เดินหน้าชน : กู้อสังหาฯ : โดย สัญญา รัตนสร้อย

มีสัญญาณล่วงหน้ามาพักใหญ่ในระบบนิเวศตลาดอสังหาริมทรัพย์ แจ้งเตือนภาวะชะลอตัว

ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากสงครามการค้าหรือเทรดวอร์ระหว่างสหรัฐกับจีน เศรษฐีมือเติบจากเมืองจีนกำลังซื้อแผ่วลงไป

เงินบาทที่แข็งค่าแซงเพื่อนบ้านในภูมิภาค หนุนส่งให้สินค้าของเราแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ

ตัวเลขช่วงปี 2559-2561 มีการโอนเงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเฉลี่ยปีละเกือบแสนล้านบาท

Advertisement

น่าสนใจประมาณครึ่งหนึ่ง หลั่งไหลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่บวกฮ่องกง

ตกมาปีนี้ยอดโอนเงินเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย เฉลี่ยรายเดือนลดวูบต่อเนื่องเหลือ 25%

กำลังซื้อในประเทศเองไม่ต้องพูดถึง เมื่อหันไปมองภาวะเศรษฐกิจขณะนี้

Advertisement

รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน

สำทับด้วยการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของแบงก์ชาติ กำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันหรือแอลทีวี

เป็นความปรารถนาดี ป้องปรามไม่ให้เกิดการกู้เกินตัว อีกด้านก็กดทับตลาดอสังหาริมทรัพย์แบกน้ำหนักเพิ่มขึ้น

โครงการอาคารชุดผุดตามแนวรถไฟฟ้าเคยเป็นทำเลทอง เปิดจองเมื่อไหร่ขายหมดเกลี้ยง ขณะนี้คงพูดไม่ได้เต็มปาก

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แพร่ข้อมูลให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น แม้ปัจจุบันการเปิดโครงการใหม่ลดลง สินค้าที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดไม่มาก แต่อัตราดูดซับซัพพลายก็ชะลอตัวลงไปด้วย ยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ลดลง

ประเมินว่าปี 2562 จำนวนยูนิตโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะอยู่ที่ 95,087 ยูนิต ติดลบ 4.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์แนวราบ อยู่ที่ 297,442 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3%

คอนโดมิเนียมยอดโอนจะติดลบถึง 17.7% หรือ 80,122 ยูนิต มูลค่าเป็นเม็ดเงินติดลบ 21.1% หรือ 214,236 ล้านบาท

สินค้าที่อยู่อาศัยคงค้างในตลาดยังอยู่ในระดับสูง ครึ่งแรกของปี 2562 มีซัพพลายใหม่เข้ามา 41,837 ยูนิต ไปเติมซัพพลายคงค้างรวม 151,993 ยูนิต สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 138,720 ยูนิต

มีเสียงจากสมาคมผู้ประกอบการ เรียกร้องภาครัฐเข้ามาดูแลผลักดันมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปีที่เหลืออยู่ เผื่อจะมีแรงส่งไปถึงปีหน้า

ไม่เช่นนั้นสต๊อกในโกดัง ค่าดอกเบี้ย จะบานปลายไปกันใหญ่

จริงอยู่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ย่อมประเมินความเสี่ยงและควรรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง แต่ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่ยืนอยู่เดี่ยวๆ โดดๆ หากมีห่วงโซ่ธุรกิจเกี่ยวข้องมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นภาคแรงงาน บริษัทรับเหมา ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์… ลามไปถึงสถาบันการเงินเมื่อไหร่ เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว

วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 จำเลยที่ 1 มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มิใช่หรือ

เสียงร้องดังไปถึงนายกรัฐมนตรี ทำให้ในช่วงท้ายประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ต้องให้การบ้าน “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง ไปหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการแขนงนี้

ล่าสุด มีกระแสเล็ดลอดจากกระทรวงการคลัง จะใช้สูตรสำเร็จเสนอ ครม.ภายในเดือนตุลาคมนี้ ช่วยเหลืออ้อมไปยังผู้ซื้อบ้าน เน้นกลุ่มคนที่ต้องการบ้านหลังแรก กำหนดราคาบ้าน คอนโดมิเนียม ไม่เกิน 3 ล้านบาท จะลดค่าธรรมเนียมโอน-ค่าจดจำนองเหลือ 0.01% จากเดิมค่าโอนต้องเสีย 2% ค่าจดจำนองต้องเสีย 1%

โปรโมชั่นนี้มีอายุไม่เกิน 6 เดือน บนความคาดหวังช่วยระบายสต๊อกคั่งค้างจำนวนมาก

ตอบโจทย์ เอาอยู่หรือไม่ คงต้องไปติดตามกัน

หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมั่นใจ ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์งวดนี้ยังห่างไกลสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เพราะได้ถอดบทเรียนครั้งโน้น กำหนดหลักเกณฑ์ วางกลไกรัดกุมไว้พอสมควร

ทว่าบนความเปราะบางของเศรษฐกิจวันนี้และวันหน้าก็ยังวังเวง ระดับความรุนแรงเพียงครึ่งเดียวก็ชวนหนาวยะเยือกแล้ว

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image