เมื่อสายลับเกาหลีเหนือ ลอบสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ย่างกุ้ง… โดย ลลิตา หาญวงษ์

ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน แห่งเกาหลีใต้

ต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.1983 เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดขึ้นที่ย่างกุ้ง เมื่อมีความพยายามลอบสังหารนายชุน ดู ฮวาน (Chun Doo-hwan) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ระหว่างเดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ และมีกำหนดการไปวางพวงหรีด ณ สุสานวีรบุรุษ (Martyrs’Mausoleum) สถานที่ฝังศพของนายพลออง ซาน ในย่างกุ้ง

คัง มิน ชุล

ระเบิดลูกใหญ่ 3 ลูกที่ถูกนำไปซ่อนไว้บนหลังคาของสุสานคร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ นักการทูต และนักข่าวไป 17 คน มีรัฐมนตรีในรัฐบาลเกาหลีใต้ 4 คน และเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้อยู่ในรายชื่อผู้เสียชีวิตด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตเป็นชาวพม่าอีก 4 คน แต่ประธานาธิบดีชุนรอดชีวิตไปได้หวุดหวิด เพราะผู้ก่อการคำนวณเวลากดระเบิดผิดพลาด ทำให้เกิดระเบิดไปก่อนที่ประธานาธิบดีชุนจะเดินทางไปถึงสถานที่จัดงานไม่นาน ภายหลัง รัฐบาลพม่าสามารถจับกุมผู้ก่อการชาวเกาหลีเหนือได้ 3 คน คนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างจับกุม และถูกส่งดำเนินคดี 2 คน หนึ่งในนั้นคือ คัง มิน
ชุล (Kang Min-chul) ซึ่งถูกศาลพม่าสั่งประหารชีวิต และลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต คังเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับเมื่อปี 2008 รวมเวลาที่เขาอยู่ในเรือนจำอินเส่ง 25 ปี เป็นนักโทษการเมืองที่อยู่ในเรือนจำนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและเกาหลีเหนือตึงเครียดอย่างหนัก รัฐบาลเน วินตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ และเพิ่งจะกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันอีกครั้งเมื่อปี 2007 หลังการไต่สวนในศาลพม่า นักวิเคราะห์ทั่วโลกพุ่งเป้าไปที่คิม จอง อิล (Kim Jong-il) บุตรชายของประธานาธิบดีคิม อิล ซุง (Kim Il Sung) ที่ต่อมาจะเข้ารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจากบิดา แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนนัก แต่สำนักข่าววอชิงตันโพสต์เผยแพร่บทความที่ฟันธงว่าเหตุการณ์ระเบิดที่ย่างกุ้งเป็นฝีมือของคิม จอง อิลและนายทหารระดับสูงบางคน เป็นแผนที่มีการเตรียมการมาอย่างดีร่วมเดือน คณะผู้ก่อการของชุนเดินทางจากเปียงยางโดยเรือสินค้า และถึงท่าเรือที่ย่างกุ้งร่วมเดือนก่อนจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้น และซุกซ่อนอุปกรณ์ทำระเบิดในบ้านนักการทูตทหารเกาหลีเหนือในย่างกุ้ง

ก่อนประธานาธิบดีชุนเดินทางเยือนพม่าไม่นาน มีตัวแทนจากสภาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือไปเยือนพม่า และไปคำนับที่สุสานของนายพลออง ซาน ด้วย เอกสารลับของทางการสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่าการเยือนสุสานวีรบุรษในครั้งนั้นคือการเข้าไปสำรวจสถานที่เบื้องต้นเพื่อวางแผนลอบสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก่อนวันเกิดเหตุ 3 วัน ผู้ก่อการทั้ง 3 คนนำระเบิดที่ซุกซ่อนไว้ในบ้านพักทูตทหารเกาหลีเหนือแถบเขตอาโลน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของย่างกุ้ง ไปไว้ที่ทะเลสาบกันดอจี ไม่ไกลจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น หลังจากนั้นจึงนำระเบิด 3 ลูกไปซุกซ่อนไว้บนหลังคาของสุสาน และวางแผนจุดระเบิด
โดยใช้รีโมตคอนโทรล

