การเมืองดิสรัปชั่น โดย เฉลิมพล พลมุข

วิถีชีวิตของมนุษย์หรือคนเราในโลกยุคปัจจุบันนี้ย่อมจักต้องเกี่ยวเนื่องกับภาวะต่างๆ หรือหลากหลายในบริบทของชีวิตทั้งระบบสังคม ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและระบบเทคโนโลยีที่ไร้ขอบเขตและสามารถเข้าถึงได้อย่างมิได้ยากยิ่งนัก ภาวะของสังคมองค์ความรู้ที่มีอย่างมิได้จำกัดขณะเดียวกันมนุษย์เราก็ยังมีมิติที่เป็นนามธรรมที่อาจจักเข้าถึงได้ อะไร สิ่งใดคือความสมดุลของชีวิต

ดิสรัปชั่น (Disruption) มีอยู่หลายนัยยะแห่งความหมายทั้งความแตกกระเจิง การทำให้หยุดชะงัก การทำให้แตกออกเป็นชิ้นๆ ความแตกแยก ความยุ่งยาก ภาวะที่ถูกทำให้แตกแยกออกเป็นส่วนๆ แม้ศัพท์บัญญัติในทางการแพทย์หมายถึงการแตกตัวของอวัยวะ ชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงระบบเส้นประสาทที่ขาดออกจากกัน ในเชิงของสังคมการเมืองที่มีภาวะดังกล่าว ระบบความคิด ความเชื่อ ความรู้ ประสบการณ์ทั้งของประชาชนที่ต้องไปลงคะแนนเสียงของตนเองเพื่อให้ได้มาถึงนักการเมืองที่คาดหวัง กับนักการเมืองเองที่ต้องการอำนาจ ตำแหน่ง ผลประโยชน์ทางการเมืองดูเสมือนจักหาทางลงตัวที่ยากยิ่ง มิอาจจักรวมถึงภาวะที่ขัดแย้งกันทางการเมืองจนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงชื่อเสียงของบ้านเมืองที่มิอาจจะประเมินค่าได้

การที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ได้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่กองบัญชาการกองทัพบกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา หลากหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการบรรยายดังกล่าวทั้ง Hybrid Warfare หรือสงครามลูกผสมทั้งกองกำลังของรัฐบาลก็คือเหล่าทหารที่ต้องทำงานเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศและทหารรบพิเศษ (Special Forces) ที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษเพื่อสู้กับการก่อการร้าย การปฏิบัติการรบในสงครามนอกรูปแบบ…

การบรรยายดังกล่าวได้นำมาถึงคำถามทั้งจากสื่อมวลชนและเหล่าวิชาชีพต่างๆ ทั้งในเมืองไทยเราและนานาชาติที่ว่า ทรรศนะความเห็นของผู้บัญชาการทหารบกซึ่งถือว่าภารกิจหน้าที่ของความเป็นทหารมืออาชีพจักต้องมีวาระหรือประเด็นที่ต้องเชื่อมโยงกับระบบการเมืองด้วยหรือไม่ หรือว่าระบบการเมืองประชาธิปไตยในเมืองไทยเรายังคงมีสภาพปัญหาที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ที่นำมาซึ่งความเห็นต่างทางการเมือง การใช้สื่อที่ทันสมัยทั้งเฟซบุ๊ก
ทวิตเตอร์ ข่าวลวงเฟคนิวส์ การมีสัญลักษณ์ให้จดจำทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ชูสามนิ้ว รวมถึงประเด็นของแนวคิดคอมมิวนิสต์ จักเป็นประเด็นที่ยากต่อการสมานฉันท์แห่งการอยู่ร่วมกันของคนไทยในอนาคตหรือไม่

Advertisement

หลังจากการบรรยายของ ผบ.ทบ.จบลงไม่นานนัก นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ก็ได้เปิดเวทีบรรยายพิเศษด้วยเช่นกันในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองของประชาธิปไตย” ที่พรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาเช่นกัน การบรรยายตอนหนึ่งของเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ก็คือ…

