ความเชื่อ ความกลัว ความหวัง และความจริง : โดย กล้า สมุทวณิช

ทําไมเราต้องตื่นเต้นกับการที่ อิลิอุด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) สามารถวิ่งจบระยะมาราธอนได้ด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาทีด้วย

เวลานี้ไม่ได้เป็นสถิติโลก เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นในการแข่งขันวิ่งมาราธอนตามปกติ ซ้ำยังเหมือนจะมีตัวช่วยมากมายที่ดูเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทั้งทีมนักวิ่งกำกับความเร็วหรือ Pacer และรถนำกำกับความแม่นยำด้วยแสงเลเซอร์ หรือระยะทางการวิ่งที่ตรงยาวตลอดระยะ

ถ้าเรามองเพียงในแง่ว่าเป็นการทำตลาดประชาสัมพันธ์ของโลกทุนนิยมโดยบรรษัทพลังงานที่ใช้เทคโนโลยีและกำลังคนเพื่อทดลองอะไรแผลงๆ กับขีดจำกัดของมนุษย์ หรือแค่การเลี้ยงกระแสการวิ่งระยะไกลที่ดูเหมือนจะตื่นเห่อกันเหลือเกินในหมู่ผู้คนชนชั้นกลาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจอุปกรณ์กีฬา ฯลฯ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรา ไม่ได้ช่วยเพิ่มศักยภาพของมนุษย์หรือลดความเหลื่อมล้ำตรงไหน จะมองอย่างนั้นก็ได้

แต่ไม่ว่าด้วยข้อโต้แย้งอย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่บันทึกได้ว่ามนุษย์เผ่าพันธุ์โฮโมเซเปี้ยนส์ สามารถที่จะวิ่งต่อเนื่องในระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ได้ภายในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง ซึ่งเป็นการทำลายกำแพงความเชื่อเกี่ยวกับข้อจำกัดทางกายภาพที่เคยเชื่อกันว่าไม่มีมนุษย์คนไหนที่สามารถวิ่งจบมาราธอนได้ด้วยเวลาที่จำกัดนี้ หรือถ้าทำได้ก็อาจจะทำให้ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกับฟิลิปิเดสผู้สร้างตำนานมาราธอนเมื่อหลายพันปีก่อน

Advertisement

หากจะให้อธิบายซึ่งเหมือนกับเป็นการเข้าข้างก็อาจจะได้ว่า นี่คือการทดลองจริงๆ โดยเป็นการทดลองภายใต้สมมุติฐานว่า “หากไม่มีการรบกวนจากปัจจัยภายนอกอื่นใดแล้ว มนุษย์สามารถวิ่งในเส้นทางตรงยาว 42.195 กิโลเมตร ได้ภายในสองชั่วโมงหรือไม่” ซึ่งคำตอบในวันนั้นก็คือ “ได้”

ส่วนคำถามต่อๆ ไป ที่ว่า แล้วถ้าเป็นการวิ่งมาราธอนภายใต้สิ่งแวดล้อม สนาม และกติกาปกติล่ะ จะยังได้อยู่หรือไม่ ก็รอใครสักคนที่จะมาตอบ ซึ่งอาจจะเป็นตัวคิปโชเกเองก็ได้

เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งเขาได้สร้างไว้ในวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2562 ที่กรุงเวียนนา คือการเติมคำว่า “เคย” เข้าไปที่หน้าประโยคว่า “มีความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่สามารถ…”

Advertisement

ความเชื่อนั้นเป็นคำที่ไม่มีความหมายในทางบวกหรือทางลบ ความเชื่อนั้นเป็นเครื่องกำหนดความจริงสำหรับมนุษย์หรือแม้แต่สัตว์ที่มีระบบความคิด แต่จะเป็นความจริงในทางดีหรือร้ายนั้น ก็ขึ้นกับว่าความเชื่อนั้นถูกสร้างขึ้นบนต้นเชื้อของอะไร ระหว่างความหวัง หรือ ความกลัว

