มรสุม การเมือง-ศก. รบ. รับศึก เปิดสภา เร่งเคลียร์ ‘ภายใน’

สมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มต้นอีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นการประชุมสามัญครั้งที่ 2 ของปี 2562

วาระการประชุมสภาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน คงความเข้มข้นตั้งแต่เริ่มเปิดสมัยประชุม

นับตั้งแต่การพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองยื่นไว้ตั้งแต่ก่อนปิดสมัยประชุมครั้งที่ 1

การพิจารณางบประมาณรายจ่ายฯ ในวาระที่ 2-3 ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวงเงินงบประมาณ

Advertisement

รวมถึงการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบฯด้วย

ยังมีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดเวลาเอาไว้ว่าจะดำเนินการก่อนวันที่ 20 ธันวาคม โดยเบื้องต้นขอเวลา 3 วัน

นอกจากนี้ยังมีผลการประชุมของคณะกรรมาธิการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการและสรุปผล

Advertisement

ทั้งหมดนี้หลายเรื่องพัวพันเกี่ยวกับการวางตัวรัฐมนตรีที่จะต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเบื้องต้นมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทวงมหาดไทย และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่า เมื่อถึงเวลาฝ่ายค้านจะขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีกี่คน

การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรนั้นเกี่ยวพันกับเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะทุกครั้งที่มีการลงคะแนนเสียง รัฐบาลจำเป็นต้องอยู่ฝ่ายชนะ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย

หากรัฐบาลมีคะแนนเสียงไม่พอ ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ขณะเดียวกัน เสถียรภาพของรัฐบาลนอกจากเรื่องคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการเข้ามาเกี่ยวพันอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญหน้าในปีหน้า

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่กระทบต่อคนไทย ย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาล

และความเชื่อมั่นดังกล่าวมีผลต่อเสถียรภาพ

ปัญหาที่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลทั้งปัญหาทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวพันกับคะแนนเสียงสนับสนุนในสภา และปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ มีความเกี่ยวข้องผูกโยงกัน

แต่ทว่าที่ผ่านมา การลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรนั้น แม้จะแลดูคล้ายๆ กับจะก่อปัญหาให้รัฐบาล แต่ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลก็สามารถเอาตัวรอดไปได้

สังเกตจากผลการลงมติแต่ละครั้ง แม้เสียงรัฐบาลที่มีตุนไว้ไม่มากนัก แต่จะมีเสียงจากพรรคฝ่ายค้านโหวตขึ้นมาสนับสนุนด้วยอยู่เสมอๆ

ทั้งสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย ทั้งสมาชิกจากพรรคอนาคตใหม่ ต่างเคยโหวตให้กับฝ่ายรัฐบาลมาแล้ว

กระทั่งบัดนี้ทางพรรคยังต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ในการโหวตครั้งต่อๆ ไป รัฐบาลสามารถหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวาระ 2-3 หรือแม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เพียงแต่ทุกๆ จังหวะก้าวที่ผ่านไป รัฐบาลจะต้องออกแรงไม่มากก็น้อย

ขณะเดียวกัน ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 จังหวัดนครปฐม ครั้งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นอะไรบางอย่าง

ชัยชนะของ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เคยเพลี่ยงพล้ำให้แก่พรรคอนาคตใหม่ เมื่อกลับมาลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งอีกรอบ

เห็นได้ว่า โอกาสชนะยังมี

ส่วนพรรคอนาคตใหม่นั้นถูกเตะตัดขาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการร้องการฟ้อง การเบียดแทรกเข้าไปในพรรค และรวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใน

พรรคอนาคตใหม่จึงเผชิญศึกทั้งภายในและภายนอก สมาธิที่จะทำงานตรวจสอบรัฐบาลย่อมได้รับผลกระทบ