วันนี้โลกไร้พรมแดนมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของประชากร เราต้องสร้างคุณค่าพื้นฐานร่วมกันใหม่ๆ เพื่อสร้างชาติ ทั้งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การพึ่งพาอาศัยกันฉันเพื่อนร่วมชาติ การเคารพความแตกต่าง หากเรายึดโยงในเรื่องนี้ได้ เราจะสามารถสร้างชาติกันอย่างสากลได้ แม้เราจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน อาจจะเคยทะเลาะกันมาบ้าง หรือสนับสนุนใครในทางการเมืองที่ต่างกันบ้าง แต่เราคือประชาชนคนไทยที่อยู่ในชาติเดียวกัน อยากชวนทุกคนให้มาสร้างชาติ สร้างแผ่นดินของเราโดยการเคารพความเห็นของคนอื่น โดยการยึดมั่นในสิทธิ เสรีภาพในความแตกต่าง…(มติชนรายวัน 14 ตุลาคม 2562 หน้า 2)

อีกตอนหนึ่งในการบรรยายดังกล่าวก็คือ เราจะฝากความหวังไว้ที่กองทัพที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย แทรกแซงการเมืองได้เสมอ พร้อมรัฐประหารทุกเวลาและยังติดอยู่ในยุคของสงครามเย็น รวมถึงจะฝากไว้กับสื่อยุยงปลุกปั่นที่เรียกว่าดาวสยาม 4.0 ได้หรือไม่ จึงอยากเชิญชวนผู้บัญชาการทหารบกและกองทัพมาร่วมพูดคุยอย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ต้องเลิกวิธีการสร้างศัตรูภายในใจ ต้องบอกว่าความเห็นที่แตกต่างกันนั้นสามารถอยู่อาศัยร่วมกัน ท่านต้องยอมรับความเป็นจริง อย่ากังวลใจกับคนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ท่านอาจจะคิดว่าผมเป็นพวกซ้ายจัดดัดจริต คนพวกนี้ชอบแต่จะศึกษาเรื่องราวปฏิวัติ ผมไม่เถียงผมศึกษาเรื่องปฏิวัติทั่วโลกเพื่อเป็นบทเรียนและพิจารณาร่วมกันว่า ทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่ตองเจอกับสถานการณ์แบบนี้…

Advertisement

กระแสทรรศนะของการบรรยายทั้งสองฝ่ายที่สื่อต่างๆ ได้ทำหน้าที่นำเสนอต่อประชาชนก็นำมาซึ่งความเห็นที่ต่างกันอาทิ นักวิชาด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งก็คือ นายสุชาติ บำรุงสุข ได้มีมุมมองดังกล่าวที่ว่า การบรรยายของ ผบ.ทบ.ให้เห็นถึงทรรศนะที่ไม่แตกต่างจากชุดความคิดของทหารในละตินช่วงทศวรรษของปี 1960-1980 ที่เรียกว่าอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง (Antipolitics Ideology) ที่ผู้นำทหารมองว่า นักการเมืองและพรรคการเมือง รวมถึงระบอบการปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นภัยที่คุกคามและกองทัพจะต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้หรือมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นข้าศึก…

ความเห็นหนึ่งของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน การที่ ผบ.ทบ.ได้มีการบรรยายดังกล่าวในภาวะโลกปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีภัยจากคอมมิวนิสต์เหลืออยู่แต่อย่างใด และหากมีจริงกองทัพก็ยังซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากประเทศจีน ที่ยังมีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองอยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นภัยคอมมิวนิสต์แต่ประการใด แถมยังต่อว่าคนไปถ่ายรูปกับ โจชัว หว่อง ที่ได้ชื่อว่าต่อต้านกับระบอบคอมมิวนิสต์ จึงไม่แน่ใจว่าจุดยืนที่แท้จริงของ ผบ.ทบ.คืออะไร…(https://www.matichon.co.th)

