ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมืองงามสง่า ผังเมืองดี…อยู่ที่‘ยะลา’ : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมืองงามสง่า ผังเมืองดี…อยู่ที่‘ยะลา’ : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เทศบาลเมืองยะลา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองที่ดีและสวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย เทศบาลนครยะลา มีขนาดพื้นที่ 19 ตารางกิโลเมตร…เป็นรูปแบบผังเมืองที่น่าชื่นชม…

ถ้าได้ คนดี คนเก่ง ซื่อสัตย์ มีวิสัยทัศน์ กล้าคิด กล้าลงมือทำ มาเป็นผู้นำบ้านเมือง ผู้นำชุมชน รู้จักวางรากฐานให้สังคมมั่นคง ความรุ่งเรือง เฟื่องฟู อยู่สบายก็ตามมา

ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 เว็บไซต์ระดับโลกได้จัดอันดับผังเมืองที่มีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยทั่วโลก ผังเมือง “ยะลา” เป็นอันดับที่ 23 …ลอนดอน เป็นอันดับ 1

Advertisement

“3 เมืองต้นแบบ” ที่มีการวางผังเมืองได้ดีที่สุดในโลกตั้งแต่อดีตกาล คือ ปารีส ลอนดอน และบาร์เซโลนา ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ผังเมืองปารีส ฝรั่งเศส ประยุกต์บางส่วน มาจากอังกฤษหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปารีสถือเป็นเมืองต้นแบบในการวางผังเมืองให้สวยงาม และโดดเด่นในแง่ของการใช้งาน มีการตัดถนนในแนวตรงอย่างชัดเจน ช่วยให้การจราจรมีความคล่องตัว ทั้งเส้นหลักและเส้นรอง มีต้นไม้ร่มรื่น

ผังเมือง “บาร์เซโลนา” สเปน มีการใช้ผังเมืองเป็นแบบตาราง เป็นต้นแบบของการวางผังเมืองในเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในแถบอเมริกา

Advertisement

“กรุงแคนเบอร์รา” ประเทศออสเตรเลีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2456 (ตรงกับช่วงต้นของรัชสมัยในหลวง ร.6) เป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาให้เป็นเมืองหลวงโดยเฉพาะ เติบโตจากการวางแผนล่วงหน้า มีอนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์อยู่รายล้อมทะเลสาบ เป็นเมืองหลวงที่มีป่าไม้ เป็นที่เหมาะกับการหาความสำราญกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยาน เที่ยวชมสวน เดินป่า และชมอุทยาน

ขอแถมเป็นความรู้นะครับ…100 กว่าปีที่แล้ว รัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้มีการแข่งขันออกแบบ ผังเมือง-เมืองหลวง มีผู้เข้าร่วมการประกวดออกแบบวางผังเมืองถึง 137 ทีม จากทั่วโลก ผู้ชนะการออกแบบผังเมือง แคนเบอร์รา เป็นสถาปนิกชาวอเมริกันนามว่า Walter Burley Griffin ซึ่งวางผังเมือง กำหนดให้สร้างเมืองริมฝั่งทะเลสาบ

กรุงแคนเบอร์รา ได้กลายมาเป็นต้นแบบในการวางผังเมืองของหลายเมืองในโลกในช่วงยุคหลังๆ สวยงาม โดดเด่น ยังมีข้อดีในเรื่องการใช้งาน ที่สำคัญ การวางผังเมืองในไทยอย่าง “ลพบุรี” และ “ยะลา” ก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากผังเมืองกรุงแคนเบอร์รา

มาคุยกันเรื่องในเมืองไทยของเรา ครับ….

ชีวิตความเป็นอยู่ของ “คนในเมือง” ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด มันช่างน่าอึดอัดขึ้นทุกวัน การจราจร ตึกราม บ้านช่อง สถานที่ราชการ โรงแรม ศูนย์การค้า ระบบขนส่งมวลชนที่ต้องเบียดเสียดเยียดยัด คุณภาพอากาศที่เลวร้าย ขยะ น้ำเสีย ทางเดิน เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก มากบ้าง น้อยบ้าง

เป็นเรื่องที่ยากในปัจจุบัน สำหรับการเฟ้นหาสถานที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตอยู่อย่างสบาย ไม่แออัด เพราะมนุษย์ทุกคนหิวกระหายความสะดวกสบายแบบหาขอบเขตมิได้

