มะกันค้านแบน3สาร วัดใจรบ. โดย นายด่าน

ส่อเค้ายืดเยื้ออีกกรณีที่ประชุม คณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม มีมติเอกฉันท์แบนการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร สารคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562

เพราะล่าสุดสหรัฐได้ออกมาคัดค้านการแบน 3 สาร โดยเฉพาะ “สารไกลโฟเซต”

โดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยส่งหนังสือคัดค้านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 7 คน

หนังสือที่ส่งไปยังนายกฯมีเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐแนบมาด้วยนั้น มี 2 ประเด็นหลักคือ

Advertisement

1.การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย

2.ไกลโฟเซตเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่น ทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงขอให้ไทยชะลอการตัดสินใจเพื่อหาทางออก

การออกมาคัดค้านของสหรัฐนั้นไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อะไร เพราะบริษัทด้านเคมีเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพรายใหญ่ของโลกจากสหรัฐเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสารไกลโฟเซต

Advertisement

แต่ละปีมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรของไทยหลายหมื่นล้านบาท

เฉพาะในรอบ 11 ปี พ.ศ.2551-2561 ไทยนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร รวม 1,663,780 ตัน มูลค่ารวม 246,715 ล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมจากกรมวิชาการเกษตร เป็นเอกสารที่อ้างอิงในการประกอบการพิจารณาญัตติด่วน เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ช่วงเดือน ก.ค.62

แน่นอนว่าไกลโฟเซตเป็นหนึ่งในวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ไทยนำเข้า

ว่ากันว่าการแบนสารไกลโฟเซตอาจกระทบการนำเข้าพืชผลทางการเกษตรที่ใช้สารดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาไทยนำเข้าจากสหรัฐปีละหลายหมื่นล้านบาท

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

ขณะที่มูลนิธิ BIOTHAI มองว่า การแทรกแซงของสหรัฐในกิจการภายในของไทย ชี้ให้เห็นแล้วว่า การแบนพาราควอตและไกลโฟเซตนั้นมิได้เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของหลายประเทศ

ส่วนท่าทีของรัฐบาลไทยนั้น แม้ว่าทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม 3 รมต.ที่ผลักดันการแบน 3 สารเคมี จะออกมายืนยันเป็นเรื่องกฎหมายภายในของไทยที่สามารถทำได้

แต่กระบวนการนับจากนี้ต้องติดตามว่ารัฐบาลไทยจะต่อสู้ ชี้แจงให้สหรัฐเข้าใจและยอมรับได้อย่างไร

หากท้ายที่สุดแล้ว สหรัฐจะใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าเพื่อกดดันไทยทุกวิถีทาง

จะเป็นการวัดใจรัฐบาลไทยว่ากล้าที่จะเดินหน้าแบน 3 สาร เพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image