เขต ท่าอากาศยาน ดอนเมือง : โดย บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช

สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

หากพูดถึงเขตดอนเมือง คนรุ่นเก่าอาจไม่รู้จักหรือคุ้นหู เพราะเขตดอนเมืองเป็นเขตใหม่ เพิ่งแยกจากเขตบางเขน เมื่อปี พ.ศ.2532

แต่ถ้าพูดถึงสนามบินดอนเมือง คนส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นเคย เพราะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่ยังใช้งานในทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีสนามบินใหม่ คือท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิแล้วก็ตาม

เริ่มต้นเมื่อครั้งที่สองพี่น้องตระกูลไรท์ Wright คือ วิลเบอร์ Wilbur และอาร์วิญ Arville นำเครื่องบินเหินฟ้าได้เป็นครั้งแรก ที่เมือง Kitty Hawk มลรัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดกระแสความสนใจเกี่ยวกับการบินและเครื่องบิน ไปทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งสยามประเทศ

วันที่ 25 มกราคม ร.ศ.129 (ยังคงเป็น พ.ศ.2453 ต้องเข้าเดือนห้า หรือเดือนเมษายนจึงจะเปลี่ยนศักราชใหม่) เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ว่า

Advertisement

มองสิเออร์ลาแฟร์ อัครราชทูตฝรั่งเศส ได้นำมิสเตอร์ออเรเลมาพบเพื่อขออนุญาตนำเครื่องยนต์สำหรับขึ้นบนอากาศเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยเลือกราชกรีฑาสโมสรเป็นสนามสำหรับขึ้นเครื่องยนต์ กำหนดอาณาเขต และขอเก็บเงินค่าชมในช่วงบ่ายโมงถึงค่ำ เจ้าพระยายมราชยังให้ความเห็นว่า เป็นของใหม่แรกจะมีขึ้นในกรุงเทพฯ คงจะมีผู้นิยมดูกันมาก จึงอนุญาต โดยกำหนดอาณาเขต คือ ปิดถนนราชดำริตลอดสาย ถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) และถนนประทุมวัน (ถนนพระรามที่ 4) ตอนหน้าวัดประทุมวัน (วัดปทุมวนาราม) ตั้งแต่แยกเฉลิมเผ่าจนถึงแยกราชประสงค์ กำหนดที่จะเล่นวันที่ 31 มกราคม 1-2 และ 4-6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2453 (นับอย่างสากลคือ พ.ศ.2454)

Charles Van Den Born นักบินชาวเบลเยียม ที่นำเครื่องบินมาให้คนไทยได้ชมครั้งแรก
ที่มา http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8138478/K8138478.html

จึงเป็นครั้งแรกที่คนไทย ได้เห็นคนเหาะเหินเดินอากาศได้จริง เมื่อนายชาร์ลส์ แวน เดอ บอร์น Charles Van Den Born นักบินชาวเบลเยียม นำเครื่องบินใบพัด ปีกสองชั้น อังรี ฟาร์มัง 4 Henry Farman IV เครื่องยนต์ 50 แรงม้า ความเร็วชั่วโมงละ 50 กิโลเมตร

ในประวัติของ พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป ต่อมาเป็น พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ) ระบุว่า ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นไปกับเครื่องบิน

Advertisement
พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)

ส่วนข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ระบุว่า The first foreigner was identified as Mr. F. Bopp ส่วนสุภาพสตรีท่านแรก คือ Princess of Nakhon Chaisri ซึ่งน่าจะเป็นหม่อมเจ้าหญิงสุมนมาลย์ จิรประวัติ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

นอกจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินแล้ว ยังมี จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก กระทรวงกลาโหม ได้เสด็จประทับเครื่องบินที่มาแสดงในครั้งนั้น ทำให้ทรงเห็นความสำคัญของยานพาหนะชนิดใหม่ของโลก และความจำเป็นที่ต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก

และมีคำสั่งในปีต่อมา ให้พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ผู้บังคับกองทัพพิเศษที่ 5 เดินทางไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส พร้อมด้วย ร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต โดยพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ไปศึกษาที่โรงเรียนการบินสำหรับนักบินพลเรือนที่ วิลลาคูเบลย์ Villa Coublay ส่วนนายทหารอีกสองคน เข้าศึกษาโรงเรียนการบิน ของบริษัท นิเออปอรต์ Nieuport

หลังจากนั้นรัฐบาลจึงได้จัดซื้อเครื่องบินฝรั่งเศส 2 แบบ คือ นิเออปอรต์ Nieuport และ เบรเกต์ Breguet แบบละ 4 ลำ รวม 8 ลำ โดยระยะแรกให้ประจำการอยู่ที่สนามบินสระปทุม และใช้สถานที่ของโรงเรียนพลตระเวรที่ตำบลปทุมวัน ที่ตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปัจจุบัน เป็นที่ทำการชั่วคราว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

