คนญี่ปุ่นหายปีละเกือบครึ่งล้าน! โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ครับ เข้าใจไม่ผิดหรอก คนญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นหายไปจริงๆ ปีละเกือบ 5 แสนคนหรือเกือบครึ่งล้าน

และกำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่วิตกกังวลของประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องของปัญหาสังคมสูงอายุและการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าประเทศญี่ปุ่นได้เข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุมานานแล้ว ก่อนประเทศใดๆ ในเอเชีย

ในปี 2561 ประชากรญี่ปุ่นลดลงประมาณ 4.4 แสนคนซึ่งนับเป็นจำนวนมหาศาลที่สุดที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 1.36 ล้านคน ในขณะที่จำนวนคนเกิดใหม่ลดลงเหลือปีละ 9 แสนคน

Advertisement

ตรงนี้ก็จะพอมองเห็นแล้วว่าประชากรของญี่ปุ่นจะหดตัวปีละเกือบ 5 แสนคน

เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ราวๆ ปี 2488) baby boom หรือยุคทารกรุ่งครั้งแรกญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ประมาณปีละ 2.5 ล้านคน และต่อมา ยุคทารกรุ่งครั้งที่สอง เกิดขึ้นราวๆ ปี 2518 ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ปีละ 2 ล้านคน และนับจากนั้นมาจำนวนเด็กเกิดใหม่ของญี่ปุ่นก็ลดลงเนื่องจากจำนวนสตรีที่เกิดเมื่อยุคทารกรุ่งครั้งที่สอง (ปี 2518) ขณะนี้ก็มีอายุประมาณ 49 ปี ซึ่งพ้นวัยเจริญพันธุ์แล้วจึงเป็นการยากที่จะกลับมามีบุตรกันใหม่ จำนวนสตรีในวัยเจริญพันธุ์ที่ลดลง
ย่อมมีผลให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ในปี 2561 อัตราเจริญพันธุ์รวมหรือจำนวนบุตรในช่วงชีวิตสตรี 1 คนของญี่ปุ่น เท่ากับ
1.42 โดยลดลงมาจาก 1.44 ในปี 2559 และ 1.43 ในปี 2560 เมื่อเทียบกับอัตราเจริญพันธุ์ที่จะรักษาขนาดประชากรของญี่ปุ่นเท่าเดิม คือ 2.07 (อัตราเจริญพันธุ์ในประเทศไทย คือ 1.54 ในปี 2562 ซึ่งก็นับว่าต่ำน่าห่วงอยู่แล้ว)

เมื่ออัตราตายหรือจำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้น เด็กเกิดใหม่น้อยลง ประชากรของญี่ปุ่นจะหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่ำกว่าปีละครึ่งล้าน จำนวนประชากรญี่ปุ่นสูงสุดเมื่อ 9 ปีที่แล้ว (ปี 2553) คือ 128 ล้านคน ลดลงเหลือ 126.7 ล้านคนในปี 2560 และในปี 2561 ลงเหลือ 125.2 ล้านคน (ไม่นับคนต่างชาติ) คาดว่าในปี 2562 น่าจะเหลือ 124.7 ล้านคน รัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าประชากรจะลดลงเหลือ ต่ำกว่า 100 ล้านคนในอีก 34 ปีข้างหน้า

Advertisement

ในภาพรวม จำนวนประชากรใน 41 จังหวัด จาก 47 จังหวัด มีจำนวนประชากรลดลง โดยฮอกไกโดเป็นจังหวัดที่ประชากรลดลงมากที่สุด และ เขตชนบทจะได้รับผลกกระทบจากการลดลงของประชากรมากกว่าในเมือง (ทั้งนี้การสำรวจได้นับแรงงานต่างชาติและนักศึกษาที่พำนักอยู่นานเกิน 3 เดือนด้วยแล้ว)

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประชากรที่เหลืออยู่นั้นเป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งญี่ปุ่นจัดว่าเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มที่ (Super aged society)

ผลกระทบของการลดลงของประชากรและการเป็นสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นอาจมีมานานแล้วแต่ปัจจุบันปัญหายิ่งทวีคูณและซับซ้อนยิ่งขึ้น
ปัญหาเรื้อรังของญี่ปุ่นคือการดูแลและสวัสดิการผู้สูงอายุ อายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน คือ 81 ปีสำหรับผู้ชายและ 87 ปี สำหรับผู้หญิง และผู้หญิงสูงวัยมีมากกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 88 ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีผู้สูงวัยอายุ 100 ปีขึ้นไปถึง 71,238 คน รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่า อีก 4 ปีข้างหน้า ประชากรอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป เกิน 1 แสนคน
และจะเพิ่มถึงเกือบ 2 แสนคนในอีก 5 ปีต่อจากนั้น

