โขนไทยกับมรดกวัฒนธรรมอาเซียน โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

กลุ่มประเทศอาเซียนมีการแสดงประจำชาติที่ผู้แสดงสวมหน้ากากปิดหน้า (Masked dance) ซึ่งรวมเรียกว่า “โขน” ข้อสันนิษฐานว่าคำว่า “โขน” นั้น มาจากคำและความหมายในภาษาต่างๆ ดังนี้

โขน ในภาษาเบงคาลีปรากฏคำว่า “โขละ” หรือ “โขล” (บางครั้งเขียนด้วยคำว่า “โขหะ”) ที่เป็นชื่อเรียกเครื่องดนตรีประเภทหนังชนิดหนึ่งของฮินดู ลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับตะโพนของไทย ไม่มีขาตั้ง ทำด้วยดิน ไม่มีสายสำหรับถ่วงเสียง มีเสียงดังค่อนข้างมาก จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย ใช้สำหรับประกอบการละเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่ายาตรา หรือละครเร่ที่คล้ายคลึงกับละครชาตรี โดยสันนิษฐานว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ เคยถูกนำมาใช้ประกอบการเล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่า “โขล” ตามชื่อของเครื่องดนตรี

โขน ในภาษาอิหร่าน มีที่มาจากคำว่าษูรัต ควาน (อังกฤษ : Surat khwan) หมายความถึง ตุ๊กตาหรือหุ่น ซึ่งใช้สำหรับประกอบการแสดง โดยมีผู้ขับร้องและให้เสียงแทนตัวหุ่น เรียกว่า ควานหรือโขน (อังกฤษ : khon) มีความคล้ายคลึงกับผู้พากย์และเจรจาของการแสดงโขนในปัจจุบัน

โขน มาจากคำพื้นเมืองตระกูลชวา-มลายูว่า Lakon หรือ Lakun หรือ คำบาหลีว่า Legong ผู้รู้ภาษาเขมรอธิบายว่า เขมร รับจากคำ ชวา-มลายู แล้ว เรียก โลขน (อ่านคล้าย ละ-โคน)

Advertisement

โขน ภาษาไทยยืมจากเขมรมาอีกทอดหนึ่ง เรียก ละคอน คนสมัยก่อนๆ บางทีเรียกคล้องจองซ้ำซ้อนว่าละโขนละคร (ละคอน)
แล้วกร่อนแยกเป็น 2 อย่าง คือ โขน (เล่นกลางสนาม) กับ ละคร (เล่นในโรง)

ความเป็นมาของโขนไทย

โขนไทยปรากฏในสมัยอยุธยา นำเรื่องรามเกียรติ์มาเป็นเนื้อเรื่องแสดง โดยใช้คนมาแสดงแทนตัวละครในหนังใหญ่ สวมเครื่องแต่งกายหัวโขนแบบพระราชพิธีอินทราภิเษก ใช้ดนตรี เพลง บทพากย์เจรจาจากหนังใหญ่ ลักษณะศิลปะการต่อสู้การใช้อาวุธ มีหลักฐานภาพท่าทางการแสดงโขนปรากฏในภาพจำหลัก ภาพเขียน ท่าเต้น และท่าฟ้อนรำพื้นบ้าน นอกจากนี้ พบการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์กวนน้ำอำมฤต ในพระราชพิธี
อินทราภิเษก ในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งในบันทึกของมองชิเออร์ เดอ ลาลู แบร์ และบาทหลวงตาชาร์ด พ.ศ.2220 แสดงให้เห็นว่า โขนเป็นมหรสพการแสดงรับแขกราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังนั้น โขนจึงเป็นมหรสพสำคัญในสมัยอยุธยา คู่กับละครในเรื่องรามเกียรติ์และสิ้นสุดลงสมัยอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2310

Advertisement

สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) เริ่มหัดแสดงโขน และละครผู้หญิงทั้งวังหลวงและวังหน้า สำหรับเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง หัดโขนและละคร (ชาย) ประจำคณะของตน สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงให้หัดละครในและโขน ให้ประณีตงดงามยิ่งขึ้น เจ้านาย ขุนนาง หัดโขนละคร ประจำคณะของตน สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงเคยมีคณะโขนของพระองค์เองเมื่อครั้งทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และทรงให้เลิกละครหลวง ทำให้ตัวละครรวมถึงแบบแผนการแสดงละครในของหลวงแพร่หลายไปสู่ละคร เจ้านาย ขุนนาง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงให้หัดละครในขึ้นมาใหม่ และพระราชทานให้ข้าราชการ ขุนนาง เจ้านาย หัดละครผู้หญิงได้

