม” (Big Baron Syndrome) ไปพลางก่อน

“เจ้าขุนซินโดรม” เกิดได้กับคนที่ทำงานราชการหรืออยู่ในแวดวงมานาน อายุราชการสัก 15-20 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มแสดงอาการ ซึ่งแม้ว่าจะพบได้ในแทบทุกระดับชั้นยศตำแหน่ง แต่จะพบมากและชัดเจนในหมู่คนที่มีตำแหน่งระดับใหญ่เทียบเท่ารองอธิบดีขึ้นไป

อาการแรกในกลุ่มนี้ คือจักรวาลจะเริ่มหมุนรอบตัวเขา แวดวงที่เขาทำงานนั้นดูจะมีความสำคัญที่สุดยิ่งกว่าแวดวงหรืองานประเภทใด

คงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ถ้ามีแต่ค้อน คุณจะเห็นทุกอย่างเป็นตะปู” ของมาร์ชโลว์ (Abraham Maslow) กันใช่ไหมครับ นั่นคือการอธิบายอาการแรกของกลุ่มอาการเจ้าขุนนี้ได้ดี หากใครเคยคุยกับนักกฎหมายเชิงเทคนิคท่านจะได้พบว่า วิธีแก้ปัญหาของพวกเขาจะวนเวียนอยู่ที่การแก้ไขปรับปรุงหรือออกกฎหมายใหม่ หรือถ้าคุยกับนักกฎหมายสายกระบวนยุติธรรม ก็จะเห็นว่าทางแก้ปัญหาของประเทศนั้นไม่มีอะไรดีไปกว่าการอำนวยความยุติธรรม หรือแน่นอน หากท่านคุยกับทหาร สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาเชื่อว่าประเทศต้องการ คือ “ความมั่นคง”

แม้ว่าการที่คิดว่าการงานหรือเครื่องมือของตัวเองสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องทุกอย่างนั้นเป็นความหลงผิดทั่วไปของคนเรา แต่เหตุที่อาการนี้มาตกหนักแก่คนในแวดวงราชการ สาเหตุส่วนหนึ่งนั่นเป็นเพราะว่า งานของรัฐและราชการมักจะเป็นงานที่ถ้าอยู่ในแวดวงใดแล้วก็จะไต่เต้าเติบโตวนเวียนอยู่ก็แต่ในแวดวงนั้น ข้อดีคือประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันงานในลักษณะเดิมหรือสภาพแวดล้อมเดิมๆ ตลอดนั้นก็จะเกิดอุปาทานลวงให้คิดว่าทั้งหลายทั้งปวงในโลกนั้นล้วนมีคำตอบหรือทางแก้อยู่ในแวดวงงานที่ตนทำนี่แหละ อาการนี้ระดับน้อยๆ อาจจะไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะมันจะทำให้เกิดความภูมิใจหรือเห็นความสำคัญของงานที่ทำ แต่ถ้าเลยเถิดไปจนถึงขนาดที่คิดว่า ประเทศชาติไม่อาจอยู่รอดได้หากตนหรือพรรคพวก หรือคนในแวดวงอาชีพของตนไม่ทำงาน

อันนี้จะเริ่มน่าเป็นห่วง

อาการที่สองของเจ้าขุนซินโดรม คือ สำคัญความเก่งกาจและความสามารถของตัวเองผิดไปเกินระดับ

จะว่าไป อาการนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ใครๆ ก็เป็น อย่างที่มีทฤษฎีอธิบายว่า มนุษย์เราจะประเมินความสามารถของตัวเองว่าเก่งกว่าหรือดีกว่าคนอื่นสูงเกินจริง เป็นกับดักอคติทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Dunning-Kruger effect เช่นคนกว่า 90% เชื่อว่าตัวเองมีทักษะหรือมารยาทการขับรถที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของคนอื่น ซึ่งในความจริงมันไม่มีทางเป็นไปได้

