ใคร ‘โกหกเพื่อทำลาย’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ไม่ว่ารัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่เสียงบ่นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อปัญหาปากท้องของประชาชนในขณะนี้เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันทั่วไปในวงสนทนาของผู้คนในทุกระดับชั้น

ทุกเสียงที่พูดถึงล้วนเป็นความกังวล ล้วนเล่าถึงประสบการณ์ที่ทำให้ทดท้อสิ้นหวัง

คนในกลุ่มเอ พูดถึงแนวโน้มทางการเมืองที่มองไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้น แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่มีแต่เอื้อต่อทุนใหญ่ สภาวะสังคมที่ชวนให้กังวลต่อสุขภาพทั้งในด้านจิตใจ และร่างกาย

กลุ่มล่างลงมาหน่อย พูดถึงการปรับรูปแบบภาษีที่รัฐบาลใช้เหตุผลให้ฟังดูแล้วเป็นการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเป็นหนึ่งในวิธีลดความเหลื่อมล้ำ เช่นนี้ภาษีโรงเรือนที่เปลี่ยนมาเป็นคิดตามราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับบางธุรกิจที่ไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดต่อธุรกิจนั้น ว่าจะอยู่รอดอย่างไรในภาวะกำลังซื้อถดถอยเช่นนี้ หรือภาษีรถยนต์ที่เปลี่ยนมาคิดตามค่าคาร์บอนที่ทำให้รถบางประเภทต้องจ่ายมากขึ้น

Advertisement

แน่นอนว่ารัฐบาลได้เงินเพิ่ม แต่ประชาชนผู้รับชะตากรรมจะทำมาหากินกันอย่างไร

ล้วนแล้วแต่ว้าเหว่ เมื่อมองเห็นแต่ความไม่เข้าใจการทำมาหากินของผู้มีอำนาจ

สำหรับคนระดับล่างนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง การจัดระเบียบเมืองที่ทำลายอาชีพ การเข้าแย่งอาชีพของทุนใหม่ต่อร้านค้าริมถนน กำลังซื้อหดหายอันส่งผลต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่เลิกจ้างมีไม่น้อย แต่ที่หนักกว่าคือรายได้ที่ลดลงจากการไม่มีงานโอทีให้ทำเหมือนที่เคยเป็นมา

Advertisement

ชีวิตในความเป็นจริงยากเข็ญขึ้น

สิ่งที่คนในรัฐบาลพยายามทำให้คือ “ชีวิตในความฝัน”

ในการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ล่าสุด

คำที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พูดต่อคณะรัฐมนตรี ที่เป็นข่าวออกมานั้นดูหรูหรา ชวนฝัน

“ภาพรวมเศรษฐกิจอาเซียนและไทย ไม่ได้ใช้คำว่าเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นเศรษฐกิจเติบโตช้าลงในปีหน้าและปีต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

และขยายความที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจในวิธีการแก้ปัญหาว่า “ไทยจะต้องหามาตรการหลายมาตรการด้วยกันเพื่อช่วยทำให้ดีขึ้น รวมถึงเรื่องการใช้จ่ายภายในประเทศ และมาตรการการเงินการคลังของไทยที่ต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการใช้จ่ายการลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนนำเงินออกมาลงทุน ตลอดจนสร้างสภาวะแวดล้อม ความมีเอกภาพ และเสถียรภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนทั้งหมด”

นั่นเป็นคำพูด แต่ในมุมมองคนที่ติดตามการบริการจัดการประเทศของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดกลับมองเห็นไปอีกทาง

งบประมาณรายจ่ายของประเทศที่แถลงต่อสภาไป ถูกโจมตีว่า “ไม่มุ่งไปที่จัดสรรเพื่อพัฒนาประเทศ เงินมหาศาลถูกใช้ไปกับเรื่องที่ชวนให้สงสัยว่าเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศจริงหรือไม่ เช่นงบฯซื้ออาวุธของกองทัพ และอื่นๆ”

ฝ่ายค้านพยายามชี้ให้เห็น แต่ไม่มีคำตอบที่พอให้เบาใจได้ในเรื่องความจริงใจต่อการพัฒนาประเทศ

เช่นเดียวกับที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่พยายามชี้ให้เห็นผลการบริหารเศรษฐกิจที่การสร้างงานเป็นแค่การพูดไปเรื่อย และการแจกเงินมีหลักฐานว่าที่สุดแล้วเอื้อต่อการถูกดูดเข้ากระเป๋าของทุนใหญ่ ที่เป็นเรื่องที่คนพูดก็พูดไป แต่คนทำไม่เคยได้ยิน

รัฐบาลพูดไปทาง แต่คนที่ติดตามมองว่า “ทำไปอีกทาง”

ในลักษณะที่แทบจะเรียกว่า “ดำ” เป็น “ขาว”

การพูดของคนในรัฐบาลกับที่สวนทางกับความเข้าใจของคนอื่น เกิดขึ้นเสมอ

ล่าสุดเรื่อง “สหรัฐตัดจีเอสพีสินค้าไทย” ซึ่งเหตุผลชัดเจนในคำแถลงของสหรัฐอยู่แล้วว่า เพราะไทยไม่แก้ปัญหาเรื่องสิทธิของแรงงาน

แต่ที่คนในรัฐบาลบอกให้ประชาชนฟังคือ “จีเอสพีเป็นเรื่องความช่วยเหลือของสหรัฐที่ให้ต่อประเทศด้อย หรือกำลังพัฒนา แต่เมื่อไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การถูกตัดสิทธิจึงเกิดขึ้นเป็นปกติ สะท้อนว่าที่ผ่านมาการบริหารประเทศดีขึ้น”

ซึ่งเป็นคำแถลงที่ล่องลอย เพราะสหรัฐไม่เคยบอกว่า “นับไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว”

ทั้งหมดทั้งสิ้นข้างต้น แม้จะฟังดูเอาหลากหลายเรื่องมาเล่าถึง แต่หากลองพิจารณาให้ดีจะพบว่า สภาวะหนึ่งที่เป็นเรื่องเดียวกัน

นั่นคือ ที่เป็นไปนั้นอย่างหนึ่ง แต่ที่คนในรัฐบาลพยายามชี้ให้เห็นนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสวนทางหรือคนละทิศกับที่เป็นไปเสมอ

ที่สำคัญกว่านั้นคือ มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า คนที่พูดตามความเป็นไป ไม่พูดตามที่รัฐบาลชี้ให้เป็น จะถูกกล่าวหาว่าบิดเบือน เป็นพวกสร้าง “ข่าวลวง เพื่อทำลาย”

และรัฐบาลกำลังทุ่มเทเพื่อหาทางจัดการกับ “ผู้สร้างเฟคนิวส์” ทั้งออกกฎหมายเพิ่มโทษ ด้วยถือเป็นคดีความมั่นคง และสร้างหน่วยงานขึ้นมาจัดการ

นี่คือ สภาพที่เกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพของคนไทย ในยุคสมัยเช่นนี้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image