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เกิดวิกฤตการณ์วังหน้า ทำให้ละครวังหน้าบางส่วนอพยพไปอยู่กัมพูชาไปเป็นครูละครของสมเด็จนโรดม อนึ่ง รัชกาลที่ 5 ทรงให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เป็นผู้ดูแลกรมโขนหลวงละครหลวงและมหรสพอื่นๆ ทำให้การแสดงโขนมีพัฒนาการในรูปแบบใหม่ๆ คือ มีการปรับการแสดงแบบใหม่ๆ มีฉาก แสงเสียง มีโรงละครแบบสมัยใหม่ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นำเอาบทรามเกียรติ์มาปรับเป็นคอนเสิร์ต เช่น นางลอย นาคบาศ พรหมาศ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตั้งกรมมหรสพ ฝึกหัดโขนละครของหลวง และตั้งโรงเรียนพรานหลวง เพื่อรับเด็กเข้ามาศึกษาวิชาโขน ละคร ดนตรีไทย และดนตรีสากล

สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงตั้งกองมหรสพ สังกัดกระทรวงวัง ให้รวบรวมครูโขนตั้งแต่รัชกาลที่ 5 และ 6 และเปิดรับนักเรียนมาหัดโขน ละครหลวงสำหรับใช้ในราชการ เช่น โขนชักรอกตอนพรหมาศที่โรงละครสวนมิสกวันเพื่อต้อนรับผู้สำเร็จราชการอินเดีย เมื่อ พ.ศ.2473 และ พ.ศ.2477 ได้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ หรือวิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน

สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) โอนย้ายนักแสดงโขน ละคร ข้าราชการกองมหรสพ กระทรวงวัง มาสังกัดกรมศิลปากร และพัฒนามาเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เมื่อ พ.ศ.2541 อันเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญในการฝึกสอนโขนไทย

โขนกับวัฒนธรรมอาเซียน

การแสดงโขนของประเทศไทยและกัมพูชาเป็นวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ต้นกำเนิดการแสดงโขนนั้นได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีเรื่องรามายณะของประเทศอินเดีย ในประเทศไทยการแสดงลักษณะนี้เรียกว่าโขน ในขณะที่ประเทศกัมพูชาเรียกว่า Khol และประเทศลาวเรียกว่า พระลักพระลาม ประเด็นความขัดแย้งปรากฏขึ้นเมื่อทางการไทยได้มีการเตรียมการขอจดทะเบียนโขนไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage หรือ ICH) กับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจจากทางฝ่ายสังคมออนไลน์ในประเทศกัมพูชา โดยมีกระแสกล่าวหาว่าประเทศไทยได้ลอกเลียนแบบศิลปะการแสดงของประเทศกัมพูชา บทความนี้ได้รวบรวมความเป็นมาข้อมูลด้านต่างๆ และความคืบหน้าของประเด็นข้อขัดแย้งในปัจจุบันไว้ดังนี้

โขนเป็นการละเล่นเรื่องรามายณะ ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ แรกเริ่มสุด (เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้) เกิดขึ้นในราชสำนักขอม (กัมพูชา) ที่โตนเลสาบ (ทะเลสาบ) เมืองเสียมเรียบ ต่อมาราชสำนักขอม (กัมพูชา) ส่งแบบแผนการละเล่นรามายณะให้ราชสำนักขอมอโยธยาละโว้ (ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา) ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ราชสำนักไทยกรุงศรีอยุธยาสืบจากราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ ได้ถ่ายทอดการละเล่นรามายณะแบบขอมไว้ด้วย แต่ปรับเปลี่ยนเรียกรามายณะด้วยคำใหม่ว่ารามเกียรติ์
โดยประวัติศาสตร์ศิลป์อาเซียน อธิบายว่ารามายณะเล่นเป็นหนังก่อนอย่างอื่น (ชวา เรียกว่า หยัง เขมรเรียกแสบก (อ่านคล้าย สะ-แบก)) แล้วหนังนี้เป็นต้นแบบให้สลักภาพบนเทวสถาน เช่น ปราสาทหิน ซึ่งเป็นต้นแบบในการแสดงโขน