ต่อมากระทรวงกลาโหม พิจารณาแล้วเห็นว่าสนามบินสระปทุม คับแคบและไม่สะดวกในการใช้งาน อีกทั้งไม่สามารถรองรับกิจการบินที่จะขยายเพิ่มขึ้น ทั้งโรงเก็บเครื่องบิน และอาคารประกอบอื่น จึงต้องหาสถานที่ที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่

หากดูในแผนที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า บริเวณทางทิศเหนือของพระนคร มีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อบ้านดอนเมือง ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า ดอน แปลว่า ที่สูง มีลักษณะตรงข้ามกับที่ลุ่ม เหมือนที่เขิน ที่ห่างนํ้า เนิน โคก โขด ซึ่งเป็นสภาพที่แตกต่างไปจากพื้นที่กรุงเทพฯทั่วไป

นอกจากนี้ ยังพบในเอกสารโต้ตอบ สมัยรัชกาลที่ 6 ระบุว่า ดอนเมือง มีสภาพพื้นที่เป็นหลังเต่า โล่ง ไม่ค่อยมีบ้านเรือนคนอยู่อาศัย ซึ่งตรงกับที่ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ และคณะ เสนอรายงานว่า ดอนเมือง มีความเหมาะสมที่จะเป็นสนามบิน ด้วยเป็นที่ดอน เมื่อถึงฤดูน้ำเหนือหลากน้ำก็ไม่ท่วม ที่ตั้งก็อยู่ไม่ห่างจากพระนครมากนัก สามารถเดินทางโดยรถไฟมาลงที่สถานีดอนเมืองได้ อีกทั้งเป็นที่ดินของกรมพระคลังข้างที่ ให้กรมช่างแสงใช้ทำการอยู่ แต่กำลังเตรียมการย้ายไปที่บางซื่อ

กระทรวงกลาโหมจึงได้เห็นชอบ สั่งกรมเกียกกายทหารบก ดำเนินการก่อสร้าง สนามบินแห่งใหม่ พร้อมทั้งสถานที่เก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น

เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบิน ไปไว้ยังที่ดอนเมือง เรียบร้อยแล้ว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯทอดพระเนตรกิจการบิน เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2456 โดยมีพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธและนักบินอีกสองนาย ถวายการแสดงการบินและโปรยข้าวตอกดอกไม้ ถวายพระพรชัยมงคล

และในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2457 มีประกาศยก แผนกการบินขึ้นเป็น กองบินทหารบก รวมทั้งใน วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯทอดพระเนตรโรงงานและโรงเก็บเครื่องบิน ณ สนามบินดอนเมือง ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ให้ประกาศแทนพระองค์ดังความต่อไปนี้

…วันนี้ได้เห็นแล้วซึ่งกิจการของกองบินได้ดำเนินไปด้วยดียิ่ง ของสิ่งนี้ โลกเขาก็นับว่าเป็นของยากมากอยู่อย่างหนึ่ง แต่ก็ได้มาเห็นคนไทยแท้ๆ ทำได้อย่างดีจริง โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ขอให้ได้รับความพอใจและขอบใจตั้งแต่ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงจนต่ำที่สุด จงทั่วกัน …

ท่าอากาศยานสากลดอนเมืองเมื่อแรกสร้าง
สนามบินดอนเมือง

หลังจากนั้น ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2462 มีกระแสพระบรมราชโองการ เรื่องงบประมาณเพื่อจัดซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่สนามบินออกไปอีก 976 ไร่ และเพื่อสร้างโรงเก็บเครื่องบินเพิ่มเติม อีก 2 หลัง รวม 80,000 บาท

เมื่อกิจการการบินก้าวหน้ามากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อของ กรมอากาศยานทหาร เป็น กรมทหารอากาศ ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบ จากสีเขียว มาเป็นสีเทา รวมทั้งในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2480 ซึ่งปัจจุบันถือเป็น วันกองทัพอากาศ ด้วยกรมทหารอากาศ ได้รับการยกฐานะเป็น กองทัพอากาศ มีนาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฏ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก

ในเวลาต่อมา เริ่มมีการใช้ประโยชน์เครื่องบินในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการทหาร อย่างเช่น การคมนาคมขนส่ง การไปรษณีย์ การพาณิชย์ รวมไปถึงด้านการรักษาพยาบาล จึงมีการพัฒนาสนามบินดอนเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา ทำให้ต้องแบ่งพื้นที่สนามบิน โดยให้ที่ทำการของกองทัพอากาศ อยู่ทางฝั่งถนนพหลโยธิน ส่วนการบินพาณิชย์ อยู่ทางฝั่งสถานีรถไฟดอนเมือง

สายการบินฮอลันดา Royal Dutch Airline (KLM) เป็นสายการบินพาณิชย์ต่างประเทศสายแรกที่มาลงจอดสนามบินดอนเมือง จากนั้นมาก็มีสายการบิน
อื่นๆ บินมาลงเพิ่มมากขึ้น จนถึงปี พ.ศ.2491 รัฐบาลจึงปรับปรุงและยกฐานะ สนามบินดอนเมือง เป็น ท่าอากาศยานสากลดอนเมือง และท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ในเวลาต่อมา

