มะเร็งเต้านมกับการเสริมหน้าอก โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

ข้อมูลจากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ ในปี พ.ศ.2559 พบว่าประเทศไทยมีการเสริมสวยเปลือกตาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 16,584 ครั้ง เสริมหน้าอกเป็นอันดับสอง จำนวน 14,435 ครั้ง เสริมจมูกเป็นอันดับสาม จำนวน 12,182 ครั้ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
ปีละประมาณร้อยละ 9

เนื่องจากข้อมูลนี้ เป็นการรวบรวมจากการผ่าตัดเสริมสวยของแพทย์สมาชิกของสมาคม จึงอาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงหลายเท่า เนื่องจากเมืองไทย แพทย์ที่ทำศัลยกรรมตกแต่งมีหลายสาขา นอกจากแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง ยังมีแพทย์ทั่วไป แพทย์เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์ ศัลยแพทย์ สูติ-นรีแพทย์ เป็นต้น

จะเห็นว่าการเสริมหน้าอกซึ่งแต่เดิมจำกัดอยู่กับผู้หญิงข้ามเพศ หรือผู้หญิงที่ต้องการมีหน้าอก จากความนิยมในอาชีพ เช่น นางแบบ นักแสดง พริตตี้ ฯลฯ ในปัจจุบัน ความนิยมมีมากขึ้น โดยเป็นทางเลือกสำหรับผู้หญิงทุกคนที่อยากมีหน้าอกโตกว่าเดิม บางคนเหตุผลคือ ทำเพราะฝ่ายชายต้องการ

สิ่งที่น่ากังวลคือ ผลเสียที่จะตามมาและภาวะแทรกซ้อนทั้งระยะสั้นระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมถึงมะเร็ง

Advertisement

ในเรื่องนี้ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ในปี ค.ศ.2017ว่า “ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่จะสรุปได้ว่า การเสริมหน้าอกมีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากมีผลเสียจากภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเสริมหน้าอกและสารที่ใช้เสริมหน้าอก จนอาจต้องผ่าตัดแก้ไข อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่ผู้หญิงบางกลุ่มอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ ซึ่งอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันผิดปกติต่อสารที่ใช้เสริมหน้าอก”

รายละเอียดที่สรุปโดยสถาบันการแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกา (IOM= Institute of Medicine) จากการศึกษาวิจัย เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของการเสริมหน้าอก มีดังนี้

1.ซิลิโคนที่มีคุณภาพที่ใช้เสริมหน้าอก ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพโดยทั่วไป

Advertisement

2.ในการศึกษาทางวิทยาภูมิคุ้มกัน ยังมีข้อจำกัด แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่พบว่าซิลิโคนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิคุ้มกัน

3.ไม่มีการเพิ่มขึ้นของมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรก หรือเป็นกลับคืน ในคนเสริมหน้าอก

4.ผู้หญิงที่เสริมหน้าอกบางรายมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภูมิแพ้ตนเอง (Connective tissue disease) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) โรคของระบบประสาท (Neurologic diseases) อาการทางร่างกายต่างๆ เช่น ปวดเมื่อย เหน็บชา ขี้ลืม มึนงง อ่อนแรง อ่อนเพลีย ฯลฯ มากกว่าคนไม่เสริม

5.ไม่มีหลักฐานว่า ระดับซิลิโคนที่เพิ่มในน้ำนมแม่เสริมหน้าอก (55 ng/ml: แม่ใม่เสริม 51ng/ml) จะมีอันตรายทั้งระยะสั้นระยะยาวต่อทารกและไม่ลดปริมาณน้ำนม ดังนั้นแม่เสริมหน้าอกควรให้นมลูก

6.สำหรับอันตรายระยาวต่อเด็กที่ดื่มนมแม่ที่เสริมหน้าอก ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ

7.อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่การจะเสริมหน้าอก ควรพิจารณาถึงภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด หรือจากสารที่ใช้เสริมหน้าอก ที่พบบ่อยพอสมควรจนต้องผ่าตัดแก้ไข ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ กาย ใจ ภาวะแทรกซ้อนนี้ เกิดมากขึ้นตามจำนวนปีที่ผ่านไป เกิดมากในผู้หญิงที่อ้วน อายุมาก สูบบุหรี่ ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง ฯลฯ

ภาวะแทรกซ้อนมีดังนี้

1.ภาวะแทรกซ้อนของการใช้ยาชา ยาสลบ เช่นแพ้ยาชา ยาสลบ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ หากรุนแรงอาจเสียชีวิต