Advertisement

เช้าวันที่ 9 ตุลาคม 1983 คณะผู้ก่อการซ่อนตัวอยู่ในสวนข้างๆ สุสานวีรบุรุษ และให้ซิน โบ (Zin Bo) ผู้ก่อการคนหนึ่งซึ่งถือรีโมต เข้าไปปะปนกับผู้คนในงานวางพวงมาลา เมื่อกดรีโมตแล้ว ปรากฏว่าระเบิดใช้งานได้เพียงลูกเดียว แต่ก็มีพลานุภาพเพียงพอทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากดังที่กล่าวไปแล้ว และมีผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 50 คน ด้านประธานาธิบดีชุนเดินทางมาถึงพิธีสายไปไม่กี่นาที จึงรอดตายอย่างปาฏิหาริย์

หลังเกิดระเบิดขึ้น ผู้ก่อการ (ที่ยังไม่ทราบว่าตนกดระเบิดเร็วไปไม่กี่นาที) แยกกันและหลบหนีเพื่อขึ้นเรือสินค้าที่รออยู่เพื่อกลับเกาหลีเหนือ ซิน โบ คนกดรีโมต หนีไปทางคลองปะซูนด่อง แต่ไม่เจอเรือสินค้าที่นัดไว้ จึงถูกจับได้ ซุนพยายามใช้ระเบิดฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ มือขาดสองข้าง ขาขาดข้างหนึ่ง และสูญเสียตาอีกข้างหนึ่ง ด้านผู้ก่อการอีก 2 คน หลบหนีไปทางทิศใต้ของเมือง ผู้ก่อการรายหนึ่งใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย และอีกรายหนึ่ง (คัง มิน ชุล) ถูกไล่ล่าอย่างหนัก แต่ถูกจับได้ในที่สุด คังเป็นผู้ก่อการคนเดียวที่ยอมปริปากพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ซิน โบ ที่บาดเจ็บสาหัส ปฏิเสธไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ จึงถูกตัดสินประหารชีวิต และถูกแขวนคออยู่ในเรือนจำอินเส่งนั่นเอง

หากพม่าในยุคนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้ระบอบเน วิน ผู้ก่อการทั้ง 3 คนอาจมีชีวิตรอดและหลบหนีออกจากพม่าได้ แต่เพราะในเวลานั้น พม่าเป็น “ฤๅษีแห่งเอเชีย” ปิดประเทศมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ชาวพม่าจึงไม่เคยชินกับชาวต่างชาติ ชาวบ้านที่เห็นชาวเกาหลีเหนือทั้งสามจึงเร่งแจ้งทางการให้ไล่ล่าชาวต่างชาติที่สงสัยว่าเป็นหน่วยสืบราชการลับเกาหลีเหนือที่ทางการพม่าต้องการตัวอยู่

Advertisement

ตลอด 25 ปีในเรือนจำอินเส่ง คังเป็นนักโทษชั้นดี เขาได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องอยู่รวมกับนักโทษทั่วไป และมีบ้านพักของตนเองอยู่ในเรือนจำ เขาเป็นที่รักของนักโทษคนอื่นๆ และเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ในเรือนจำ ว่ากันว่าเน วินพูดคุยกับคังถูกคอ (คังเรียนรู้ภาษาพม่าในเรือนจำและพูดได้อย่างคล่องแคล่ว) จึงอนุญาตให้คังใช้
ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข และยังปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ยอมมอบตัวคังกลับไปให้ทางการเกาหลีใต้ แต่แม้รัฐบาลพม่าจะปฏิบัติต่อคังอย่างดี แต่กว่า 2 ทศวรรษในเรือนจำ ไม่เคยมีชาวเกาหลีเหนือคนใดที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมคังเลย ในบั้นปลายของชีวิตของคัง นักวิชาการเกาหลีใต้ผู้หนึ่งนามว่า รา จอง ยิล (Ra Jong-yil) ที่เคยอ่านเรื่องราวของคังโดยบังเอิญ อาสาเจรจากับรัฐบาลพม่าเพื่อให้นักการทูตจากเกาหลีใต้เข้าไปพูดคุยกับคังได้ และนำข่าวสารเกี่ยวกับเกาหลีทั้งสองไปเล่าให้คังฟัง รายังพยายามเจรจาให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวคัง แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่กระตือรือร้นและไม่ต้องการมีปัญหากับเกาหลีเหนือเพิ่มเติม จึงเมินเฉย รามองว่าคนอย่างคังคือเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างอีลีทของเกาหลีทั้งสอง

การเก็บคังไว้ในเรือนจำจึงสะดวกกว่า ดีกว่าให้มีใครขุดคุ้ยเรื่องในอดีตเพื่อนำมาเป็นประเด็นให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ขุ่นข้องหมองใจกันอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image