งบประมาณรายจ่ายแบบรวมศูนย์ ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศ : โดย ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม

แม้ว่าการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะได้พยายามจัดสรรงบประมาณโดยผ่านยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมไว้เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 765,209.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณประเทศ จำนวน 3,200,000 ล้านบาท กับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ไว้เป็นเงินจำนวน 571,073.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ซึ่งเห็นว่าเป็นงบประมาณมาก ที่พยายามแก้ปัญหาของประเทศไทยเรื่องการสร้างความเป็นธรรม สร้างหลักประกันทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทุกช่วงวัย และจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินกับการเข้าถึงทรัพยากร

รวมทั้งการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์ ปฐมวัย และผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาประเทศ โดยให้น้ำหนักในการจัดสรรและประมาณรายจ่ายพุ่งเป้าหมายไปเพื่อต้องการพัฒนาและเพื่อแก้ไขปัญหาที่ได้มีการกระจายงบประมาณไปตามแผนงานโครงการของหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 70 ที่รวมศูนย์รายจ่ายงบประมาณไว้ที่ส่วนกลางทั้งราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขณะที่การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับการกระจาย
อำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงร้อยละ 29.5 หรือมีวงเงินงบประมาณเพียง 804,826 ล้านบาท เท่านั้น

จึงกล่าวได้ว่าการจัดงบประมาณรายจ่ายแบบรวมศูนย์ จึงไม่อาจจะสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศได้ ทั้งนี้ เพราะการกำหนดแผนงาน โครงการเป็นเรื่องของหน่วยงานราชการที่ถูกกำหนดให้เป็นไปตามภารกิจ (function) ของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่ลงลึกและเข้าไม่ถึงรากฐานข้อมูลปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชน

เพราะฉะนั้น เห็นว่านับตั้งแต่มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในหลายทศวรรษ พบว่ายังคงมีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางตลอดมา โดยยังคงให้หน่วยราชการ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนตลอดมาเช่นกัน จึงทำให้การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของประชาชนจึงยังคงมีปัญหาต่างๆ ดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพชีวิตของประชาชน และปัญหาการกระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร เป็นต้น

Advertisement

ที่สำคัญในการจัดสรรงบประมาณที่กระจายไปรายหน่วยงานยังพบว่ามีภารกิจที่คล้ายๆ กันจนมีความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานหลายๆ หน่วยก็มาก ทั้งความซ้ำซ้อนในระดับแผนงาน โครงการ และพื้นที่ดำเนินงาน ซึ่งมีผลก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและบุคลากร ประกอบกับประสิทธิภาพการใช้งบประมาณที่จะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับทำได้ไม่ตรงจุดตรงเป้าหมายนัก

ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณและการใช้งบประมาณในแต่ละปีที่มุ่งก่อให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อให้มีการทุเลาเบาบางของปัญหาต่างๆ จึงก็ทำให้บรรลุเป้าหมายได้ยากยิ่ง การสร้างความเข้มแข็งของคนชุมชนในการจัดการตนเองนั้นก็ยิ่งเป็นไปได้ยากมาก

แต่ในทางกลับกัน ระบบราชการและรัฐบาลกำลังดำเนินการใช้งบประมาณ ในหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยิ่งเป็นการทำให้ประชาชนเสพติดการรอรับรอขอการเยียวยาจากรัฐ หรือมักมีการจัดทำโครงการในรูปแบบของประชานิยมอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ประชาชนชุมชนท้องถิ่นมีความอ่อนแอ เพราะรัฐบาลและส่วนราชการกำลังใช้เงินงบประมาณช่วยเหลือเป็นตัวตั้ง ส่วนการสร้างปัญญาเพื่อให้ประชาชนมีความพยายามที่จะจัดการตนเองนั้นดูจะทำได้น้อยมาก

Advertisement

ผมจึงเห็นว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนวิธีการใหม่ ในการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ โดยการให้น้ำหนักการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน แทนหน่วยงานของรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยต้องให้งบประมาณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากกว่าการจัดสรรงบที่เป็นอยู่

ซึ่งปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบไว้จำนวน 804,826 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.5 ของสัดส่วนรายจ่ายของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง

ดังนั้น แนวคิดใหม่ที่จะต้องพิจารณาใหม่กันก็คือ การเพิ่มเงินเพื่อจดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยต้องให้ถึงร้อยละ 35-40 โดยดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่เคยกำหนดเพดานการจัดสรรสัดส่วนงบประมาณสุทธิระหว่างรัฐกับท้องถิ่นให้ได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 35

ซึ่งในเวลาต่อมามีการแก้ไขสัดส่วนดังกล่าวนี้ออกไปและให้มีมาตรการดำเนินการลดทอนงบประมาณจากส่วนกลางในนามของหน่วยงานราชการส่วนกลางและภูมิภาคลงไป โดยเห็นว่าจะต้องทำการปฏิรูปการจัดความสัมพันธ์ระหว่างภารกิจ ว่าภารกิจใดที่รัฐบาลกลางที่มีความจำเป็นต้องจัดทำ

และภารกิจใดบ้างที่ต้องถ่ายโอนภารกิจหรือให้เป็นหน่วยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำภารกิจอะไร อย่างไร รวมทั้งดำเนินการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายให้เพียงพอกับภารกิจนั้นๆ

ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง เรื่องที่ต้องพิจารณาเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของท้องถิ่นนั่นก็คือ การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ตอบโจทย์การช่วยแก้ปัญหาประเทศและการจัดบริการสาธารณะอย่างไร ที่ก่อให้เกิดคุณภาพที่ดีกว่าส่วนราชการ เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานให้การตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะ “มีการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่น

ซึ่งควรจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายไปยังหน่วยท้องถิ่นให้ไม่เหลื่อมล้ำกันมากนัก และให้มีความรัดกุม และให้มี “การควบรวมท้องถิ่น” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งในแง่ของงบประมาณรายจ่าย ลดอัตรากำลังคน และลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานต่างๆ เป็นต้น

ผมเข้าใจว่า การสร้างความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งว่าจะทำอย่างไรให้รัฐบาล ส่วนราชการ และผู้คนทั่วไปในสังคมเชื่อมั่นว่าการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะแทนรัฐบาลประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและที่สำคัญคุณภาพการให้บริการดีกว่า และสามารถพัฒนาแผนงานโครงการที่ทำให้เกิดนวัตกรรมท้องถิ่นใหม่ๆ และเป็นแบบอย่างที่ดีเกิดขึ้นได้มาก

ซึ่งคนท้องถิ่นเองก็ต้องจัดให้มีการเผยแพร่นวัตกรรมท้องถิ่นและแบบอย่างให้แพร่หลาย นอกจากนี้คนท้องถิ่นต้องปรับวิธีคิด วิธีการทำงานเช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองกับพัฒนาคุณภาพในการทำงานที่ควรทำให้เป็นต้นแบบและมีธรรมาภิบาล

ผมจึงเห็นว่าหากรัฐบาลเชื่อมั่นท้องถิ่นและมีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาประเทศจะสัมฤทธิผล และเกิดประโยชน์กับประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้งบประมาณรายจ่ายที่จัดสรรในแต่ละปีเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศได้ดีกว่า

ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image