ยุทธวิธี’นปช.’ ปราบโกง ประชามติ ซับซ้อน ย้อนแย้ง

ยิ่งใกล้ถึงวันที่ 7 สิงหาคม มากเพียงใด บทบาทและความหมายของคำว่า “ประชามติ” ยิ่งดำเนินไปด้วยความสลับซับซ้อนและย้อนแย้งเป็นอย่างสูงมากเพียงนั้น

ก่อนหน้านี้เคยมีคำว่า “ล้ม” ประชามติ “ปรากฏ” ขึ้น

ไม่ว่าจะมาจากเลขาธิการ คสช.อย่าง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ไม่ว่าจะมาจากเลขาธิการ สมช.อย่าง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม

ความหมายพุ่งเข้าหาพวกที่จะ “ก่อกวน” และสร้าง “ความวุ่นวาย”

Advertisement

วาทกรรมและความรุนแรงต่อการกล่าวหาขบวนการ “ล้มประชามติ” นำไปสู่ความเข้าใจที่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการเข้มในการ “ปรับทัศนคติ”

ถึงขั้นมีการร่าง “หลักสูตร” และจะเปิด “ค่าย”

กระนั้น พลันที่ทางด้าน นปช. โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นำเสนอสโลแกนว่าด้วย “3 ไม่” ขึ้นมา

Advertisement

นั่นก็คือ “ไม่ล้ม ไม่โกงและไม่อายพม่า”

ไม่ล้มคือ ไม่ล้มประชามติ ไม่โกงคือ ไม่โกงประชามติ และ ไม่อายพม่า คือการออกมาใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติถล่มทลายแบบที่เห็นในพม่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

ประชามติยิ่งเพิ่มความ “ซับซ้อน” และ “ย้อนแย้ง” เป็นทวีคูณ

 

ความย้อนแย้งอย่างยิ่งยวดก็ตรงที่สโลแกนของ นปช.ยืนยันในการคัดค้านและต่อต้านไม่ให้มี “การล้ม” ประชามติอย่างแน่วแน่และมั่นคง

ความย้อนแย้งของ “สโลแกน” นี้อยู่ตรงไหน

1 อยู่ตรงที่การยืนหยัดคัดค้านและต่อต้านทุกกระบวนการอันจะนำไปสู่การล้มล้างการ “ทำประชามติ” ในวันที่ 7 สิงหาคม

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญ ยังอยู่ตรงที่ “ความเชื่อมั่น”

เป็นความเชื่อมั่นอันมาจาก “นปช.” ซึ่งหากยึดกุมตามฐานข้อมูลจาก พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นของ นปช.เท่ากับเป็นเงาสะท้อนของพรรคเพื่อไทย

เป็นความเชื่อมั่นที่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” จะไม่ผ่าน “ประชามติ”

เป็นความเชื่อมั่นต่อฐานเสียงในทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย อย่างน้อยก็เคยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นความเชื่อมั่นต่อเครือข่ายของ นปช.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

นปช.จึงได้เสนอสโลแกน 1 ไม่ล้มประชามติ ขณะเดียวกัน 1 ไม่โกง กระทั่งมีการจัดตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ”

ถามว่า สโลแกน 3 ไม่ สะท้อน “ยุทธศาสตร์” อะไรในทางการเมือง

คําตอบ 1 สะท้อนยุทธวิธีที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและ นปช.ยึดกุมตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

นั่นก็คือ “อดทน และรอคอย”

จะเห็นได้ว่า นปช.มิได้ดำเนินการเหมือนกับที่เคยกระทำเมื่อเดือนเมษายน 2552 และที่เคยกระทำเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

นั่นก็คือ ไม่มีการชุมนุม ไม่มีการเคลื่อนไหว หากสงบนิ่งอยู่ในที่ตั้ง

คำตอบ 1 เมื่อสัมผัสเข้ากับคำขวัญที่ว่า “ไม่อายพม่า” สะท้อนให้เห็นว่ายุทธวิธีของ นปช.เป็นการศึกษาบทเรียนจากการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

จาก “ชัยชนะ” ของ นางอองซาน ซูจี ต่อ “รัฐบาลทหาร”

นั่นก็คือ ความมั่นใจที่ว่าไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งโดย “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใด หรือ “กฎหมายเลือกตั้ง” ที่ร่างมาอย่างไร พรรคเพื่อไทยต้องได้ชัยชนะอย่างแน่นอน

นปช.จึง “ไม่ชุมนุม” นปช.จึง “ไม่เคลื่อนไหว”

ทุกการเคลื่อนไหวจึงแอบอิงอยู่กับกฎหมายและสร้างความชอบธรรมบนพื้นฐานที่ถูกกฎหมายโดยเฉพาะในห้วงแห่งการทำประชามติ

“ศูนย์ปราบโกง” ก็แอบอิงอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง”

กระบวนการจัดตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ก็ดำรงอยู่บนรากฐานแห่ง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

เป็นไปตามคำขวัญ “ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า”

 

อุบัติแห่ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” เป็นองคาพยพ 1 ในการเคลื่อนไหวของ นปช.อย่างแน่นอน

แต่ก็อิงอยู่กับ 1 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และ 1 พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 แสดงบทบาทเป็นตัวช่วยให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

การจัดการกับ “ศูนย์ปราบโกง” จึงสลับซับซ้อนและอ่อนไหวในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image