ปัจเจกชนนิยม : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ลูกศิษย์ 3 คนที่เคยเรียนวิชาการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกากับผู้เขียนเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้พากันมาหาผู้เขียนที่ห้องทำงานพร้อมกับคำถามชวนคิดว่าจากการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต้องพบกับคำว่า ปัจเจกชนนิยม (Individualism) มากมายหลายครั้งแต่ไม่เข้าใจในบริบทเลยทำให้ค้างคาใจอยู่ ซึ่งผู้เขียนก็ได้พยายามพูดคุยอธิบายร่วม 2 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ทราบว่าลูกศิษย์จะเข้าใจได้ขนาดไหน เลยคิดว่าไหนๆ ได้อธิบายไปแล้วก็น่าที่จะนำมาแชร์กับท่านผู้อ่านที่เคารพเผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง

คำนิยามของ ปัจเจกชน คือ เฉพาะคน หรือ บุคคลแต่ละคน ลัทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) เป็นแนวคิดแบบมนุษย์นิยมแบบหนึ่งที่มองว่า ตัวบุคคลหนึ่งคนสำคัญเท่าๆ กันอย่างเสมอภาค ไม่มีใครสูง ต่ำ ดีเลวไปกว่ากัน ลัทธิปัจเจกชนนิยมเป็นลัทธิทางสังคมที่เกิดขึ้นในยุคกลางที่เชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือชะตาชีวิตและยังเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง แนวคิดนี้เป็นรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม (ทุนนิยม) ด้วย และยังเป็นฐานคติแบบสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ความหมายของปัจเจกชนนี้ยังไม่รวมสัตว์หรือต้นไม้ไปด้วย ความเป็นปัจเจกชนหมายถึงการยอมรับความมีอัตลักษณ์และความเป็นเอกเทศของบุคคลคนหนึ่ง โดยคุณค่าของลัทธิปัจเจกนิยมในทางบวกนั้นอยู่ที่ความเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีอิสระทางความคิดและการสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ลัทธิปัจเจกชนนิยมแบบสุดโต่ง ก็คือ การมองว่ามนุษย์อยู่แยกจากกันมิใช่สัตว์สังคม ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ความสุข ทุกข์ ดี เลว ล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนบุคคลทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าลัทธิปัจเจกนิยมเป็นลัทธิที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เชื่อว่าแต่ละคนล้วนแต่มีเอกลักษณ์ความพิเศษในแบบของตน มีความเท่าเทียมกันในทุกด้านให้ความสำคัญกับตนเอง แต่ละคนเคารพสิทธิกัน ไม่มายุ่งเรื่องส่วนตัว พึ่งพากันพอประมาณ

Advertisement

แต่ถ้าเป็นปัจเจกชนนิยมแบบสุดโต่งก็จะมองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกไป

เจคอบ เบิร์กคาร์ดต์ (Jacob Burckhardt) นักประวัติศาสตร์ชาวสวิสอธิบายว่า ลัทธิปัจเจกชนนิยมเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ยุโรปเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) คือทำให้คนคิดเองทำเองแทนที่จะทำตามคำสั่งสอนทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการปกครองในยุโรปตะวันตกมานานนับพันปี

นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ อเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville) ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงของเขาคือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา (Democracy in America)” ที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1835 โดยกล่าวถึงคุณสมบัติของชาวอเมริกัน 2 ประการที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในโลกใหม่คือ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันและปัจเจกชนนิยมนั่นเอง เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากยุโรปมิได้นำความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสถาบันทางสังคมที่จัดระดับชนชั้นทางสังคมของยุโรปมายังโลกใหม่ด้วย นอกจากนี้ การดำรงชีวิตอยู่ในโลกใหม่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการเลี้ยงชีพด้วยลำแข้งของตัวเองต้องต่อสู้กับธรรมชาติและคนพื้นเมืองเพื่อการอยู่รอดแบบที่เรียกว่า “ตัวใคร ตัวมัน” นั่นเอง

Advertisement

ลัทธิปัจเจกชนนิยมถูกยกฐานะขึ้นเป็นทฤษฎีทางประวัติศาสตร์โดย เฟรเดอริก แจ๊กสัน เทอร์เนอร์ (Frederick Jackson Turner) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้เสนอ “ทฤษฎีชายแดน (Frontier Thesis)” ที่เน้นว่าการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเจริญรุ่งเรืองเป็นประชาธิปไตยได้ก็เนื่องจากบุคลิกภาพของชาวอเมริกันที่มีลักษณะเป็นปัจเจกชนนิยมพึ่งพาตนเองเป็นหลักไม่ได้หวังพึ่งผู้อุปถัมภ์หรือรัฐบาลแต่อย่างใด เนื่องจากการขยายตัวของสหรัฐอเมริกาออกไปทางตะวันตกนั้นไม่มีผู้อุปถัมภ์และรัฐบาลในการทำมาหากินหรือการต่อสู้กับสัตว์ร้ายหรือพวกอินเดียนแดงที่เข้ามารังควานและยังต้องช่วยสถาปนารัฐบาลและกฎหมายขึ้นเองในดินแดนป่าเถื่อนที่เป็นชายแดนที่บรรดาปัจเจกชนเหล่านี้ต้องไปบุกเบิกทำมาหากินด้วยลำแข้งของตนเองโดยแท้

นอกจากนี้ อดีตประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ในการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ.1928 ได้ใช้คำว่าปัจเจกชนนิยมตามธรรมชาติ (Rugged Individualism) ว่าเป็นคุณสมบัติของชาวอเมริกันกล่าวคือการพึ่งตัวเองโดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก เช่น จากมลรัฐหรือจากรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเป็นลักษณะของการดำเนินงานของทุนนิยมของเอกชนที่ไม่ต้องการการแทรกแซงจากรัฐบาลซึ่งเป็นปัญหาหลักของอดีตประธานาธิบดีฮูเวอร์ เนื่องจากเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ฮูเวอร์เป็นประธานาธิบดีและฮูเวอร์ไม่สามารถจะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความอดอยากและปัญหาการว่างงานที่แพร่ไปทั่วประเทศได้ เนื่องจากฮูเวอร์เห็นว่าเป็นเรื่องของประชาชนต้องแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

แต่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนั้นใหญ่หลวงนักต้องใช้เงินทุนของรัฐบาลอย่างมหาศาลเข้าไปอัดฉีดระบบเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องปัจเจกชนนิยมแทบจะเป็นเรื่องของสหรัฐอเมริกาที่ชอบอ้างอิงถึงอยู่เป็นนิตย์ เพราะมีการอ้างถึงและภาพยนตร์ฮอลลีวูดมักจะกล่าวถึงลัทธิปัจเจกชนนิยมเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ของดาราภาพยนตร์ที่ชื่อ จอห์น เวย์น ถือว่าเป็นตัวแทนของปัจเจกชนนิยมตามธรรมชาติ ตัวจริงเลยทีเดียว ถึงขนาดได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสหรัฐอเมริกา “Presidential Medal of Freedom” จากการแสดงภาพยนตร์ของเขา

ถึงขนาดนั้นเชียวครับ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image