ในข้อเท็จจริงหนึ่งภาวะของดิสรัปชั่นได้เข้าไปในระบบต่างๆ มาตั้งแต่ยุคโบราณกาลทั้งกาลเปลี่ยนผ่านในยุคหินเก่า กลาง ใหม่ ยุคโลหะสัมฤทธิ์ เหล็ก อารยธรรมแห่งการปกครองบ้านเมืองทั้งอียิปต์ กรีก โรมัน ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สอง แม้กระทั่งระบบการเมืองการปกครองในสังคมสยามหรือไทยเราที่เปลี่ยนผ่านมาจากสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ รวมถึงเปลี่ยนผ่านการปกครองแบบปิตุลาธิปไตย ราชาธิปไตยและประชาธิปไตยแห่งความเป็นเราที่ต่างท่านต่างถวิลหามาในยุคปัจจุบัน

สังคมไทยเราได้รับการพัฒนาเปลี่ยนผ่านมาตามลำดับเป็นไปตามการพัฒนาในระดับของความเจริญระดับโลกที่รัฐบาลจักต้องทำหน้าที่ในการพัฒนาประเทศทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ คนจีนหรือคนต่างชาติที่เข้ามาทำมาหากินอยู่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยหลายคนเมื่อมาครั้งแรกได้หลบหนีเหตุการณ์ทางการเมืองและความยากจนไปแสวงหาดินแดนและโอกาสใหม่ของชีวิต “เสื่อผืนหมอนใบ” เป็นวาทะหนึ่งของเจ้าสัวหลายคนในเมืองไทยเราที่มีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ มีฐานะที่มั่นคงของชีวิตมิอาจจักรวมถึงบริบทที่ต้องให้การสนับสนุนภาวะของการเมืองที่มีคำเรียกว่า ระบบทุนนิยมที่หนุนกิจกรรมการเมืองฝ่ายที่คาดหวังว่าจะเป็นรัฐบาล

เหตุการณ์ทางการเมืองในสังคมไทยเรานับตั้งแต่การปฏิวัติหรือจะมีคำเรียกว่า “อภิวัฒน์” (Revolution) จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ประวัติศาสตร์ไทยเราได้จารึกถึงการทำรัฐประหารในจำนวน 13 ครั้ง ในวันเวลาดังกล่าวมาจนกระทั่งครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีในวันเวลาต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในวาระที่สอง…

ผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านบางท่านมีข้อสังเกตหนึ่งที่ว่า ภาวะของการเมืองในสังคมไทยเราตลอดระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน 87 ปี หลัง พ.ศ.2475 มาถึงปัจจุบันการต่อสู้แย่งชิงถึงอำนาจผลประโยชน์ชาติในการเป็นรัฐบาลของนักการเมืองบางคน บางพรรคการเมืองแม้นมาถึงปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในข้อเท็จจริง การปฏิวัติรัฐประหารที่กระทำโดยทหารในระดับสูงสุดของกองทัพที่มีตำแหน่ง อำนาจการบังคับบัญชา พรรคพวกเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง มิอาจจักรวมถึงระบบทุนนิยมที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของการรัฐประหารในตรรกะเหตุผลหนึ่งก็คือ ความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอาจจักรวมถึงความเห็นต่างที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วง ปิดถนนและใช้อาวุธสงครามทำลายชีวิตและทรัพย์สิน การปฏิวัติเพื่อนำมาซึ่งความสงบจึงมีความจำเป็นหนึ่งในตรรกะดังกล่าว

