การขยับสถานะทางสังคม โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สองสามวันก่อนมีโอกาสได้อ่านผ่านตาถึงข่าวที่อ้างอิงงานวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่กำลังเป็นที่สนใจกันในสิงคโปร์อยู่ข่าวหนึ่ง ที่กล่าวถึงการวิจัยว่าด้วยการเลื่อนชั้น หรือเขยิบสถานะทางสังคม (social mobility) ของชาวสิงคโปร์

อธิบายง่ายๆ ว่าในเชิงแนวคิดก่อนการขยับสถานะทางสังคม (social mobility) ก็หมายถึง การที่คน หรือครอบครัว หรือครัวเรือน เปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมของเขา โดยดูว่าเขาเปลี่ยน (หรือเคลื่อนที่) จากตำแหน่งแห่งที่ในสังคมที่เป็นอยู่ไปอย่างไร เช่น ขึ้นหรือลงจากตำแหน่งเดิม ซึ่งโดยทั่วไปการทำความเข้าใจเรื่องของการขยับสถานะนั้น เขามักจะพิจารณาโดยแบ่งสังคมเป็น “(ชน)ชั้น”/สถานะ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

เหมือนที่เรามักจะถูกลากไปตอบแบบสอบถามที่เขาถามอะไรประเภท รายได้ อาชีพ การศึกษา อะไรนั่นแหละครับ แล้วเขาก็มีช่วงชั้นให้กรอกว่าเราอยู่ตรงไหน ซึ่งอาจจะแบ่งกันง่ายๆ เช่น เป็นคนชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นสูง หรืออาจจะมีการแบ่งแยกย่อยไปอีกในแต่ละชั้น เป็นสูง กลาง ต่ำ อีกที อาทิ คนชั้นล่างระดับล่าง คนชั้นล่างระดับกลาง คนชั้นล่างระดับบน คนชั้นกลางระดับล่าง คนชั้นกลางระดับกลาง คนชั้นกลางระดับบน คนชั้นสูงระดับล่าง คนชั้นสูงระดับกลาง คนชั้นสูงระดับบน

ส่วนใหญ่การขยับสถานะทางสังคมบางทีก็วัดโดยเปรียบเทียบช่วงเวลา เช่น สิบปีที่แล้วอยู่ตรงไหน สิบปีต่อมาอยู่ตรงไหน ขึ้น หรือลง หรืออาจจะวัดกันแบบรุ่น อาทิ รุ่นเรากับรุ่นพ่อแม่ของเราต่างกันแค่ไหน

Advertisement

นอกจากนั้นการวัดการขยับสถานะทางสังคมยังรวมไปถึงเรื่องของการค้นหาชนิดของการเลื่อนชั้น หาตัวแปรที่สำคัญในการเลื่อนชั้น (ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเชื่อว่าเป็นเรื่องของการศึกษาที่จะเปิดโอกาสให้กับผู้คน) หรือหาตัวชี้วัดว่าการเลื่อนชั้นจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น ความสามารถในการบริโภค เช่น เมื่อก่อนเราไม่เคยบริโภคสิ่งนี้ได้ แต่วันนี้เรามีโอกาสได้บริโภคสิ่งนั้น หรือมีชีวิตที่ดีขึ้น (หรือแย่ลง)

เรื่องของการเขยิบสถานะทางสังคมนี้เป็นเรื่องที่มักจะรู้สึกกันมากกว่าการวัดค่าจริงๆ จังๆ เช่น เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เราก็ดีกว่าแต่ก่อน

Advertisement

กลับมาที่ข่าวในสิงคโปร์ มีการเปิดเผยข้อมูลว่า จากงานวิจัยที่ศึกษาการขยับสถานะทางความมั่งคั่งระหว่างรุ่น หรืออธิบายง่ายๆ ว่า ดูว่าพ่อแม่มีสถานะทางเศรษฐกิจ/มั่งคั่งอย่างไร แล้วในอีกช่วงคนคือลูกหลานเขาจะมีสถานะอย่างไร โดยศึกษาผ่านรูปแบบ/ชนิดของบ้านที่พ่อแม่เราอยู่อาศัยมีผลต่ออนาคตของลูกของเราอย่างไร โดยเฉพาะสถานะทางเศรษฐกิจของลูกเราในอนาคต