2.ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเสริมหน้าอกและสารที่เสริมหน้าอก พบได้ตั้งแต่น้อยกว่าร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 28 จนต้องผ่าตัดแก้ไข เช่น ห้อเลือด มีเลือดคั่ง (Hematoma) ผิวหนังเต้านมตาย ถุงซิลิโคนทะลุ ติดเชื้อที่เต้านม ติดเชื้อที่ผิวหนัง เจ็บชาหัวนม มีแผลเป็นขนาดใหญ่ พังผืดหดรัดตัว ซิลิโคนเหลวรั่ว นมและหัวนมสองข้างระดับไม่เท่ากัน นมและหัวนมบิดเบี้ยว ซิลิโคนอยู่ผิดที่ คลำถุงซิลิโคนได้ชัด ถุง
ซิลิโคนโป่งผิดที่ ผิวหนังเต้านมไม่เรียบ ดูไม่เป็นธรรมชาติ

3.เกิดหลอดเลือดดำที่ผิวหนังเต้านมอุดตันอักเสบ เรียกว่า Mondor disease ทำให้ เจ็บ บวม มีก้อนที่เต้านม แม้จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่นอกจากทำให้ไม่สุขสบายแล้ว อาจเกิดลิ่มเลือดหลุดเข้าเส้นเลือด ไปอุดตันสมองและหัวใจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

4.ผ่าตัดเปลี่ยนซิลิโคน การคงรูปของเต้านมที่เสริม ขึ้นอยู่กับอายุ รูปร่าง ชนิดของซิลิโคน และจำนวนปีที่ผ่านไป ซิลิโคนมักจะมีอายุการใช้งาน คนที่เสริมหน้าอก พึงพอใจในรูปร่างเต้านม ร้อยละ 86 ในสองปีแรก แต่ห้าปีต่อมา ความพึงพอใจลดลงเหลือร้อยละ 40

5.เสียเงิน ร้อยละ 20 ไม่พึงพอใจกับผลลัพธ์ของการเสริมหน้าอก เพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวัง คนที่ไม่พึงพอใจ มักต้องผ่าตัดแก้ไขจนพึงพอใจ

คำแนะนำเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเสริมหน้าอก

1.เลือกแพทย์ที่มีฝีมือ มีประสบการณ์ มีความชำนาญ ควรตรวจสอบด้วยว่าไม่ใช่หมอปลอม

2.เลือกสถานพยาบาล ที่สะอาด ปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีบุคลากร ครบพร้อม

3.เลือกชนิดของสารเสริมหน้าอกที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถุงซิลิโคนสามารถทนต่อแรงกดบีบ ยืดขยายตัวได้ดี โอกาสซึมหรือรั่วต่ำ ของเหลวที่บรรจุในถุงเป็น ซิลิโคนเหลว หรือน้ำเกลือที่มีการรับประกัน อย่าเลือกที่ราคาถูก แต่คุณภาพต่ำ เพราะจะเกิดอันตราย และควรเลือกขนาดให้พอเหมาะไม่ควรใหญ่กว่าสรีระจนเกินไป

4.ติดตามข่าวสาร ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากสารเสริมหน้าอก เช่นในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 อย. ร่วมกับ 2 สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งฯ แถลงเรียกคืนเต้านมเทียมชนิดขรุขระ หลังพบข้อมูลผู้ป่วย
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเต้านม 800 คนทั่วโลก สัมพันธ์กับการเสริมเต้านมเทียมซิลิโคนผิวขรุขระ โดยมีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเต้านมใกล้สารเสริมหน้าอก สูงกว่าคนที่ไม่ได้เสริม 67.6 เท่า ในจำนวนนี้มีคนไทย 1 คน

สรุป การเสริมหน้าอกเพื่อการเสริมสวย เป็นการกระทำเพื่อหวังผลความสวยงาม ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ข้อดี คือหน้าอกโตได้ทันตาเห็น แต่อาจเกิดอันตรายจากการผ่าตัดเสริมสวย เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งระยะสั้นระยะยาว เสียสุขภาพ เสียทุนทรัพย์ ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จึงควรพิจารณาตามความจำเป็น ชั่งน้ำหนักระหว่างผลที่ได้รับกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น การเลือกแพทย์ สถานที่ผ่าตัด สารเสริมหน้าอก โดยไม่คำนึงถึงราคาถูกเพียงอย่างเดียว อาจลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image