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับช้างและเชือกที่มองไม่เห็น ที่ช้างตัวใหญ่กำยำถูกล่ามไว้ไม่ให้ไปไหนได้ด้วยเชือกเส้นเล็กๆ ที่มองจากสายตาของเด็กตัวน้อย ก็ยังรู้ว่าโดยกายภาพแล้ว เชือกนั้นไม่น่าจะเหนี่ยวรั้งช้างใหญ่ไว้ได้ เช่นนี้เด็กน้อยคนนั้นจึงถามผู้ใหญ่ที่อยู่กับเขาว่า ทำไมเชือกเพียงเท่านั้นจึงสยบช้างที่ทรงพลังได้

คำตอบคือ ช้างนั้นถูกเชือกเส้นนี้ล่ามไว้ตั้งแต่ครั้งมันยังเป็นลูกช้างตัวน้อย แรกเลยก็เชื่อว่ามันคงจะพยายามดื้อรั้นดิ้นรนผละหนีแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ นานวันเข้าเจ้าช้างก็เชื่อว่ามันไม่มีทางหลุดหนีไปจากเจ้าเชือกที่ล่ามขามันเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

หรือในการทดลองของนักสัตววิทยาชาวเยอรมัน Karl Möbius เคยทดลองปล่อยปลาไพก์ ซึ่งเป็นปลากินเหยื่อที่ดุร้ายมากลงไปในตู้ปลาสองชั้น ที่มีกระจกกั้นระหว่างส่วนที่ปล่อยปลานั่นไว้ กับชั้นนอกที่ปล่อยปลาเหยื่อที่เป็นอาหารของมัน ในตอนแรกเจ้าปลาดุพยายามพุ่งเข้าไปกินเหยื่อ แต่ก็ชนกระจกที่กั้น ในที่สุดก็มีวันหนึ่งที่เจ้าปลานั้นนอนนิ่งอยู่ก้นตู้ มองดูปลาเหยื่อว่ายไปมารอบๆ โดยไม่คิดพุ่งโผเข้าใส่อีก แม้แต่เมื่อนักทดลองนำกระจกกั้นออก แต่ปลานักล่าก็หาได้สนใจปลาเล็กปลาน้อยนั้นอีกเลย จนกระทั่งมันก็อดตายไปโดยไม่แม้แต่จะลองพุ่งเข้าหาเหยื่ออีกครั้ง

สิ่งที่ล่ามช้างใหญ่และกักขังปลาร้ายนั้นไม่ใช่เชือก แต่เป็นความเชื่อของพวกมันที่เกี่ยวกับเชือกและกำแพงกระจก

ความเชื่อที่เป็นเหมือนเชือกที่ทรงพลังและกำแพงที่มองไม่เห็นนั้น เกิดจากประสบการณ์และความเจ็บปวดที่แต่แม้มนุษย์เราความเชื่อที่เป็นข้อจำกัดหรือบั่นทอนเราเองหลายครั้งก็เกิดจากประสบการณ์จริง ที่เราอาจจะเคยดิ้นรนต่อสู้แต่เมื่อประสบความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คาดหวัง ลงมือต่อสู้ และก็ล้มเหลว การล้มลงทุกครั้งก็เหมือนการวางอิฐก่อกำแพงแห่งความเชื่อขึ้นมาจองจำตัวเองไว้ โดยที่ไม่กล้าจะเข้าไปทดสอบกับกำแพงที่มองไม่เห็นนั่นอีก เพราะเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่า กำแพงมันจะหายไปเมื่อไร

หากสิ่งที่มนุษย์มีอยู่เหนือกว่าสัตว์ คือความสามารถที่จะไม่ต้องผูกความเชื่อไว้กับประสบการณ์เท่านั้น เพราะสิ่งที่พวกเรามีอยู่เป็นพิเศษ คือ “จินตนาการ” ที่สามารถนึกคิดหรือคาดหวังในสิ่งที่ยังไม่ได้เป็นจริงได้ และจินตนาการนั้นเองที่แปรเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อได้โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์จริง ที่แม้แต่ใช้เพื่อลบล้างประสบการณ์ที่เจ็บปวดก็ได้

สิ่งนั้นคือ “ความหวัง” ที่เป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ยังคงเหลืออยู่ หลังจากความชั่วร้ายภัยพิบัติทั้งปวงถูกเปิดปล่อยออกมาจากหีบแห่งแพนดอราตามตำนานกรีก