ข้อค้นพบที่สำคัญก็คือ ลูกหลานของครอบครัวชั้นล่าง จะมีสถานะที่ดีขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ของเขา

ลูกหลานของครอบครัวชั้นกลาง มักจะมีสถานะที่ถดถอยลงจากรุ่นพ่อแม่ของเขา

ลูกหลานของครอบครัวชั้นสูง มักจะมีสถานะทางสังคมที่เหมือนกับรุ่นพ่อแม่ของเขา

งานวิจัยดังกล่าวใช้วิธีศึกษาจากการถือครองบ้านในสิงคโปร์ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมีอยู่สองแบบ คือบ้านของการเคหะแห่งชาติของเขา (ที่มีสัญญาอยู่ที่ 99 ปี) กับบ้านที่เป็นสมบัติส่วนตัวเลย ซึ่งมีจำนวนและสัดส่วนน้อยกว่า โดยใช้ฐานข้อมูลจากการซื้อขายบ้านและข้อมูลด้านทะเบียนราษฎรระหว่าง ค.ศ.1995-2018 โดยค้นหาว่าคนแต่ละรุ่นนั้นจะขยับสถานะทางความมั่งคั่ง โดยเฉพาะความมั่งคั่งที่ผูกกับเรื่องของการพักอาศัยและเป็นเจ้าของบ้านได้แค่ไหน

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมสิงคโปร์ เพราะบ้านนั้นเป็นทั้งสมบัติ แหล่งสะสมโอกาสและความมั่งคั่ง รวมทั้งบรรยากาศทางสังคมที่หล่อหลอมพวกเขาเข้าด้วยกันเป็นชุมชน และเป็นชนที่มีชั้นเดียวกัน ขณะที่อย่างกรณีของอเมริกานั้น การศึกษาการขยับสถานะทางสังคมเป็นเรื่องของรายได้กับการถือครองทรัพย์สินมากกว่าเรื่องของการถือครองบ้านเป็นหลักเหมือนในสิงคโปร์ หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าถ้าจะวัดเรื่องความมั่งคั่งของสังคมสิงคโปร์แล้ว ไม่ใช่แค่ดูในสัดส่วนของคนมีตังค์ในกิจการธุรกิจ หรือดูแค่รายได้ต่อหัวเท่านั้น แต่ต้องดูว่าพวกเขามีที่อยู่ไหม

แต่สังคมสิงคโปร์นั้นรัฐบาลเขาให้ความสนใจกับการสร้าง “ความมั่นคง” ให้กับประชาชนผ่านการสร้างบ้านพักอาศัยให้กับประชาชน โดยให้ประชาชน “ซื้อ” เพื่อพักอาศัย แต่การ “ซื้อ” นั้นก็คือเช่ายาว 99 ปีนั่นแหละครับ โดยที่พักอาศัยก็จะมีหลายแบบแต่บริหารในนามของการเคหะแห่งชาติของสิงคโปร์ (Housing Development Board-HDB) ซึ่งในภาพรวมคือประชากรร้อยละ 82 พักอาศัยในการเคหะนี่แหละครับ

ประวัติศาสตร์ของการเคหะแห่งชาติร่วมสมัยเริ่มเมื่อสิงคโปร์เป็นเอกราช พรรคกิจประชาคมของลี กวนยู สัญญาว่าจะแก้ปัญหาการขาดแคลนที่พักอาศัยของประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน และเขาก็เริ่มทำตามที่สัญญาไว้เมื่อได้รับเลือกตั้ง โดยการจัดสร้างที่พักอาศัยนั้นทำอย่างเป็นระบบ นอกจากจะมีราคาที่ถูกแล้วยังต้องมีระบบกู้ยืมที่ประชาชนเข้าถึงได้ รวมทั้งการที่รัฐบาลมีอำนาจในการจัดการที่ดิน เพราะเป็นเจ้าของที่ดินเกือบจะทั้งหมดของประเทศ (เกาะ)

รัฐบาลมองความมั่นคงในหลายมิติ เรื่องการเคหะเป็นมิติของความมั่นคงของประชาชนที่รัฐพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้พ้นจากความยากจน โดยเฉพาะความยากจนในสังคมเมือง และการสร้างที่พักอาศัยก็จะต้องมีนโยบายและโครงการอื่นๆ รองรับด้วย อาทิ เรื่องของโรงเรียน ตลาด ศูนย์อาหาร และระบบคมนาคมขนส่ง