มนุษย์เรียกร้อง เบียดเบียนธรรมชาติ แม้กระทั่งประชากรด้วยกันเองมาตลอด… เพื่อการใช้ชีวิตที่สุขสบายตั้งแต่เกิดจนตาย

ปัจจุบันนี้ คนไทยในเมืองทั้ง กทม.และทุกจังหวัด เริ่มตระหนักถึงเรื่อง “ผังเมืองที่ดี” เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย (พอสมควร) เพื่อความเท่าเทียม มองเห็นคุณค่า และ
เรียกร้อง “ชีวิตที่ดีกว่า”

ไม่ใคร่จะมีใครทราบว่า ยะลา เป็นเมืองที่สวยงามร่มรื่น สะดวกในการพัฒนาทุกด้าน เคยได้รับรางวัลระดับโลกของ UNESCO มาแล้ว

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอยกย่อง วิสัยทัศน์ ผลงานโดดเด่นของพระรัฐกิจวิจารณ์ ที่ยังประโยชน์สุข สร้างมรดกอันล้ำค่าให้ลูกหลานทุกวันนี้ คือ การวางผังเมืองจังหวัดยะลา ดินแดนใต้ ปลายด้ามขวานของไทย

พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร)

พระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ท่านเกิดที่ อ.คีรีรัฐนิคม (ท่าขนอม) สุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.2424 ไม่พบบันทึกประวัติการศึกษา

ท่านเคยรับราชการเป็นนายอำเภอกะเปอร์ จ.ระนอง และเป็นนายด่านตรวจคนเข้าเมือง ตำแหน่งราชการสุดท้ายคือ ข้าหลวงประจำจังหวัดยะลา ระหว่าง พ.ศ.2456-2458 ท่านเป็นข้าหลวงยะลาคนที่ 10 ระหว่าง พ.ศ.2456-2458

ต่อมาท่านลาออกราชการ แล้วได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเป็นสมาชิกสภาเทศบาล และได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อกันถึง 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ.2480-2488

ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองยะลา ท่านได้ทุ่มเท พลังสมอง ความตั้งใจจริง เพื่อสร้างเมืองยะลาให้ชาวยะลาที่เลือกท่านเข้ามาทำงาน…เน้นที่การวางผังเมือง ซึ่งในเวลานั้นแทบไม่มีใครสนใจ

ยะลา เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามที่สุด จุดเด่นของผังเมืองยะลา คือ มีถนนกว่า 400 สาย ตัดเชื่อมต่อกันเหมือนใยแมงมุม มีวงเวียนซ้อนกัน 3 วง คล้ายกรุงปารีส ฝรั่งเศส และแบ่งพื้นที่เป็นโซนนิ่งชัดเจน

ในระบบราชการไทย…การกำหนดผังเมืองเป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการ แต่แท้ที่จริงแล้ว ผังเมืองยะลา มาจากแนวคิดของพระรัฐกิจวิจารณ์ โดยมีที่ปรึกษาเป็นชาวอังกฤษมาออกแบบในรูปแบบ “วงเวียน”

พระรัฐกิจวิจารณ์ไม่เพียงแต่วางผังเมืองให้จังหวัดยะลาเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความเจริญให้แก่ตัวเมืองยะลาในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงและเป็นที่ประจักษ์ในฐานะ “คนดีศรียะลา”

ทีมงานของนายกเทศมนตรีวางผังเมืองเป็นวงเวียน 1-2 และ 3 จัดผังสำหรับก่อสร้างหน่วยราชการ และให้การสนับสนุนจังหวัดในการย้ายศูนย์ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา ศาลจังหวัดยะลา และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา จากตำบลสะเตงมาตั้งอยู่ในเขตเทศบาล

ท่านจัดหาศูนย์กลางของตัวเมืองร่วมกับบิดาของนายอดุลย์ ภูมิณรงค์ หาที่สร้างศาลหลักเมืองยะลา และยังได้ความร่วมมือช่วยเหลือสร้างสำนักสงฆ์วัดพุทธภูมิ โรงเรียนประชาบาลตำบลสะเตง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเทศบาล 1) และสถานีตำรวจบ้านนิบง

