ไทย พบ พม่า :‘อู นุ’กับงานเขียนชาตินิยมยุคหลังเอกราช โดย : ลลิตา หาญวงษ์

ฉากเริ่มต้นของภาพยนตร์ “ลูดุ้ อ่อง ตัน” เป็นอู นุ กำลังเขียนบทละครเรื่องนี้

การศึกษาแบบอังกฤษและมาตรฐานอันสูงลิบของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1920 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พม่ามีปราชญ์และนักเขียนชั้นดีจำนวนหนึ่ง สังคมพม่าเป็นสังคมแห่งการอ่าน ภาพผู้คนนั่งอ่านหนังสือหรือหนังสือรวมเรื่องสั้นยังเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองใหญ่ในพม่าปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่บุคคลสำคัญของพม่าส่วนใหญ่จะเขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง หรือมีงานอดิเรกเป็นการเขียนนิยาย/เรื่องสั้น อู นุ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่า (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.1948-1958 และ 1960-1962) เป็นรัฐบุรุษพม่าอีกคนหนึ่งที่ชอบขีดๆ เขียนๆ และอินกับการแต่งบทละครและนิยาย ดังที่อีลีทพม่าในยุคนั้นชื่นชอบกัน

นักเขียนที่เป็นจุดสนใจ และตรึงสายตาของชาวพม่าจำนวนมากในยุคปลายอาณานิคมล้วนเป็นนักเขียนฝ่ายซ้าย มีเตง เพ มยิ้น (Thein Pe Myint) และสองสามีภรรยาเจ้าของสำนักพิมพ์ลูดุ้ (Ludu) เป็นอาทิ แต่ก็มีวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งที่ยึดตรึงชาวพม่าได้ชะงัด ได้แก่ งานเขียนสไตล์ชาตินิยมและต่อต้านระบอบอาณานิคม มุ่งสะท้อนความขมขื่นของสังคมพม่าภายใต้ระบอบอาณานิคม โดยหยิบยกอัตลักษณ์/สัญลักษณ์บางอย่างขึ้นมากระตุ้นความรักชาติ และตอบสนองกับกระแสสงครามเย็นกับระเบียบโลกใหม่ที่กำลังปั่นป่วนประเทศโลกที่ 3 อย่างพม่าในยุคนั้น

สำหรับรัฐบาลของอู นุ ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ไม่เพียงเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งหลักของพรรครัฐบาล AFPFL ของตน แต่ยังท้าทายรัฐแบบพม่าด้วยระบบความคิดใหม่ ที่อีลีทพม่ามองว่าเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อการประกอบสร้างรัฐพม่ายุคใหม่ จริงอยู่ว่าตลอดวัยหนุ่ม ผู้นำชาตินิยมอย่างอู นุ และคนอื่นๆ ในพรรค AFPFL ล้วนได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซ์ และตัวเขาเองก็เป็นถึงผู้นำวรรณกรรมมาร์กซิสต์เข้าไปเผยแพร่ในพม่า ผ่านบุ๊กคลับนามว่า “นากานี” (Nagani Bookclub) ดังที่เคยเขียนเล่าไปแล้วในคอลัมน์นี้

แต่เมื่อพม่าได้รับเอกราช แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ในพม่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สำหรับอู นุ คุณูปการของลัทธิมาร์กซ์ที่สำคัญยิ่งคือการเน้นให้สังคมตระหนักถึงความเท่าเทียม การสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน และต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ที่เปรียบได้กับนายทุนหน้าเลือด นอกจากอู นุ ยังมีผู้ที่น้อมรับแนวคิดมาร์กซ์คนอื่น ๆ แต่คนกลุ่มนี้ ที่ต่อมาพัฒนาไปเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (CPT) ให้ความสำคัญกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบทั้งหมด เพื่อขจัดอิทธิพลของทุนนิยมตะวันตก (และอินเดีย) ทั้งหมดที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศ อู นุ
ตอบรับกับกระแสความนิยมพรรคคอมมิวนิสต์นี้ โดยเฉพาะในเขตชนบท ด้วยการตั้งสันนิบาตมาร์กซิสต์ (Marxist League) ขึ้นมาเพื่อหาทางปรองดองกับพรรคคอมมิวนิสต์ บทบาทของสันนิบาตมาร์กซิสต์มีไม่มากนัก แต่อย่างน้อยเราได้เห็นความพยายามของรัฐบาลพม่าในช่วงแรกๆ ที่นำนโยบายรัฐสวัสดิการมาใช้ การโอนกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐ และการพัฒนาการบริหารภาครัฐให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

Advertisement

ท่าทีของสันนิบาตมาร์กซิสต์ที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้โลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา คือผู้นำพม่าหันเข้าหาสหภาพโซเวียตและจีนมากขึ้น เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศและสงครามกลางเมืองที่ยังดำเนินอยู่ได้ ทำให้รัฐบาลของอู นุ อ่อนแอมาก และจะล้มอยู่รอมร่อ อู นุและรัฐมนตรีในรัฐบาลมองว่ารัฐบาลไม่สามารถรับมือกับการประท้วงอื่นใดได้อีก จึงพยายามกำหนดข้อ
ศีลธรรมและหลักปฏิบัติอันดี เริ่มที่ข้าราชการก่อน และจึงมาที่ประชาชนทั่วไป หรือพูดแบบหยาบๆ คือการโหมโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐบาล และร่วมกันต่อต้านศัตรูของชาติ ได้แก่ คอมมิวนิสต์ และบรรดากลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล

ในบรรดาโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ อู นุ เชิญบรรดาผู้กว้างขวางในแวดวงวรรณกรรมมาหารือที่บ้านว่ามีทางใดบ้างที่รัฐบาลจะใช้วรรณกรรมเพื่อกล่อมเกลาสังคมพม่าในยุคที่เต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองและความแตกต่างทางความคิด ผู้กว้างขวางที่อู นุ เชิญมามีทั้งผู้คร่ำหวอดในแวดวงผลิตตำราเรียนพื้นฐาน งานแปล คอลัมนิสต์ และศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ เป้าหมายของงานเขียนที่จะออกมาคืออู นุ ต้องการชี้ให้สังคมเห็นภัยอันตรายของกลุ่มคนที่ต้องการใช้กำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาล มากกว่าใช้กลไกการเลือกตั้งตามปกติ
อู นุ ต้องการให้งานเขียนนี้สั้น กระชับ และเข้าใจง่ายที่สุดสำหรับประชาชนทุกระดับ ในที่สุด บทละครที่ชื่อ “ลูดุ้ อ่อง ตัน” (Ludu Aung Than หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ People Win Through) ที่อาจแปลอย่างหยาบๆ ว่า “ชัยชนะแห่งประชาชน” ก็ถือกำเนิดขึ้น อู นุเริ่มเขียนบทละครเรื่องนี้ในปี 1950 ระหว่างที่ต้องเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อโปรโมตรัฐบาล ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในโครงการ “จากสันติภาพมุ่งสู่ความสงบสุข”

เนื้อหาของลูดุ้ อ่อง ตัน มีข้อความหลักว่าประชาชนพม่าไม่ควรถูกครอบงำโดยต่างชาติ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ทั้งขั้วเสรีภายใต้บังเหียนของสหรัฐอเมริกา และขั้วคอมมิวนิสต์ของโซเวียต เมื่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไประยะหนึ่ง คนในรัฐบาลพม่าเล็งเห็นแล้วว่าการเมืองและความขัดแย้งภายในพม่าไม่สามารถแยกจากการเมืองระดับโลกได้แม้แต่น้อย แต่รัฐบาลพม่าและประชาชนทุกภาคส่วนควรร่วมกันดับไฟสงครามกลางเมืองคือการถอยออกมาจากการพึ่งพาต่างชาติทั้งสองขั้ว และวางตัวเป็นกลางอย่างเข้มงวด

Advertisement

บทละครลูดุ้ อ่อง ตันตี พิมพ์ในปี 1951 ตามมาด้วยฉบับแปลภาษาอังกฤษอีกหนึ่งปีต่อมา โดยมีปีเตอร์ เมอเรย์ (Peter Murray) และ เจ.เอส. เฟอร์นิวอลล์ (J.S. Furnivall) เป็นผู้ช่วยตรวจทาน หลังจากนั้นไม่นาน มีผู้นำบทละครลูดุ้ อ่อง ตัน ไปใช้แสดงเป็นละครเวทีจริงๆ และนำออกแสดงที่โรงละคร Pasadena Playhouse ที่แคลิฟอร์เนีย เป็นส่วนหนึ่งของคณะทูตด้านการศึกษาที่รัฐบาลพม่าส่งไปสหรัฐอเมริกาในปี 1952 ต่อมาบริษัท Cascade Pictures ของสหรัฐอเมริกาปรับปรุงบทละครนี้เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ออกฉายในปี 1953 รัฐบาลพม่าทราบดีว่าชาวพม่านิยมการดูภาพยนตร์มาก และในยุคนั้นก็นับเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์พม่า มีโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ถึง 150 แห่งทั่วประเทศ ครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ในย่างกุ้ง แต่ภาพยนตร์ที่เริ่มเรื่องด้วยภาพอู นุ กำลังเขียนบทละครอยู่นั้นไม่ประสบความสำเร็จ และยังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอย่างมาก อาจเป็นเพราะประชาชนพม่าคุ้นชินกับภาพยนตร์ในฐานะสื่อบันเทิงมากกว่าโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ

นอกจากบทละครและความพยายามใส่สื่อบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อของรัฐแล้ว รัฐบาลพม่าในยุคสงครามเย็นยังมีแผนการอีกมากมายเพื่อกล่อมเกลาให้คนในประเทศไม่โน้มเอียงไปเข้าข้างคอมมิวนิสต์ และปฏิบัติตนตามกรอบศีลธรรมอันดี กุศโลบายอย่างหนึ่งคือการนำพุทธศาสนามาเป็นกรอบควบคุมความประพฤติของคน และการแบ่งมิตรออกจากศัตรู ดังที่เราจะเห็นจากนโยบายของรัฐบาลอู นุ ในช่วงต่อๆ มา ซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าการเข้าหาประชาชนผ่านทางบทละครหรือภาพยนตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image