ที่เห็นและเป็นไป : ‘คุณค่าใหม่’ ที่ถูกมองข้าม : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แม้จะมีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไม่มีสถานะของนายกรัฐมนตรี เรื่องจากยังถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้อยความตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ ตาม “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563” ที่เสนอให้สภาพิจารณาได้

แต่นั่นเป็นเพียงความคิดของนักการเมืองบางคน ซึ่งแม้จะมีคนสนใจเข้ามาติดตามและแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาอะไร

ความเป็นไปหลักของการประชุมสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯดำเนินไปด้วยความราบรื่น ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายทั้งติงในเรื่องที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ขณะที่รัฐมนตรีเวียนกันมาชี้ให้ดูผลงานที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชน

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีความเชื่อกันว่าการอภิปรายงบประมาณเที่ยวนี้จะดุเดือดเข้มข้น เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะรุนแรงน่าจะกดดันให้สภาอภิปรายให้เห็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา

Advertisement

เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว

แม้จะมีเหตุผลมากมายที่จะหยิบขึ้นมาอ้างในการไม่ยอมรับรัฐบาล

แม้ว่าเสียงปริ่มน้ำจะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ที่หากฝ่ายค้านถือโอกาสกระตุ้นเร้าด้วยเกมรุนแรง ย่อมเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะตกที่นั่งลำบาก ด้วยปัญหาเสถียรภาพ

Advertisement

แต่ฝ่ายค้านยุคนี้ มีท่าทีที่แตกต่างจากที่ผ่านมา

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะตระหนักถึงความตกต่ำในภาพลักษณ์ของ “นักการเมือง” โดยรวม ซึ่งที่ผ่านมาทำให้ง่ายต่อการถูกนำเสนอในทางไร้คุณภาพ ชวนให้เกิดความหมิ่นแคลน เป็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยที่ทำให้ฝ่ายนิยมอำนาจหยิบยกมาโจมตี ทำให้นักการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายค้านพยายามที่จะรักษาภาพลักษณ์ที่ดีไว้ ด้วยการควบคุมให้ความเข้มข้นทางการเมืองอยู่ที่เนื้อหาการอภิปราย ไม่ใช่ท่าที

การอาละวาดทำให้การประชุมสภาปั่นป่วน จนไม่สามารถควบคุมได้เหมือนเช่นฝ่ายค้านในอดีตนิยมชมชอบที่จะใช้มาเป็นเกมการต่อสู้ จนทำให้รัฐสภาเป็นเวทีของ “ขี้แพ้ชวนตี” หายไป

ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ให้ความเคารพต่อมารยาทการอภิปราย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำลายความน่าเชื่อถือของประธานที่ประชุมเหมือนที่เคยทำกันมาก่อนหน้านั้น

นี่เป็นนิมิตหมายที่ดีของการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับนักการเมือง

ทว่าเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะสามารถทำให้เป็นบทบาทควบคุม หรือ “คานอำนาจรัฐบาล” ได้หรือไม่

ท่าทีที่ไม่ก้าวร้าวรุนแรง มารยาทที่ไม่กักขฬะควรจะเป็นสิ่งที่ใช้ทำหน้าที่อย่างได้ผล คือทำให้รัฐบาลไม่ฝืนที่จะดันทุรังไปกับสิ่งที่อธิบายด้วยเหตุผลแล้วเห็นชัดว่าขาดความชอบธรรม

แต่นั่นย่อมหมายว่า บทบาทที่ดีงามของสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้ จะต้องได้รับการยอมรับจากฝ่ายบริหาร

ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่ไม่ต้องอาศัยความกักขฬะ และท่าทีรุนแรงมาเป็นเครื่องมือในการทำหน้าที่ให้ได้ผล

การทำหน้าที่ด้วยความสุภาพเรียบร้อย ไม่มีวันได้ผล หากมีรัฐบาลที่ไม่ฟังเหตุฟังผล ถือตัวว่าเป็นใหญ่ ลุอำนาจกระทำแต่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง

การเมืองไทยจะพัฒนาพ้นไปจากความกักขฬะได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับทุกฝ่าย

ฝ่ายค้านที่เจียมเนื้อเจียมตัวในท่าที แม้จะเข้มข้นในเนื้อหา ย่อมทำหน้าที่ไม่ได้ผล

หากฝ่ายบริหารไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาภาพลักษณ์นักการเมืองร่วมกัน เห็นท่าทีที่ดีงามของฝ่ายค้าน เป็นเพียงโอกาสที่จะไม่ต้องให้ความสลักสำคัญ

คุณภาพทางการเมืองแบบ “อ่อนด้วยท่าที แต่แข็งในสาระ” ย่อมถูกมองข้ามในคุณค่า

อย่างน่าเสียดาย

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image