ผีเสื้อกระพือปีก : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

คดีหนุ่มฮ่องกง “เฉิน ถงเจีย” พาเพื่อนสาวไปฉลองวันวาเลนไทน์ที่ไต้หวัน และถูกกล่าวหาว่าทำการฆาตกรรมเพื่อนสาว แล้วหลบหนีกลับฮ่องกงเหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2018 การดำเนินการของขบวนการยุติธรรมในคดีอาญาของฮ่องกงนั้น ศาลยึดหลัก “เขตอำนาจศาล” คดีจะต้องเกิดขึ้นในฮ่องกงเท่านั้น ศาลจึงจะมีอำนาจดำเนินคดีได้

แต่คดี “เฉิน ถงเจีย” เกิดขึ้นที่ไต้หวัน บรรดาหลักฐานสำคัญก็อยู่ที่ไต้หวัน

ศาลฮ่องกงไม่มีอำนาจดำเนินคดี จึงพิจารณาเพียงข้อหาฟอกเงิน ศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกจำเลย โทษจำสิ้นสุดวันที่ 23 ตุลาคม 2019

และ “เฉิน ถงเจีย” ก็พ้นโทษในวันเดียวกัน

Advertisement

การที่จำเลยพ้นโทษมิได้หมายความว่า คดีฆ่าผู้อื่นถึงที่สุด

เพราะเรื่องคดีอาญาต้องผ่านขบวนการยุติธรรมของไต้หวัน

ขณะอยู่ระหว่างการจองจำ “เฉิน ถงเจีย” ยืนยันว่าเมื่อพ้นโทษที่ฮ่องกง ก็จะไปมอบตัวที่ศาลไต้หวัน รัฐบาลฮ่องกงแสดงเจตจำนงให้การสนับสนุนกรณีดังกล่าว

Advertisement

แต่รัฐบาลไต้หวันแสดงท่าทีไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ขอให้ฮ่องกงต้องทำเป็นสัญญาข้อตกลงกับไต้หวันอันเกี่ยวกับการช่วยเหลือซึ่งกันในขบวนการยุติธรรม

ไต้หวันจึงยอมรับการมอบตัวของผู้ถูกกล่าวหา

การที่ไต้หวันขอให้ทำสัญญานั้น เป็นการบ่งบอกสถานะในเชิงสัญลักษณ์ คือสถานะระหว่างไต้หวันและฮ่องกงกับไต้หวันเท่าเทียมกัน

แต่ความจริงปรากฎว่า เป็นการกดดันให้ฮ่องกงยอมรับ “ประเทศสาธารณรัฐจีน” (中華民國) แบบวิปริต และหันหลังให้กับหลักการพื้นฐาน “จีนเดียว” นั่นเอง

ล่าสุด วันที่ 22 ตุลาคม 2019 ไต้หวันแจ้งว่า แต่เดิมประสงค์ให้ฮ่องกงจัดการกับคดีดังกล่าวก่อน แต่ฮ่องกงมิได้ตอบกลับอย่างเป็นทางการ

บัดนี้ ไต้หวันมีความประสงค์จะจัดการดำเนินคดีเอง ทั้งนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัว “เฉิน ถงเจีย” ที่ฮ่องกงกลับไปเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมที่ไต้หวัน

วันที่ 23 ตุลาคม เช้ามืด รัฐบาลฮ่องกงออกแถลงการณ์ว่า ขอปฏิเสธการร้องขอของไต้หวัน เพราะเป็นปฏิบัติการข้ามแดน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่เคารพอำนาจของศาล

แม้ “เฉิน ถงเจีย” เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ แต่เมื่อพ้นโทษจำคุกที่ฮ่องกง ก็เป็นบุคคลที่มีอิสรภาพตามกฎหมาย รัฐบาลฮ่องกงไม่มีสิทธิไปหน่วงเหนี่ยวกักขังแต่อย่างใด

อีกประการ 1 “เฉิน ถงเจีย” ก็ได้แสดงเจตนาที่จะมอบตัวที่ไต้หวันหลังจากพ้นโทษ

การเดินทางไปมอบตัวที่ไต้หวัน เขามีสิทธิเลือกสรรบุคคลที่ร่วมเดินทางไปด้วย และเมื่อเดินทางถึงไต้หวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันก็ชอบที่เข้าทำการจับกุมได้ตามหมายจับโดยพลัน

หากมองย้อนกาลอดีต ความสัมพันธ์ฮ่องกงกับไต้หวัน แม้ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่เมื่อมีคดีทั้ง 2 ฝ่ายก็ให้ความร่วมมือกันอย่างดี เช่น

