เดินหน้าชน : เตรียมรับมรสุม ศก. : โดย สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทย จากหลายสถาบัน มองตรงกันว่า นับจากนี้จนถึงปี 2563 จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ส่วนจะแรงและหนักหน่วงแค่ไหน ขึ้นกับหลายปัจจัย

โดยเฉพาะการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ล่าช้ากว่าแผนมานานหลายเดือน

แต่เชื่อว่าน่าจะผ่านการพิจารณาของสภา เพื่อนำไปเร่งใช้บรรเทาปัญหาต่างๆ ของประชาชนให้ทุเลาลงบ้าง

Advertisement

แม้จะมีงบประมาณทยอยออกมาหมุนเวียนในระบบ

แต่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ เพราะเป็นเพียงรายจ่ายประจำเสียส่วนใหญ่

แต่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีฝีมือบริหารประเทศ ในยุคโลกหมุนเร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยีขณะนี้ได้อย่างไร

Advertisement

มีรายงานจาก อีสต์ เอเชีย แอนด์ แปซิฟิก อีโคโนมิก อัพเดต ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ของธนาคารโลกกำลังมองความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการหลักๆ เช่น อีอีซี

รายงานดังกล่าวระบุว่า เมื่อพิจารณาโดยพื้นฐานแล้ว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังว่าการลงทุนภาครัฐ จะเริ่มกลับมาเมื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เริ่มดำเนินการ

ประเด็นนี้ทำให้นึกถึง โครงการยักษ์อย่าง ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน โครงการที่คนในรัฐบาลบอกเองว่า ถ้าเกิดขึ้นไม่ได้ อีอีซีก็ไม่เกิด

หลายคนสงสัยว่า เล่นเกมอะไรกันอยู่ ประมูลเสร็จตั้งนานแล้ว แต่ไม่เซ็นสัญญากันซักที

โครงการใหญ่ระดับแสนล้านขนาดนี้ ระบุรายละเอียดขนาดนี้ แต่ทำไมยังยึกยักกันอยู่ได้ หรือมีอะไรในกอไผ่

หรือจะเป็นเพราะมีการขัดผลประโยชน์กันในกลุ่มทุนพรรครัฐบาล ในสถานการณ์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้อำนาจต่อรองแกนนำ รบ. น้ำหนักไม่ค่อยดีหรือไม่

ธนาคารโลกมองในประเด็นสถานการณ์ความเสี่ยงด้านการเมืองนี้ ว่า มีแนวโน้มที่ทิศทางไม่ค่อยดี ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอันจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจอยู่ต่อไปถึงความเหนียวแน่นของรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมมาจาก 19 พรรคการเมือง

และยังมองอีกว่า ความล่าช้าของการดำเนินงานตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐอาจส่งผลในทางลบต่อมุมมองของนักลงทุนและความมั่นใจของผู้บริโภค

ดังนั้นในสถานการณ์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่ดันมาเจอมรสุมเศรษฐกิจโหมกระหน่ำแบบนี้อีก

ทำให้นึกถึงคำแนะนำของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี แนะนำให้งัด “ห่วงยาง” มาช่วยพยุงให้รอด คือการเร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน

ตอนนี้สำหรับรัฐบาลสภาพทุลักทุเลเช่นนี้ ในแง่การเมือง ใครจะพูดอย่างไรก็อย่าไปสร้างประเด็นมากนัก เพราะเรื่องสำคัญอย่างเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องพยายามสร้างบรรยากาศเมืองไทยให้น่าลงทุนให้ได้

ไม่ใช่คนของรัฐบาลมาสร้างปัญหาซะเอง ต้องพยายามสลายขั้วการเมืองในเชิงเศรษฐกิจ รับฟังทุกความเห็นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติหนีสงครามการค้ามาแถวๆ บ้านเราเยอะ กำลังตัดสินใจว่าจะมาจอดป้ายลงทุนที่ประเทศไทยหรือเพื่อนบ้าน

ถ้ารัฐบาลยังอืดอาดยืดยาด คิดแต่เรื่องการเมืองย้อนยุคให้เด็กๆ มันด่าไปวันๆ เราจะยิ่งโดนเพื่อนบ้านฉกนักลงทุนไปกิน และแซงขึ้นหน้าไทยทีละประเทศไปเรื่อยๆ

แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าประชาชนจะเดือดร้อนหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

เพราะขนาดมีเสียงเตือนจากสถาบันระดับโลกหลายแห่งให้เตรียมรับแรงกระแทกจากมรสุมเศรษฐกิจโลกขนาดนี้แล้ว

ตอนนี้รัฐบาลควรมองการณ์ไกล รีบผลักดันโครงการสำคัญๆ อย่างเรื่อง ไฮสปีดเทรน 5จี รถยนต์ไฟฟ้า ให้สำเร็จโดยเร็ว จะช่วยให้ไทยมีแรงสปีดด้านเศรษฐกิจกว่านี้เยอะ

ถ้ารัฐบาลยังต้วมเตี้ยม ไม่รีบหาทางรับมือและรุกอย่างจริงจัง ปล่อยให้ปัญหาเลวร้ายกว่านี้อีกละก็

นึกภาพไม่ออกเลยว่า ตอนจบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแลนดิ้งหรือลงจอดได้อย่างสง่างาม หรือหัวทิ่มลงมา เพราะมีคนช่วยส่งลงมา แบบร่วงไม่เป็นท่า

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image