เพราะรูปแบบสิ่งแวดล้อมของการทำงานราชการที่ถือความอาวุโสและลำดับชั้นบังคับบัญชาที่เคร่งครัดนั้นบ่มเพาะให้เหล่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอาการเช่นนี้ได้ง่ายและชัดเจนกว่าคนในแวดวงอื่น ประกอบกับเหตุผลเดิมที่ว่า งานราชการส่วนหนึ่งเป็นการทำงานในระบบปิดที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานน้อยมาก จนโอกาสที่จะได้เจอปัญหาที่แก้หรือผ่านไม่ได้จนต้องยอมรับว่าเราอาจจะไม่ได้เก่งขนาดนั้นแทบไม่มีเลย ยิ่งถ้าในวัฒนธรรมการทำงานที่ผู้น้อยต้องก้มประณมกร (ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน) แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจที่ยิ่งคุณอยู่ในตำแหน่งสูงเท่าไร โอกาสที่คุณจะประเมินความสามารถของตัวเองสูงเกินจริงก็มากขึ้นเท่านั้น

แม้จะมีข้อโต้แย้งได้ว่าเขาก็คงเก่งจริงอยู่บ้าง ไม่งั้นคงไม่ได้เป็นอธิบดีหรือนายพล แต่ถ้าใครรู้จักแวดวงราชการและไม่ไร้เดียงสาจนเกินไป คงจะยอมรับว่า ตำแหน่งหน้าที่ของราชการส่วนใหญ่นั้นแทบจะไม่ได้ชี้วัดความรู้ความสามารถอะไรได้นอกจากบอกว่าใครคนนั้นมีความสามารถพอตัว และรู้ช่องทางการเข้าสู่ตำแหน่งและใช้มันให้ถูกจังหวะ ที่สำคัญต้อง “อยู่เป็น”

ซึ่งมันทำให้ข้าราชการระดับสูงหน่อย เข้าใจไปเองว่าตัวเองเก่งเท่าๆ กับผู้บริหารบริษัทเอกชน เพียงเพราะเขายกมือไหว้หรือกุลีกุจอทำโน่นนี่ให้เวลาเข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่รัฐจัดกันเองเช่นเดียวกัน

อาการที่สาม ซึ่งอันนี้อาจจะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนในแวดวงราชการเลยก็ว่าได้ คือ ชอบใช้คำใหญ่คำโตโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ความหมาย เห็นเขาพูดกันก็พูดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำใหญ่คำโตที่เป็นศัพท์เฉพาะในทางธุรกิจ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางราชการจะเรียกว่าขาดเลยก็ว่าได้

ถ้าใครอยากรู้ว่าคำใหม่คำไหนเข้ากระแสหลักหรือยัง ให้ดูได้ว่า “ทางราชการ” เริ่มเอาไปใช้หรือยังก่อนหน้านี้ก็มี นวัตกรรม ยั่งยืน บูรณาการ เก่ากว่านั้นก็โลกาภิวัตน์

ในปัจจุบันคำว่า “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) “บล็อกเชน” (Blockchain) และ “บิ๊กดาต้า” (Big Data) นั้นกำลังเริ่มมา ซึ่งอันนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะใครๆ เขาก็พูดกัน แต่มันอยู่ที่ว่า เวลาตัวข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐเอาไปพูดไปใช้บ้าง มันกลับผิดฝาผิดตัวเหมือนไปลักคำของเขามาใส่ความหมายใหม่เอาตามใจชอบ ครั้งหนึ่ง ผมเคยเห็นกรมอะไรสักอย่างที่มีหน้าที่ส่งเสริมการค้าภายใน จัด “งานมหกรรม Startup และ SME” แต่พอเข้าไปดูในงาน กลายเป็นตลาดนัดขายกล้วยหอมส้มโอไปเสียอย่างนั้น

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่ระดับผู้นำเหล่าทัพจะเข้าใจว่า การทำบิ๊กดาต้า คือการสร้างกระแสในโลกโซเชียลด้วยการถล่มถมเถข้อมูลซ้ำๆ เพื่อชี้นำทางความคิดหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ที่น่าแปลกใจคือ ท่านก็ช่างกล้าพูดแบบไม่กลัวคนที่เขารู้เรื่องจะฟังแล้วมองบนเสียด้วย อาจจะเพราะมั่นใจว่าคัดผู้ฟังมาหมดแล้วก็ไม่รู้ แต่นั่นแหละ ข้าราชการหรือคนของรัฐที่ติดในอาการเจ้าขุนซินโดรมนี้ ก็จะไม่กลัวที่จะพูดอะไรผิดๆ แบบนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความสำคัญตนผิดแบบ Dunning-Kruger effect ที่มาจากวัฒนธรรมขององค์กรหรือการปกครอง