คดีฆ่าโบกปูนที่ Tsuen Wan ฮ่องกง เมื่อเดือนมีนาคม 2016 ผู้ต้องหา 3 คนหลบหนีไปที่ไต้หวัน หลังจากทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจาขอความร่วมมือกัน รัฐบาลไต้หวันส่งฆาตกร 3 คนไปที่สนามบินไต้หวัน ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงรับกลับไปดำเนินคดีที่ฮ่องกง
แต่เหตุใดจึงไม่ร่วมมือกันเหมือนอดีต

กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาจะมามอบตัว ต้องถือเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลไต้หวันที่มี “ฉ้าย อิงเหวิน” เป็นผู้นำสูงสุดทำการปฏิเสธนั้น

ย่อมต้องถือเป็น “ตรรกะป่วย” เหตุผลคือ

1 ปิดบังมิให้ใช้อำนาจทางขบวนการยุติธรรม

1 เบี่ยงเบนความเป็นจริงในขบวนการยุติธรรม

ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ประท้วงการแก้ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่จีนในครั้งนี้ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของ “ฉ้าย อิงเหวิน” ได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองมากจนสามารถเปลี่ยนสถานการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในต้นปีหน้า

เวลา 1 ปีที่ผ่านมา “หัง กั๋วอี๋” ผู้ท้าชิงของพรรคประชาชาติจีน มีคะแนนเสียงนำลิ่ว ทิ้งห่าง “ฉ้าย อิงเหวิน” ชนิดมองไม่เห็นฝุ่น โดยการชูธงพูดจริงทำจริง พัฒนาเศรษฐกิจ เป็นต้น

แต่เหตุการณ์ประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ฮ่องกงเพียงงานเดียวดลบันดาลให้ “ฉ้าย อิงเหวิน” พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากรองเป็นนำโด่ง ชนิดไม่เห็นฝุ่นเช่นกัน

ก็เพราะนางสามารถใช้วิกฤตการเมืองที่ฮ่องกงมาเล่นการเมืองที่ไต้หวัน

ต้องยอมรับว่า “ฉ้าย อิงเหวิน” ได้ประโยชน์ทางการเมืองไม่น้อย ดูประหนึ่งว่า โอกาสที่จะได้ครองแชมป์ในการเลือกตั้งต้นปีหน้าค่อนข้างสูง

เนื่องจากนางมีต้นทุนทางการเมืองเพิ่มขึ้นมหาศาล

บัดนี้เป็นต่อผู้ท้าชิงอยู่หลายขุม

จึงไม่แปลกที่นักวิเคราะห์ไต้หวันพรรณนาว่า “ฮ่องกงได้กลายเป็นตู้ ATM สำหรับกดเงิน ‘ค่าบริโภคทางการเมือง’ กดเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น”

หากยึดหลักตรรกะ การที่ “เฉิน ถงเจีย” ผู้ถูกกล่าวหาฆ่าเพื่อนสาวนั้น ไต้หวันรับไว้ แล้วให้ศาลพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เรื่องก็จบกันที่ศาล ไม่น่าจะมีอะไรยุ่งยาก

การที่ไต้หวันปฏิเสธรับมอบตัวนั้น น่าจะมาจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่าสิ่งอื่นใด

การเมืองของไต้หวันถือว่าเป็นระบบ 2 พรรค

1.พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งมี “ฉ้าย อิงเหวิน” เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับสมญานามว่า “ค่ายสีเขียว” ซึ่งเป็นพรรคประสงค์ความเป็น “เอกราชไต้หวัน”

2.พรรคประชาชาติจีน ซึ่งมี “หัง กั๋วอี๋” เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับสมญานามว่า “ค่ายสีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนนโยบาย “จีนเดียว”

เนื่องจากเหตุการณ์ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน จึงเป็นเหตุให้คนไต้หวัน U-Turn ไปสนับสนุน “ฉ้าย อิงเหวิน” นอกจากนี้ นางมีความสามารถใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ จึงทำคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ก็เพราะเหตุนี้ จึงทำให้ผู้ท้าชิงจากคะแนนนำหน้ากลายเป็นรองในเวลาเพียง 4 เดือน

ตัดกลับไปที่เหตุการณ์ประท้วงที่ฮ่องกงอันเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านการร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายแดนให้แก่ประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2019 เหตุการณ์ปั่นป่วนและยุ่งเหยิงนับวันรุนแรงและยกระดับอย่างต่อเนื่อง มีเพิ่มไม่มีลด

แม้ยังไม่มีหลักฐานนำสืบได้ว่า ความวุ่นวายที่ต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ปฐมเหตุน่าจะมาจากหนุ่มฮ่องกง “เฉิน เจียถง” ฆ่าเพื่อนสาวแล้วหนีกลับฮ่องกง

แต่ก็ยังมีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูง

อุปมาคือ “ผีเสื้อกระพือปีก” กลายเป็น “พายุทอร์นาโด” เสมือนเด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว นัยว่าเรื่องเล็กมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวง สรุปเป็นภาษาฝรั่ง

Butterfly Effect !

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image