คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน คุณภาพฝังตัวในทุกสิ่ง : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายด้านการผลิตและพัฒนาครู” ให้กับคณะผู้บริหารงานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในการประชุมเพื่อมอบนโยบายเกี่ยวกับการผลิตครูและวิจัยทางครุศาสตร์ว่า

“ขณะนี้ภารกิจสำคัญของ อว. มี 3 เรื่อง คือ การสร้างและพัฒนาคน การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ และการสร้างและการพัฒนานวัตกรรม โดยเรื่องการสร้างคนไม่ได้เน้นการผลิตบัณฑิตอย่างเดียวแล้ว ซึ่งการผลิตบัณฑิตแต่ละปีประมาณ 2.5 ล้านคน แต่ต้องขยายไปถึงคนที่อยู่ในการทำงานที่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะ (Re skill) และเพิ่มทักษะ (Up skill) ด้วย เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แรงงานที่มีอยู่อาจตกงานและต้องมีการเปลี่ยนงานมากกว่า 38 ล้านคน”

นอกจากนั้น ท่านรัฐมนตรียังเน้นว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตบัณฑิตตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้ทัน ดังนั้น มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ป้อนกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้นในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) และในลักษณะการฝึกอบรมในงานที่ทำ (On the job training) ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง

ลักษณะการเรียนการสอนต่อจากนี้ไป จะไม่มุ่งเน้นที่ “วุฒิการศึกษา” อีกแล้ว เพราะระบบการศึกษาปกติเป็นการศึกษาที่ใช้เวลานานเกินไปไม่ทันกับความต้องการของภาคเอกชน บทบาทมหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างนวัตกรรม และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่จากคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้

Advertisement

โจทย์ใหญ่ของไทย จึงเป็น “การยกเครื่องประเทศ” เพื่อปรับสู่ศตวรรษที่ 21 การปฏิรูปประเทศจะเป็นหัวใจสำคัญของการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 การสร้างคนให้เป็น Smart Citizen คือการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องอาศัย Head (สมอง) Hand (ทักษะ) Health (สุขภาพจิต สุขภาพกาย) และ Heard (ทัศนคติ จิตใจที่ดี) ครูต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการสอนใหม่ สิ่งที่สอนต้องจับต้องได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ครูในศตวรรษที่ 21 จะต้องเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจด้วย คือไม่ใช่เพียงให้ความรู้และทักษะเท่านั้น หัวใจของความเป็นครูคือการสร้างให้เด็กเกิดอุปนิสัยที่ดี ถูกต้อง เด็กจะสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต การสร้าง Smart Citizen จำเป็นต้องมี Smart teacher ถ้าเราไม่สามารถสร้างเบ้าหลอมที่ดีได้ก็จะไม่สามารถสร้างคนที่ดี

ว่าไปแล้ว กว่า 30 ปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่า “คุณภาพ” อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ โดย “คุณภาพ” ยังมีความสำคัญยิ่งต่อ “ระบบการศึกษาของไทย” ด้วย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา แนวความคิดและหลักการพื้นฐานของ “คุณภาพ” จึงไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ตั้งแต่ปรมาจารย์ด้านคุณภาพ ประดิษฐ์เครื่องมือสำคัญในการควบคุมคุณภาพและการบริหารจัดการคุณภาพ

แต่ “เครื่องมือ” ในการพัฒนาคุณภาพ เปลี่ยนไปตาม “เทคโนโลยี” คือ อำนวยความสะดวกในการตรวจคัด ตรวจจับ และเฝ้าระวัง “กระบวนการ” ได้อย่างรวดเร็วและทรงประสิทธิภาพมากขึ้นๆ

ปัจจุบัน “คุณภาพ” จึง “ฝังตัว” อยู่ในทุกเรื่อง แม้แต่ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของสรรพสิ่งอย่างไม่รู้ตัวเลย ครับผม !

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image