พระรัฐกิจวิจารณ์ ได้ออกแบบตัดถนนสายสำคัญๆ คือ จากสถานีรถไฟยะลา ไปยังกิโลศูนย์ (มลายูบางกอก) ช่วงที่ 1 คือ ถนนพิพิธภักดี เป็นถนนคู่มีต้นประดู่ขึ้นเรียงรายตลอดสายดูร่มรื่นสวยงาม

ถนนช่วงที่ 2 จาก หอนาฬิกาถึงกิโลศูนย์ คือถนนสุขยางค์ รวมถึงได้ตัดถนนสิโรรส ที่เป็นถนนสายเอกของเทศบาลเมืองยะลา มีเกาะกลางถนนมีทางเท้าขนาดใหญ่ มีต้นเฟื่องฟ้าสวยงาม

มีการขีดเส้น ตัดถนนสายย่อยอีกหลายสายอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ถนนยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนปราจิณ ถนนพังงา ถนนรวมมิตร

ในเมือง มีก่อสร้างสนามเด็กเล่น และสนามฟุตบอลครั้งแรก ซึ่งตั้งอยู่หน้าสำนักงานเทศบาลเก่า ปัจจุบันเป็นศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา

พระยารัฐกิจวิจารณ์ยังส่งเสริมกิจการด้านโรงแรม ตลาดสด และโรงภาพยนตร์ในเขตเทศบาล

ตลาดรัฐกิจ เป็นตลาดแห่งแรกของยะลา ช่วงแรกไม่มีคนมาขายและจับจ่ายมากนัก พระรัฐกิจไปชักชวนคนตามหมู่บ้านต่างๆ ให้นำสินค้ามาขาย โดยการจัดตลาดนัดไปตามที่ต่างๆ เข้าไปพบผู้นำของหมู่บ้านทั้งมุสลิม ไทย และจีน

(พระรัฐกิจ) คิดกุศโลบายเรียกคนเข้าเมือง เข้าหาผู้ใหญ่ทางไทยอิสลาม ผู้ใหญ่ชนเชื้อสายจีน พระรัฐกิจวิจารณ์เป็นผู้ที่ชอบเดินป่า ท่านเอารถยนต์เข้าทุกพื้นที่ เป็นการชักนำให้ผู้คนออกมาพบปะสังสรรค์ เมื่อทุกคนเข้าใจต่างตื่นตัวมากขึ้นโดยเฉพาะไทยอิสลาม ชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองเชื้อสายจีน ตามถิ่นทุรกันดาร ชนหน้าถ้ำ

ผู้คนเริ่มตื่นตัวออกมาพบปะกัน หันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาหารือกัน ช่วยเหลือกัน เมื่อทุกคนเข้าใจเจตนาดีของท่าน ทุกคนต่างตื่นตัวกันมาก ต่างนำสิ่งของเท่าที่มีตามท้องถิ่นทุรกันดาร มีผลหมากรากไม้ตามพื้นบ้าน ตามป่าเขา ข้าวปลาอาหาร คนละสิ่งสองสิ่ง ต่างนำมาขายในตลาดตามมีตามเกิด บ้างก็นำสินค้าออกมาแลกเปลี่ยน

ชนเชื้อสายจีนจะใส่คานหาบ ขนสินค้าด้วยเกวียน จากตำบล หมู่บ้านต่างๆ เดินตามกันเป็นทิวแถวอย่างคึกคัก เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของคนในท้องถิ่นและตำบลใกล้เคียง

พ่อค้าแม่ค้าในย่านตลาดยะลาคือชาวจีนซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีนอพยพจากเมืองจีน

พระรัฐกิจวิจารณ์มักจะไปพูดกับประชาชนในตลาด ด้วยภาษาท้องถิ่นและให้ผู้ช่วยของท่านแปลเป็นภาษายาวี แปลเป็นภาษาจีน ภาษาท้องถิ่น

พระรัฐกิจวิจารณ์ใช้ระบบการทำงานแบบประชาธิปไตย ต้องฟังเสียงประชาชนเท่านั้น และการดำเนินกิจการของเทศบาล จะต้องขอความเห็นจากที่ประชุมของสมาชิกเทศบาลก่อนเสมอ

ถ้าเป็นยุคสมัยปัจจุบัน ก็ต้องเรียกว่า ท่านทำ EIA แบบพื้นฐานโดยใช้สามัญสำนึก มาก่อนใครนานแล้ว