ภาระการดูแลและสวัสดิการผู้สูงอายุยังไม่เคยลดลงและมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น จนในปีนี้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจขึ้นภาษีบริโภคจาก 8 เปอร์เซ็นต์เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงการคลัง ญี่ปุ่นแถลงว่า เนื่องจากภาวะสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดที่น้อยลง คนวัยทำงานรุ่นปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและมีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ตอนนี้คนทำงานรุ่นปัจจุบันรับภาระหนักขึ้นทุกปีในด้านการจ่ายเงินประกันสังคมซึ่งต้องเอาไปใช้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ ถ้าขึ้นภาษีเงินได้หรือภาษีนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นแหล่งงบประมาณ จะทำให้ภาระกระจุกตัวอยู่กับคนรุ่นนี้มากกว่าเดิม ขณะที่ภาษีบริโภคมีลักษณะเป็นการกระจายภาระอย่างกว้างขวางแก่ทุกคนในประเทศ
รวมถึงผู้สูงอายุด้วย โดยช่วยกันจ่ายแบบไม่เจาะจงภาระให้ตกเป็นของคนเฉพาะกลุ่ม จึงมองได้ว่าเป็นแหล่งรายรับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าภาษีเงินได้และภาษีนิติบุคคลมีแนวโน้มลดลงเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี แต่ภาษีบริโภคไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจเท่าใดนัก

ที่จริง ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือกำลังแรงงานญี่ปุ่นกำลังหดหายและเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมและอาชีพ หลายเมืองของญี่ปุ่นประชากรกำลังหดตัวถ้วนหน้า

เครื่องมือทางนโยบายที่สำคัญที่ญี่ปุ่นกำลังนำมาใช้ทั้งๆ ที่อึดอัดพอสมควร คือ การเปิดรับแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นระมัดระวังในการรับแรงงานไร้ทักษะเข้าประเทศ และมีการจำกัดการให้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวรให้กับแรงงานมีทักษะด้วย

มาบัดนี้ สถานการณ์บังคับให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งคนต่างด้าว แม้จะเป็นสมัยของหุ่นยนต์ก็ตาม

ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายใหม่ เพื่อให้ชาวต่างชาติใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้เป็นเวลา 5 ปี แต่วีซ่าประเภทนี้เป็นแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะ และอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นเฉพาะในงานที่กำหนดเท่านั้น เช่น เกษตรกรรม งานก่อสร้าง การท่องเที่ยวและการโรงแรม และงานพยาบาล ซึ่งขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่นี้ แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะสำหรับอุตสาหกรรมที่ขาดแแรงงาน จะได้รับวีซ่าให้เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี นอกจากนี้ หากเป็นแรงงานที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมและสอบภาษาญี่ปุ่นผ่าน จะสามารถนำครอบครัวมาพำนักด้วยได้ และอาจจะได้รับสถานะ ผู้อยู่อาศัยถาวร หรือ PR ด้วย

โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็วที่สุด และอาจเริ่มบังคับใช้ในเดือนเมษายนปีหน้า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงกฎนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะยกเครื่องนโยบายคนเข้าเมืองในภาพรวม และจะไม่มีการอพยพเข้าเมืองขนาดใหญ่

ตัวเลขรัฐบาลญี่ปุ่นแจ้งว่า ในปี 2560 ญี่ปุ่นมีแรงงานต่างด้าว 1.28 ล้านคน เพิ่มจากสิบปีที่แล้วถึงสองเท่า ในจำนวนนี้ 4.5 แสนคนไม่ใช่แรงงานต่างด้าวแท้ๆ แต่เป็น คนต่างชาติที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่น หรือไม่ก็เป็นคนญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีที่มาตั้งรกรากในญี่ปุ่นนานแล้วรวมทั้งชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น ในขณะที่อีก 3 แสนคน เป็นนักเรียนซึ่งรัฐบาลอนุญาตให้ทำงานพาร์ตไทม์ได้แต่ต้องกลับประเทศทันทีที่เรียนจบ

ปัจจุบัน จำนวนชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 2.66 ล้านคน เกินกว่าร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จำนวนชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด โดยโตเกียวมีจำนวนชาวต่างชาติอาศัยอยู่มากที่สุดที่ราว 550,000 คน ตามมาด้วยจังหวัดไอจิที่ราว 250,000 คนและจังหวัดโอซากาที่ 230,000 คน

เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า แรงงานต่างด้าวนั้น อย่างไรเสียก็เป็นที่พึ่งของประเทศได้ ถ้าบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image