งานวิจัยชี้ว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อยซึ่งมีอยู่จำนวนมากในสังคมมีโอกาสมากที่สุดในการขยับสถานะขึ้น ซึ่งอ้างอิงไปถึงกับว่ามีโอกาสขยับสถานะพอๆ กับสังคมสแกนดิเนเวียกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ของสิงคโปร์ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาลที่มีนโยบายส่งเสริมที่พักอาศัยของการเคหะที่มีคุณภาพพร้อมกับการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น โรงเรียนของรัฐที่มีคุณภาพก็จะถูกจัดวางให้ใกล้กับพื้นที่ชุมชนของการเคหะ

ขณะที่ลูกหลานของคนชั้นกลางเองโดยเฉพาะในกลุ่มที่ย้ายออกไปในพื้นที่เมืองใหม่ๆ ในส่วนที่มีบ้านจัดสรรที่เป็นของเอกชนจะผจญกับสถานการณ์การขยับสถานะลงในระยะยาว เพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงสถานศึกษาคุณภาพสูงในพื้นที่ใหม่ๆ ที่เขาย้ายไป เพราะพวกโรงเรียนดีๆ มักอยู่ในพื้นที่ของครอบครัวคนมีรายได้สูง และในระยะยาวพวกคนชั้นกลางๆ จำนวนไม่น้อยที่เคยอยู่ในบ้านของตัวเองตอนเด็กต้องย้ายเข้ามาอยู่ในการเคหะในรุ่นของพวกเขา ขณะที่รุ่นพ่อแม่เขาย้ายออกจากการเคหะเพราะอยากเป็นเจ้าของบ้าน

ส่วนลูกหลานคนรวยก็มีเรื่องที่ทั้งน่าห่วงและไม่น่าห่วงไปพร้อมๆ กัน เพราะพวกเขานั้นไม่สามารถขยับสถานะให้รวยไปกว่าที่เคยรวยอยู่ เพราะพวกเขาก็อยู่กับพ่อกับแม่ และถ้ามีโอกาสออกมาอยู่เองก็ไม่ได้ทำให้เขารวยขึ้นกว่าพ่อแม่ของเขา

ประเด็นเรื่องของการขยับสถานะทางสังคมเมื่อดูผ่านการศึกษาและเศรษฐกิจเช่นนี้จะเห็นว่า คนชั้นกลางนั้นเผชิญปัญหาที่อยู่ตรงกลางของคนรวยกับคนจน คนรวยก็เอาตัวรอดได้อยู่แล้ว คนจนก็มีรัฐบาลคอยดูแล

แต่พวกกลางๆ นี่แหละครับตกที่นั่งลำบาก รัฐบาลเหมือนจะเหลียวแลน้อยกว่าคนจน และคนรวยก็เอาตัวรอดได้อยู่แล้ว พวกคนที่อยู่กลางๆ นี้เผชิญปัญหาที่มองว่าทุกอย่างแพงขึ้น และรัฐบาลก็ไม่ช่วยเหลือ

ทางคณะวิจัยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ขยับสถานะเหล่านี้จะส่งอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ในสังคมในอนาคต และก็สะท้อนว่าการขยับสถานะทางสังคมสำหรับคนส่วนมากเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณะที่มุ่งหมายจะช่วยเหลือผู้คน

ถ้าลองพิจารณาในมุมบ้านเราที่ไม่ได้มองเรื่องความมั่นคงของที่พักอาศัยในแบบเดียวกันกับสิงคโปร์ เราอาจไม่ค่อยให้ความสนใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับที่พักอาศัยนั้นเป็นอย่างไร และความมั่นคงมั่งคั่งของที่พักอาศัยจากรุ่นสู่รุ่น เราอาจจะสนใจแต่เรื่องแหล่งงานกับที่พัก มองแต่เรื่องของการสร้างรถไฟฟ้ากับที่พักและแหล่งงาน ทั้งที่เรื่องที่จะต้องเชื่อมโยงไปถึงอนาคตคือเรื่องของโรงเรียนด้วย