สิ่งหนึ่งที่เราท่านพบเห็นได้เชิงประจักษ์ก็คือ การเปิดเผยเงินทองทรัพย์สิน จำนวนพระเครื่องต่อหน่วยงานของรัฐ รายชื่อของนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่มีทรัพย์สินที่เหลือใช้ตลอดการมีชีวิตลมหายใจ ขณะเดียวกันประชาชนชาวบ้านที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพในรายวัน ซึ่งข้อเท็จจริงหนึ่งในวันเวลาที่ผ่านมารัฐมักจะมีข้ออ้างถึงระบบเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำจนกระทั่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในภาพรวม การทำมาค้าขายของชาวบ้านมีความฝืดเคือง ตามถนนหนทางมีการประกาศขายบ้านที่ดิน ร้านค้าอยู่แทบทุกหัวเมือง การฆ่าตัวตายของประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ คดีอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า ยังคงเกิดขึ้นรายวัน คุกตะรางเรือนจำเป็นสถานที่อยู่ของผู้ต้องโทษยังคงมีประชากรเข้าอยู่อย่างเนืองแน่น

การแจกเงินเพื่อช่วยสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ระบบเงินเป็นไปด้วยดี เป็นนโยบายที่ถูกที่ถูกทางหรือชอบธรรมต่อการใช้ภาษีของประชาชนไปเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองหรือไม่…

กระแสของความเห็นทั้งผู้นำของกองทัพและเหล่านักการเมือง ยังคงเสมือนมวยที่เป็นคู่ชกฝ่ายตรงกันข้ามที่มีเราท่านเป็นผู้ดูหรือผู้ชมอยู่ด้านล่างของเวที อาจจะมีคนดูมวยบางคนที่อาจจะพนันมวยบนเวทีที่ว่า ฝ่ายใดจักเป็นฝ่ายชนะคู่ต่อสู้ที่วิทยายุทธ์ สติ กำลังกายกำลังใจที่แข็งแรงกว่าฝ่ายตรงกันข้าม การดูมวยในเวทีที่เป็นเกมกีฬา เมื่อมวยเลิกคนดูก็กลับบ้าน ขณะเดียวกันมวยของการเมืองที่มีการต่อสู้กันในความคิดถึง ประชาธิปไตยของบ้านเมืองเป็นเสมือนเดิมพันทั้งระบบเศรษฐกิจ ความเป็นมืออาชีพในการบริหารประเทศ การใช้ศาสตร์ศิลป์ในการอยู่ร่วมกับคนในแผ่นดิน หลักการหนึ่งของศาสนาก็คือ ธรรมาธิปไตย เราท่านจักพบเห็นได้ในแผ่นดินที่เรียกว่า สยามเมืองยิ้มหรือไม่

การบรรยายของ ผบ.ทบ. ที่กล่าวถึง Economic Warfare คือสงครามเศรษฐกิจ สงครามการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเล็กๆ ก็ย่อมมีคนจน การทำให้คนในประเทศรวยเท่ากันนั้นยาก แต่การทำให้คนในประเทศจนเท่ากันนั้นง่าย เป็นแนวความคิดของคอมมิวนิสต์ ประเด็นดังกล่าวอยู่ในบริบทของระบบคอมมูนที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชนรากหญ้าอย่างเป็นธรรม เวลานี้คนจีนแผ่นดินใหญ่ต่างก็มาเที่ยวในเมืองในเราในตัวเลขของการท่องเที่ยวในลำดับแรก มิอาจจักรวมถึงธุรกิจจีนที่เข้ามาทำธุรกรรมในเมืองไทยอยู่ทุกหัวเมืองรวมถึงการซื้อกิจกรรมมหาวิทยาลัยไทยจากคนจีนที่ดูเสมือนจะอ่อนเพลียในการบริหารจัดการ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 รวมถึงแนะนำให้แก้ปัญหาวิกฤตการเงินในเอเชีย พ.ศ.2540 จนกระทั่งได้รับการเชิดชูจากสหประชาชาติถึงการแก้ปัญหาของคนในชาติที่เผชิญปัญหาดังกล่าว รัฐบาลได้ยินเสียงที่ชัดเจนดังกล่าวจากพ่อ ซึ่งมีปรากฏทั้งในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี และคำมั่นสัญญาอื่นๆ อย่างดีแล้วหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image