สตง. ป.ป.ช.-บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กรณีศึกษาองค์กรอิสระ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เรื่อง บทบาท อำนาจขององค์กรอิสระกับนโยบายสาธารณะ ยังมีแง่มุมชวนวิวาทะต่อจากพฤหัสฯที่แล้ว เพราะเกิดกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าสุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างไร และส่งผลกระทบถึงวิธีคิด วิธีทำงานขององค์กรอิสระหรือไม่ โดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ กับสโมสรฟุตบอลเอฟซีประจำจังหวัดและทีมฟุตบอลในสังกัด ที่กำลังแข่งขันยกระดับกันอย่างเข้มข้นเวลานี้

นั่นคือ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับคดีองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ให้เงินอุดหนุนสมาคมกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ ไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง

ซึ่งสืบเนื่องมาจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบการเงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาสู่ความเป็นเลิศ ที่เบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้สมาคมกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการให้ประชาชนร่วมชมและเชียร์ฟุตบอลทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นการใช้เงินงบประมาณที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่เอกชน มิใช่เป็นการใช้เงินงบประมาณเพื่อดูแลจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นโดยส่วนรวม

Advertisement

จึงมีมติให้รับเรื่องไว้ดำเนินการ โดยมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช.ไปแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวบพยานหลักฐานต่อไป

กรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง เช่น อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ จัดสรรงบประมาณทำโครงการเพิ่มพูนศักยภาพชุมชน จัดอบรมนักเรียน ม.6 สอนเสริมรายวิชาของการสอบ GAT/PAT เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน ได้รับความสนใจจำนวนมาก สตง.เขตเพชรบุรีมีหนังสือทักท้วงให้ชี้แจงเหตุผลการใช้งบประมาณนี้เมื่อปี 2556

องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตใช้งบประมาณสร้างโรงพยาบาลเพื่อสร้างโอกาสในการรักษาพยาบาลให้ประชาชน สตง.ทักท้วงว่าทำภารกิจซ้ำซ้อนกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

Advertisement

ทั้งสองกรณีหลังนี้ เกิดก่อนกรณี อบจ.บุรีรัมย์ เรื่องถูกส่งไปถึง ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ช.หยิบยกขึ้นมาพิจารณาหาข้อเท็จจริงเองหรือไม่ ยังไม่ปรากฏข่าวคราวคำแถลงใดๆ ออกมา นอกจากเสียงตอบโต้ของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ว่า มุมมอง และการปฏิบัติของ สตง.แคบ ตีความข้อความตามกฎหมายแบบแข็งทื่อ ตายตัว มุ่งควบคุม จับผิด มากกว่าส่งเสริมสนับสนุน ทั้งๆ ที่สามารถตีความอย่างกว้างได้

การดำเนินนโยบายสาธารณะ และการบริการสาธารณะจึงไม่ควรยึดแต่ข้อความตามตัวอักษรเป็นสรณะโดยไม่มองในมุมอื่นที่กว้างขวางออกไป โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ประชาชน คนยากคนจนได้รับ

จากแนวคิดและการปฏิบัติของ สตง.ดังกล่าวจึงส่งผลกระทบและสร้างปัญหาให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับ ในการใช้งบประมาณส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สุขภาวะรวมถึงการกีฬา ตลอดมา

กรณีเหตุเกิดกับสำนักงานและกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 รายจนบานปลาย โดนพิษมาตรา 44 ให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ต่อมายอมรับปรับเปลี่ยน เป็นอีกกรณีตัวอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน ล้วนเป็นผลจากมุมมองด้านเดียว

ปัญหานี้เกิดขึ้นมายาวนานไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนมาก จึงชอบที่จะใช้งบประมาณไปกับการพัฒนาทางกายภาพ เห็นผลชัด จับต้องได้ สิ่งก่อสร้าง ถนน หนทาง สะพาน อาคารมากกว่า และเป็นโครงการที่มีโอกาสได้เงินทอนดีกว่า การถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งทุจริตมากกว่าที่อื่นๆ จึงยังคงดังอยู่ต่อไป ขณะที่โอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน ประชาชน คนขาดโอกาสลดลง

ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง สตง. คณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ป.ป.ช. สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ควรหาบทสรุปแนวคิด แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมของ สตง.ให้ชัดเจนออกมา

ถ้ายังไม่มีบรรทัดฐานที่ดีกว่า ปล่อยให้เป็นอำนาจ ดุลพินิจวินิจฉัยของฝ่ายเดียวอย่างที่ผ่านมา ก็จะมีกรณีปัญหาเกิดขึ้นใหม่และส่งผลกระทบต่อไปอีกไม่จบสิ้น

ยิ่งการที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มบทบาทให้อำนาจองค์กรอิสระเป็นผู้วินิจฉัยการดำเนินนโยบายสาธารณะของฝ่ายบริหาร แต่หากยังคงมีมุมมองและการปฏิบัติแบบเดิม ไม่เปิดกว้าง ย่อมมีโอกาสทำให้เกิดปัญหาทำนองเดียวกันกับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ประสบ จะกระทบถึงบริการสาธารณะที่ประชาชนควรได้รับรุนแรงขึ้นไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image