ความเชื่อที่ว่าความหวังนั้นสร้างความจริงได้ปรากฏในแทบทุกศาสนาและตำนานของมนุษย์ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติชั้นสูงอย่างหนึ่งของเผ่าพันธุ์เรา ในแทบทุกวัฒนธรรมจะมีการสวดอธิษฐานขอพรด้วยความเชื่อที่ผ่องใสแรงกล้า เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้า จักรวาล หรือแม้แต่พลังภายในของเรา สร้างสรรค์ความจริงตามคำอธิษฐานนั้นให้เกิดขึ้น มันคือสิ่งเดียวกับ The Secret ในหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน มันคือกลหรือเวทมนตร์ในหนังสือ “เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ” (Into the Magic shop) ของคุณหมอ เจมส์ อาร์. โดตี และ ความจริงของพระเจ้า ในหนังสือของ นีล โดนัลด์ วอลทซ์

หรือให้เป็นวิทยาศาสตร์กว่านั้น คือการฝึกฝนเชิงจินตนาการที่นักกีฬาอาชีพหลายคนกระทำควบคู่กับการฝึกซ้อมทางกายภาพ หลายคนใช้การไปยังสถานที่ที่จะแข่งขันหรือใกล้เคียงเพื่อทำสมาธิและจินตนาการถึงภาพต่างๆ ที่เขาจะให้เกิดขึ้นในการแข่งขันจริง ภาพที่เขากระโดดยัดห่วงทำแต้ม วิ่งแซงนักกรีฑาคนอื่นเข้าสู่เส้นชัย ท่าทางเมื่อรับถ้วยรางวัล พวกเขาจินตนาการภาพเหล่านั้นให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อาจจะเหลือเชื่อที่จะกล่าวว่าส่วนใหญ่แล้วมันได้ผล นักกีฬาระดับโลกคนหนึ่งที่อ้างอิงได้ว่าใช้วิธีนี้ คือ ไมเคิล เฟ็ลปส์ ซึ่งเขาไม่ได้เพียงแต่จินตนาการถึงความสำเร็จเท่านั้น แต่เขายังจินตนาการล่วงหน้าถึงปัญหาที่อาจจะเกิด และภาพของเขาที่จะแก้ไขหากปัญหานั้นเกิดขึ้นจริงๆ ด้วย

ความเชื่อที่มาจากความหวังหรือความกลัวที่กลายเป็นความสิ้นหวังนั้นทรงพลังอย่างไร ก็ถึงขนาดที่ยุทธวิธีสำคัญอย่างหนึ่งในทางทหาร คือการใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยา ที่นอกจากการปลุกความหวัง ขวัญและกำลังใจ ให้แก่ฝ่ายเดียวกับตนแล้ว การเหนี่ยวรั้งเราไว้ด้วยเชือกแห่งความกลัว ขังเราด้วยกำแพงแห่งความสิ้นหวัง คือภารกิจอีกด้านหนึ่งของปฏิบัติการข่าวสารและจิตวิทยา เพื่อป้องกันการต่อสู้หรือต่อต้าน

แล้วความเชื่อที่มาจากความหวังนั้นจะเปลี่ยนความจริงของเราได้อย่างไร สิ่งแรกคือเราจะต้องปรับวิธีคิดและทัศนคติของเราก่อนว่า ความเชื่อนั้นไม่ต้องเกิดจากประสบการณ์เท่านั้น แต่มันมาจากจินตนาการและความหวังก็ได้ กล่าวคือ เราไม่ต้องรอให้สิ่งใดเกิดขึ้น “จริง” ก่อน แล้วเราค่อย “เชื่อ” แต่เราต้อง “เชื่อ” ก่อนมันถึงจะ “จริง” นี่แหละคือสิ่งที่คิปโชเกได้บอกเราจากการวิ่งมาราธอนอันเหลือเชื่อในวันเสาร์ คือเขาเชื่อก่อนว่า มนุษย์นั้นไม่มีข้อจำกัด และเขาหรือมนุษย์ที่ถึงพร้อมก็สามารถวิ่งมาราธอนจบภายในสองชั่วโมงได้