จนกระทั่งวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2549 วันเดียวกับที่มีการเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ก็ได้ปิดให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง แต่ทว่าในปีต่อมา ก็กลับมาให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศอีกครั้ง ในวันที่ 25 มีนาคม และในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2555 ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

ย้อนกลับมาที่เขตดอนเมือง เดิมทีมีสถานะเป็นตำบลดอนเมือง อยู่ในท้องที่อำเภอบางเขน ตามประกาศกำหนดเขตร์ตำบล แลเขตร์อำเภอบางเขน กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2458 ระบุว่า อำเภอบางเขน มี 5 ตำบล คือ ดอนเมือง คลองถนน ออเงิน ท่าแร้ง และกูบแดง โดยตำบลดอนเมือง ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน และมีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ ต่อตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี ตำบลคู้คด อำเภอลำลูกกา เมืองธัญญบุรี จดลำรางแยกจากลำรางสมอกอง แลลำรางสมอกองฝั่งเหนือหลักป้ายเขตร์เมือง หลักเสาหินที่นาบริษัทเปนเขตร์

ทิศใต้ ต่อตำบลลาดยาว อำเภอบางซื่อ จดลำคลองบางเขนฝั่งใต้เปนเขตร์
ทิศตะวันออก ต่อตำบลกูบแดง ตำบลคลองถนน จดลำคลองวังทองหลาง ลำคลองถนนฝั่งตะวันตกเปนเขตร์

ทิศตะวันตก ต่อตำบลลาดโตนด อำเภอตลาดขวัญ ตำบลทุ่งสองห้อง ตำบลทุ่งสีกัน อำเภอปากเกร็ด เมืองนนทบุรี จดลำคลองเปรมประชากรฝั่งตะวันตกเปนเขตร์

ครั้นคณะปฏิวัติ ออกประกาศฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 และมีพระราชกฤษฎีกา แบ่งกรุงเทพมหานคร ออกเป็นเขต พ.ศ.2516 อำเภอบางเขน จึงมีสถานะใหม่เป็น เขตบางเขน

ต่อมา ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2532 มีการแยกเขตดอนเมืองออกจากเขตบางเขน ด้วยเห็นว่าพื้นที่เขตบางเขน มีอาณาเขตกว้างและมีพลเมืองอาศัยอยู่มาก ท้องที่บางแขวงอยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขต จึงมีการแบ่งพื้นที่เขตบางเขน ออกเป็นเป็น 3 เขตใหม่ คือเขตบางเขน เขตดอนเมือง และเขตจตุจักร โดยกำหนดให้เขตดอนเมือง ประกอบด้วย 3 แขวงคือ แขวงตลาดบางเขน แขวงสีกัน และแขวงทุ่งสองห้อง

และในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2540 มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตดอนเมืองอีกครั้ง ให้ใช้แนวคลองไผ่เขียว (คลองตาอูฐ) ที่มาบรรจบคลองเปรมประชากรและคลองวัดหลักสี่ เป็นเส้นแบ่งเขต เป็นผลให้แขวงตลาดบางเขน ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งไปรวมกับแขวงทุ่งสองห้อง ตั้งเป็นเขตหลักสี่ ขึ้นใหม่ อีกส่วนหนึ่งยุบรวมเป็นแขวงสีกัน เขตดอนเมืองจึงเหลือแขวงสีกันอยู่แขวงเดียว

น้ำท่วมสนามบินดอนเมือง เมื่อ พ.ศ.2554 : ที่มา มติชน

แต่ต่อมา ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 มีประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า มีความจำเป็นต้องจัดขนาดพื้นที่ของเขตดอนเมืองให้เหมาะสมและชัดเจน ไม่ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสับสน หรือยากต่อการบริหารและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยแบ่งพื้นที่แขวงสีกันเดิม เป็นแขวงดอนเมือง และแขวงสนามบิน เพิ่มขึ้น

เรื่องราวของเขตดอนเมือง ดูเหมือนว่าเปลี่ยนแปลงไปมา ไม่แน่นอน ทั้งพื้นที่เขตและแขวงดอนเมือง ที่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา ทั้งท่าอากาศยานสากลดอนเมือง ที่เปิดใช้มานาน แล้วถูกปิด และเปิดให้บริการอีกครั้ง รวมทั้งตอนที่เกิดมหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ พื้นที่ที่เป็นโคก สูง อย่างดอนเมือง ก็ยังมีปัญหาน้ำท่วมสนามบิน

ซึ่งตรงกับคำสอนของพุทธศาสดา ที่ว่า ชีวิตนั้นไม่เที่ยงแท้แน่นอน ด้วยประการฉะนี้แล

บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image