โขนมิได้มีการแสดงเฉพาะในประเทศไทย และกัมพูชาเท่านั้น แต่การแสดงโขนได้ปรากฏในกลุ่มประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศดังหลักฐานจากการจัดงานวัฒนธรรมอาเซียน โดยกระทรวงวัฒนธรรมระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2559 ในโอกาสครบรอบ 234 ปีของการสถาปนากรุงเทพมหานคร ด้วยการจัดแสดงมหกรรมรามายณะอาเซียนของ 7 ชาติอาเซียนกับสาธารณรัฐอินเดีย ดังนี้

1.ตอนยกศร เป็นการแสดงของทุกชาติร่วมกัน

2.ตอนการบูชาเทพเจ้า เป็นการแสดงจากสาธารณรัฐอินเดีย

3.ตอนตามกวาง และลักสีดา เป็นการแสดงจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

4.ตอนนกสดายุและถวายพล เป็นการแสดงจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

5.ตอนเนรเทศพิเภก จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

6.ตอนหนุมานพบนางสีดา จากสาธารณรัฐสิงคโปร์

7.ตอนเผากรุงลงกา และจับนาง จากราชอาณาจักรกัมพูชา

8.ตอนยกรบและสีดาลุยไฟ จากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

9.ตอนคืนนคร จากราชอาณาจักรไทย

การแสดงโขนในมหกรรมรามายณะดังกล่าวเป็นหลักฐานชัดเจนว่าโขนเป็นมรดกวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ในรายการ “มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา” เมื่อ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนในลักษณะ “เห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกตนเอง” ยังไม่ใช่กรณีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

อย่างไรก็ตาม โขนไทยแม้จะมีวิทยาลัยนาฏศิลปและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เป็นสถาบันหลักในการจัดการเรียนการสอนและการแสดงโขนก็ตาม แต่โขนไทยยังคงต้องการการสนับสนุนจากคนไทยให้ช่วยกันสืบทอดมรดกวัฒนธรรมแขนงนี้ให้ยั่งยืนสืบไป

การสืบทอดมรดกโขนไทย

การสืบทอดมรดกโขนไทยมีได้ 3 ลักษณะ คือ

1.การจัดการเรียนการสอนโขนไทย ซึ่งได้เรียนมาตั้งแต่ในราชสำนักสู่การเรียนการสอนของวิทยาลัยนาฎศิลป และพัฒนามาถึงสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นับว่าเป็นหลักของการสืบทอดมรดกโขนไทย หากมีการค้นคว้าวิจัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้มีพัฒนาการและการสืบสานไปอีกยาวนาน

2.การแสดงโขนไทย มีไม่มาก จะมีการแสดงเฉพาะในงานพิธีของรัฐบาลและการจัดแสดงโขนของกรมศิลปากร ทำให้โขนหาดูได้ยาก ประกอบกับมีการแสดงบันเทิงอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในสังคมไทย เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่อสารสนเทศ เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลควรจัดให้มีการแสดงโขนมากขึ้น โดยใช้โรงละครแห่งชาติ และวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศเป็นสถานที่จัดแสดง

3.การสร้างคนดูโขน ถือเป็นปัจจัยสำคัญมาก หากไม่มีคนดูโขนเสียแล้ว โขนย่อมไม่อาจสืบทอดต่อไปได้ การสร้างคนดูโขนนี้ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มแนวคิดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการจัดตั้งโขนธรรมศาสตร์ ต่อมามีสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้จัดให้มีการฝึกหัดโขนและการแสดงโขน ทำให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักโขนและการแสดงโขนมากขึ้น เป็นผลให้โขนสามารถสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาจนถึงทุกวันนี้

สรุปภาพรวม

โขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอาเซียนอย่างแน่นอน แต่การทำให้มรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อไปได้ คือการสร้างคนดูโขนที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดกิจกรรม ฝึกหัดโขนและการแสดงโขนเพื่อให้คนไทยสามารถหาดูโขนได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันเรื่องนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดให้จัดแสดงโขนพระราชทาน โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มาหลายครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2550

และปีนี้ พ.ศ.2562 จะจัดแสดงอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขอเชิญทุกท่านร่วมเข้าชมโขนพระราชทาน เพื่อสร้างคนดูโขนที่จะร่วมกันสืบทอดมรดกโขนไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image