เมื่อเรา “เชื่อ” แล้ว ก็ให้ความเชื่อของเรานั้นกำหนด “การกระทำ” ของเรา ซึ่งการกระทำนั้นเองที่จะสร้างความจริง แต่การกระทำของเราเพียงคนเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เราต้องร่วมมือกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นด้วย เช่นที่คิปโชเกเองก็ไม่ได้วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยตัวของเขาเอง แต่มาจากความช่วยเหลือของทีมงาน ที่เห็นหน้างานก็ได้แก่ทีมนักวิ่งกำกับความเร็วที่เห็น และเบื้องหลังคือผู้กำหนดตารางฝึกซ้อมตลอดจนเรื่องโภชนาการ

แต่ละคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดกำลัง ความพยายามของปัจเจกชนแต่ละคนนั้นไม่สูญเปล่า คำสอนที่ว่าทำที่ตัวเราให้ดีแล้วสังคมจะดีไม่ใช่คำสอนเพื่อให้ละเลยต่อปัญหาสังคมหรือเชิงโครงสร้าง ถ้าการทำในส่วนของเราให้ดีนั้นมาจากการคิดให้ตกผลึกว่า สิ่งที่เราจะทำนั้นอยู่ตรงส่วนไหนของเรื่องราวทั้งหมด บทบาทของเราจะช่วยสร้างอะไรให้แก่ภาพใหญ่ในความหวังของเรา ที่เราอยากจะเห็นได้

เราจะมีภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยได้อย่างชัดเจน ในทุกครั้งที่เราแยกหรือลดขยะ เช่นเดียวกับภาพประเทศที่มีประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพอันสมบูรณ์ ประเทศซึ่งอำนาจที่แท้จริงมาจากประชาชนเท่านั้นได้ ในทุกครั้งที่เราแสดงความคิดเห็นอย่างมีเกียรติและกล้าหาญ หรือเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพให้แก่ผู้อื่น และเมื่อเราเจือจานแบ่งปัน ภาพของโลกและสังคมที่มีความเป็นธรรมที่ไม่มีใครอดใครอิ่มกว่าใครก็จะปรากฏชัดเจนขึ้น

หากเราอาจจะต้องวางใจยอมรับด้วยว่า ในหลายครั้งความจริงจากความเชื่อนั้นจะเกิดขึ้นได้ นอกจากการร่วมมือลงแรงของตัวเราและคนอื่นแล้ว เวลากับปัจจัยแวดล้อมก็มีผลเช่นกัน ช้างอาจจะไม่สามารถดึงเชือกให้ขาดได้หากมันยังด้อยพลังและเชือกนั้นยังเหนียวทน แต่เวลาจะช่วยให้เราเข้มแข็งทรงพลัง สวนทางกับเชือกที่เปื่อยยุ่ยลง เมื่อวันเวลาถึงพร้อม ความเชื่อจะปลดปล่อยเราจากพันธนาการ

แม้เวลานั้นอาจจะมาไม่ทันในช่วงชีวิตเรา แต่ความเชื่อและความหวังนั้นจะส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป เช่นเดียวกับกลุ่มกบฏเดนตายที่ไปช่วงชิงผังดาวมรณะนั้นพยายามส่งออกไปในวาระสุดท้าย นอกจากผังที่แสดงจุดอ่อนของดาวมรณะแล้ว สิ่งที่ส่งพร้อมไปด้วย คือ ถ้อยคำสุดท้ายของเจ้าหญิงเลอาใน The Roque One : Star Wars Story คือ “ความหวัง” แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีใครได้เห็นตอนที่อาวุธมหาประลัยแห่งจักรวรรดินั้นถูกทำลายลงเป็นผุยผงโดยลุค สกายวอล์คเกอร์ ใน Star Wars ตอนที่ 4 a New hope ก็ตาม

เช่นกัน คนรุ่นเราอาจจะเพียงมีหน้าที่ส่งต่อความหวังและความเชื่อ โดยไม่ต้องกังวลที่จะรอดูผล

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image