แต่ทุกอย่างยังคงพลิกไปพลิกมาได้

ทั้งฝ่ายรัฐบาลแม้จะยังไม่เพลี่ยงพล้ำ แต่ก็ถือว่าประมาทไม่ได้เด็ดขาด

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับรัฐบาลคือปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังกระหน่ำเข้าใส่ประเทศไทยไม่ยอมหยุด

ปัญหาภายนอกเป็นที่ทราบด้วยกันว่า ประเด็นใหญ่เกิดจากสงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน และพาดพิงมาถึงประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย

ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ต้องขับเคลื่อน โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ได้ลดดอกเบี้ยลงอีกเพื่อผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

ยังมีปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป และความไม่แน่นอนของอังกฤษที่อยู่ระหว่างการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และปัญหาอื่นๆ จนขณะนี้บรรดาประเทศต่างๆ ได้ลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตัวเองลง

ประเทศไทยก็เริ่มลดประมาณการจีดีพีในปีหน้าลงเช่นกัน

ขณะที่ปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นไปในทางน่าห่วง รัฐบาลกลับประสบกับสถานการณ์ที่น่าห่วงมากกว่า นั่นคือ การทำงานของฝ่ายเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในรูปแบบต่างคนต่างทำ

แม้รัฐบาลจะมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่เมื่อแลดูกระทรวงทางเศรษฐกิจแล้วปรากฏว่ามีการจัดสรรแบ่งไปทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งแต่ละพรรคก็ถือว่า “มีดีเป็นของตัวเอง”

เมื่อย้อนกลับไปที่การเลือกนายกรัฐมนตรี และการตั้งรัฐบาลก็พบว่า พรรคพลังประชารัฐมีเสียงไม่เพียงพอในการเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จึงต้องดึงเอาพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคอื่นๆ มาร่วม

การดึงเอาพรรคการเมืองอื่นมาร่วม จำเป็นต้องแบ่งสรรกระทรวงและเก้าอี้รัฐมนตรีให้

ในจำนวนนี้รวมถึงกระทรวงทางเศรษฐกิจ และเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจ

ในขณะที่ทุกพรรคการเมืองต่างหาเสียงเลือกตั้ง และมีนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ดังนั้น เมื่อได้กระทรวงที่ได้รับปากกับประชาชนว่าจะทำ ทุกพรรคจึงเดินหน้าทำตามนโยบายที่เคยหาเสียง

กลายเป็นต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ

กระทั่งเริ่มเกิดเป็นรอยร้าวในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลขึ้นมา

เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจรุมเร้า แต่ทีมเศรษฐกิจเปราะบาง ย่อมส่งผลต่องานที่ทำ

ณ บัดนี้งานแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงถูกโจมตีมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์รับทราบแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงต้องมีการแก้ไขเพื่อให้รัฐบาลมีผลงานทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น

ขณะนี้จึงค่อยๆ มองเห็นการตั้งเป้าหมายเพื่อหาทางออกทางเศรษฐกิจสำหรับปีหน้า

การขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5จี ให้เกิดขึ้นในปี 2563 เริ่มมีทิศทางที่แน่ชัด การเคลียร์พื้นที่เออีซีเพื่อรองรับการลงทุนปีหน้ากำลังอยู่ในขั้นตอน การมองหาโอกาสในวิกฤตที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเป็นอีกหนึ่งทางรอด

แต่ทั้งหมดนี้ต้องกลับมาที่ความสามัคคีภายในฟากฝั่งรัฐบาลที่จะร่วมกันฝ่ามรสุม

ทั้งมรสุมการเมือง และมรสุมเศรษฐกิจ

ไม่ใช่เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวแล้วที่ต้องฟันฝ่า หากต้องเป็นรัฐมนตรีทั้งคณะ และพรรครัฐบาลทุกพรรคที่ต้องร่วมมือ

มิเช่นนั้น ผลร้ายย่อมตกอยู่กับรัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ผลร้ายที่มิได้มีปัจจัยสำคัญจาก “ภายนอก” หากแต่ก่อเกิดขึ้นจากการแตกความสามัคคีกัน “ภายใน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image