สิ่งที่จะช่วยป้องกันเจ้าขุนซินโดรมได้ประการหนึ่ง ก็คือการที่ข้าราชการและคนทำงานในแวดวงของรัฐ จะต้องเข้าใจและยอมรับในเรื่องหนึ่งว่า งานของทางราชการหรืองานของรัฐส่วนใหญ่ เป็นงานในเชิงสนับสนุนหรือหล่อเลี้ยงรักษาระบบและรัฐ แน่นอนว่าเป็นงานที่สำคัญจำเป็น ซึ่งในบางเรื่องก็ขาดไม่ได้จริงๆ เช่น งานด้านความมั่นคง ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความยุติธรรม งานเชิงอำนวยการปกครอง และบริการสาธารณะที่ไม่สร้างกำไรอื่นๆ

แต่สิ่งที่คุณต้องไม่ลืมก็คือว่า งานของราชการนั้นไม่ใช่งานที่สร้างผลผลิต ความมั่งคั่ง หรือกำไรในตัวเอง งานของเราเป็นงานที่เอื้อให้คนอื่นได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้โดยสะดวกปลอดภัย เช่นการที่ชาวนาชาวสวนสามารถเพาะปลูกผลิตผลได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องกลัวใครมาปล้นชิง ก็เพราะมีตำรวจและกระบวนยุติธรรมคอยรักษากฎหมายไว้ให้ ภาพไกลกว่านั้นก็คือทหารผู้ปกป้องอธิปไตย

หากลำพังถ้ามีแต่ตำรวจทหารแต่ไม่มีใครปลูกข้าวเลี้ยงไก่ เราก็ไม่มีอะไรจะกิน หรือพูดให้ตรงกว่านั้น คือ สมมุติมีประเทศสุดโต่งสองประเทศ ประเทศแรกมีแต่ชาวนา ประเทศที่สองมีแต่ทหาร ประเทศที่มีแต่ชาวนามีโอกาสที่ผู้คนจะอยู่ได้นานกว่า แม้ในที่สุดอาจจะถูกประเทศทหารมาแย่งชิงข้าวปลาไป แต่ประเทศทหารที่มีแต่ผู้คนซึ่งหิวโหยอ่อนล้า ประเทศเช่นนั้นอาจจะมีความมั่นคงไม่มีใครมาปล้นชิงหรือละเมิดอธิปไตย แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่เพราะแสนยานุภาพ หากเพราะไม่มีใครอยากก่อสงครามที่ไร้ประโยชน์กับประเทศที่อดโซไร้ทรัพยากรหรือผลผลิต

ถ้าคิดได้อย่างนี้ คุณคงจะไม่ไปพูดพล่อยๆ ท้าให้คนมาจับดาบจับปืน ทั้งๆ ที่พวกเขานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน จับเคียวเกี่ยวข้าว สอนหนังสือให้เด็กๆ ของเรา หรือแม้แต่รักษาทหารผู้เจ็บป่วยทางจิตด้วยเหตุต่างๆ

ยิ่งถ้าใครทำงานรับเงินเดือนจากรัฐมาแทบทั้งชีวิต อันเป็นเงินหรือรายได้ที่ไม่ได้ชี้วัดความสามารถในการผลิตหรือสร้างสรรค์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเงินที่รัฐเจียดจ่ายมาจากภาษีของผู้ผลิตและสร้างสรรค์ เพื่อรักษากระบวนการกลไกของระบบ ผู้รับเงินเดือนจากรัฐเช่นนี้ ไม่ควรอวดเก่งไปชี้หน้าว่า นักธุรกิจที่ไหนไม่เคยเจอความยากลำบากเพียงเพราะเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ก็เป็นนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่จะต้องหาเงินมาเลี้ยงมาจ่ายเงินเดือนให้คนตั้งแต่หลักสิบยันหลักแสน แล้วคุณกล้าดีอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณเองได้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากเชื้อครรภ์แห่งความมั่งคั่งอันคลุมเครือที่เขานินทากันทั้งประเทศ

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image