เวลาที่เรามองว่าเราสร้างที่พักอาศัยใหม่ในรูปของตึกสูง เราจะเห็นแต่การโฆษณาชีวิตทันสมัยที่ฉายภาพอนาคตแต่ไม่ได้พูดถึงคนรุ่นต่อไปว่าจะมีลูกหลานแบบไหน จะย้ายลงจากคอนโดไปมีบ้านได้ไหม หรือจะอยู่ในคอนโดแบบไหนต่อ และคอนโดเก่าที่หมดอายุจะอยู่ในสภาพไหนถ้าระเบียบต่างๆ ในการดูแลไม่เคร่งครัดพอ พื้นที่โดยรอบคอนโดมีโรงเรียนที่ดีสำหรับลูกหลานไหม ต่อไปคนมีลูกมีหลานจะอยู่ในสังคมแบบไหน

เราอาจจะเห็นสารคดีที่ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนในตัวเมือง แต่เรายังไม่ค่อยเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนในเมืองด้วยกัน และความเชื่อมโยงของโรงเรียนและบ้าน และการเดินทางของเยาวชนคนรุ่นต่อไปว่าเขาจะมีอนาคตที่ดีขึ้นได้อย่างไร รัฐบาลสนับสนุนการพักอาศัยและโรงเรียนมากน้อยแค่ไหนที่จะทำให้คนขยับสถานะได้ การพูดถึงผังเมืองและการออกแบบเมืองจึงไม่ได้มีแต่เรื่องการจราจรหรือการเดินในแบบการออกแบบทางเท้าเท่านั้น

ลำพังเรื่องการบริโภคในฐานะการขยับสถานะคงจะวัดได้ยากเพราะระบบผ่อนชำระมีมากขึ้นมากกว่าจะมองว่าคนขยับสถานะขึ้น

นอกจากนี้เวลาที่เราพูดเรื่องการขยับสถานะทางสังคมนั้น เราจะต้องเข้าใจว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด และมันไม่ได้ถูดถึงเรื่องของความยากจนทั้งหมด เพราะมันพูดแต่เรื่องของโอกาส และเรื่องบางส่วนเสี้ยวของความยากจน เพราะการพูดถึงการขยับสถานะทางสังคมไม่ได้บอกว่า คนจนที่เหลืออยู่ที่ขยับสถานะไม่ได้นั้นเขาจะอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นด้วยไหม เพราะเราสนใจแต่คนที่ปีนขึ้นมาได้ และสนใจแต่คนที่หล่นลง แต่คนที่ไม่ได้ขยับนั้นเขามีชีวิตอย่างไร และจะแย่ลงอีกไหมอันนี้ไม่ได้พูดถึง เหมือนงานในสหรัฐอเมริกาที่เคยศึกษาไว้นานมาแล้วว่า ชุมชนแออัดที่เสื่อมลงเพราะคนที่มีโอกาสนั้นเขาย้ายออกไปที่เหลือก็เลยยิ่งแย่กว่าเดิม หรือในกรณีของอังกฤษก็มีข้อถกเถียงใหม่ว่าสิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาเรื่องการขยับสถานะทางสังคมอาจไม่ใช่เรื่องแค่การมีการศึกษา แต่ต้องหมายถึงการกลับมาของ “งานประจำ” ในระดับผู้จัดการ และ งานระดับผู้เชี่ยวชาญ และการให้ความสนใจกับคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือที่ขยับสถานะไม่ได้ ซึ่งหมายถึงต้องศึกษาความเท่าเทียมกันในมิติอื่นเพิ่มไปจากการขยับสถานะทางสังคมด้วย

ช่วยๆ กันคิดครับ

(หมายเหตุ ศึกษางานวิจัยฉบับดังกล่าวได้จาก S.Agrawal, Y.Fan, W.Qian, and T.F.Sing. Like Father Like Son? Social Engineering and Intergenerational Housing Wealth Mobility. draft for review 6 Oct 19. Type of housing Singaporean parents own can impact children’s future economic status: NUS. The Strait Times. 17 Oct 2019. W.P. Ting. Housing policies effective in helping children from low-income families upgrade, but less so for middle class: NUS study. Todayonline.com. 18 Oct 2019. Social mobility is the wrong goal what we need is more equality. The Guardian. 28 Jun 2017. และ E.Bukodi. Britain;s social mobility problem has been misunderstood education is not the great leveller. The Conversation. 9 Jan 19.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image