ท่านเป็นผู้มีความเสียสละทั้งเวลาและทรัพย์สินส่วนตัวให้กับราชการเป็นอย่างมาก ท่านเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์อันดีกับบรรดาข้าราชการและประชาชน วางผังชุมชนเมืองไว้ให้ชนรุ่นหลัง และก็ได้รับการสานต่อให้เทศบาลนครยะลาเป็นเมืองที่มีผังเมืองที่ดี

เมื่อผังเมืองดี การบริหารจัดการก็เป็นระบบ ระเบียบ รักษาความสะอาดได้ไม่ยากนัก

ในการวางผังเมืองและตัดถนนในเทศบาลนครยะลานั้น แต่ละซอยจะมีระยะห่างกัน เมื่อสร้างบ้าน หลังบ้านจะชนกัน แต่ตัวบ้านจะห่างกันอยู่ประมาณ 4 เมตร สำหรับเป็นที่วางขยะ สิ่งปฏิกูล ซึ่งสะดวกแก่การดับเพลิง มีลมพัดถ่ายเท

เมื่อสิ่งแวดล้อมดี สบายตา สบายใจ อะไรๆ ก็ดีไปหมด มีอากาศธรรมชาติภายในเมืองที่สวยงามร่มรื่น มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ระบบผังเมืองมีรูปแบบที่ชัดเจน
เป็นระเบียบ มีการแยกส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีสาธารณูปโภคที่ดี

ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่า ทำไมต้องมีผังเมือง…

หากผังเมืองถูกออกแบบไว้อย่างเป็นระเบียบ ตัดถนนเชื่อมต่อแบบไม่เลอะเทอะ มีช่องทางคนเดิน มีช่องทางจักรยาน มีสถานที่พักผ่อน มีท่อ มีรางระบายน้ำ คู คลอง ศูนย์การค้า โรงเรียน ที่พักอาศัย สิ่งก่อสร้างถูกตั้งในจุดที่เหมาะสม มีสวนสาธารณะ สาธารณูปโภคทั้งปวงทำขึ้นมาเพื่อ “คนส่วนใหญ่” ไม่ต้องขุด ไม่ต้องเจาะถนน ไม่ต้องกั้น แน่นอนว่าเมืองนั้นย่อมน่าอยู่และอยู่สบาย

ทุกวันนี้ มีการเรียกร้อง รณรงค์ ให้ชาวเมือง ใช้จักรยานแบบในต่างประเทศ… คนไทยในเมืองก็อยากจะใช้จักรยานไม่น้อย แต่ก็ต้องตายไปแบบ “ตายโหง” รถยนต์ชน รถทับหัวแบะ เอาหนังสือพิมพ์คลุมศพ เป็นผีเฝ้าถนน ก็มากโข เป็นที่น่าเย้ยหยัน เพราะสภาพถนนในเมือง มิได้สร้างเอาไว้ให้คนใช้จักรยาน มัน คือถนนสำหรับรถยนต์

นักขี่จักรยานชาวต่างประเทศที่ตั้งใจขี่จักรยานรอบโลก ต้องมาจบชีวิตรถชนตาย เป็นผีฝรั่งที่เมืองไทย ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ชาวกรุงใน กทม. วันนี้…เรื่องการรับ-ส่ง ลูก จากบ้านไปโรงเรียนและต้องไปเข้าที่ทำงาน….แล้วย้อนกลับในช่วงเย็น

ถ้า 3 สถานที่นี้ (บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน) ห่างไกลกัน หรือต้องไปอยู่ในโซนในกลางกรุง ก็นับเป็นความขมขื่นที่พระเจ้าองค์ไหนก็ช่วยไม่ได้ เสียสุขภาพจิต ถึงไม่ตายก็ไปนรกได้

ผังเมืองที่ดี และการเคารพ ทำตามผังเมืองที่ถูกออกแบบไว้ล่วงหน้า จะทำให้สามารถรับมือภัยพิบัติได้ง่ายขึ้น การวางผังเมืองของยะลามีลักษณะเป็นใยแมงมุม และตารางหมากรุก “โดยไม่มีซอยตัน”

พื้นที่ถนนมีความกว้าง รถใหญ่อย่างรถดับเพลิงสามารถเข้าถึงพื้นที่จุดเกิดเหตุได้ง่ายและรวดเร็ว

ผังเมืองที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการออกแบบและวางแผนมาตั้งแต่เริ่มแรก หากละเลย ปล่อยให้ก่อสร้างสะเปะสะปะ มีอิทธิพล มีผู้มากบารมีขอยกเว้นระเบียบ สิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นเต็มพื้นที่แล้ว การแก้ไขแทบจะเป็นไปไม่ได้ เหมือนหลายเขตใน กทม. ที่เต็มไปด้วยชุมชนแออัด ปลูกที่พักในลำคลอง และซอยตัน

เมืองที่ไม่มีการวางผังเมืองมาตั้งแต่แรก ผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินจึงมีอิสระในการใช้พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึก สร้างอาคารสูง ที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ก่อให้เกิดผลเสียคือ ทำให้เกิดความแออัด เกิดการสะสมของมลพิษ

ถ้าไม่มีการวางผังเมือง การสร้างสิ่งก่อสร้างจะเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง เช่น การสร้างตึกสูงอยู่ติดกันโดยไม่มีการกำหนดระยะห่างของที่ตั้งจากถนนหรือจากพื้นที่โดยรอบ ทำให้อากาศถ่ายเทยาก เกิดเป็นบริเวณอับทึบมลภาวะไม่ให้มีทางระบายออก

ถนนที่เกิดขึ้นมาใหม่เพราะความจำเป็น ไม่มีอยู่ในแผนงานมาก่อน ต้องไปรื้อถอน ขยายตรอก ซอกซอย จะเป็นถนนที่ไร้คุณภาพ

ท่านผู้อ่านน่าจะรู้สึกได้นะครับว่า…เมื่อขับรถบนถนนหลายสายใน กทม. มันคือ การขับรถไปบนฝาท่อระบายน้ำ ที่ส่งเสียงอึกทึกเมื่อฝากระแทกขอบบ่อ ไม่ราบเรียบ หัวสั่นหัวคลอน ซึ่งช่วงล่างของรถยนต์จะชำรุดในเวลาอันสั้น สิ้นเปลืองเงินทองเพื่อการเปลี่ยนอะไหล่ช่วงล่างมหาศาล

เทศบาลนครยะลา แม้จะมิได้กว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็มีหน้าตา สง่างาม เป็นเมืองน่าอยู่ และอยู่สบาย ด้วยมันสมองและสองมือของบรรพบุรุษ

เรื่องของ “การออกแบบและวางผังชุมชนเมือง” เป็นวิชาหนึ่งที่มีการเรียน การสอน ในประเทศไทย และต่างประเทศ การศึกษาวิชานี้จะสามารถวางแผน ออกแบบ ชุมชนเมืองเพื่ออนาคตที่ดี สร้างเมืองน่าอยู่ อยู่สบาย สง่างาม หลายเมืองในโลก สง่างาม โดดเด่นด้วยมันสมองของคนเหล่านี้

พระรัฐกิจวิจารณ์ถึงแก่กรรมที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2493 ด้วยโรคหัวใจวาย

ข้อมูลบางส่วนจากประวัติพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร)

การวางผังเมืองให้ดีไม่เพียงแต่จะรองรับคนได้มากขึ้น แต่ยังอำนวยในเรื่องการท่องเที่ยวเพราะหากวางผังเมืองไว้เป็นระเบียบสวยงามเมื่อมองจากที่สูงจะเห็นได้ชัดเจนน่าถ่ายรูปเก็บไว้ รวมไปถึงความสะดวกในการจัดการย่านต่างๆ เช่น ย่านนี้ถูกวางไว้เป็นย่านธุรกิจ ย่านที่พักอาศัย ย่านการค้า แน่นอนว่าหากมีการวางผังเมืองไม่เป็นระเบียบ ถนนตัดคดเคี้ยวไปมา การวางแผนและการบริหารย่านเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพจะลำบากตามไปด้วย

ผังเมืองที่ดียังส่งผลต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ด้วย การวางผังเมืองที่ดีทำให้ถนนถูกตัดอย่างเป็นระเบียบ การสัญจรเป็นไปโดยง่ายและปลอดภัย หากถนนถูกตัดคดเคี้ยว หัวโค้งถนนมีอยู่ตลอดเส้นถนนย่อมทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image