กทม.และปริมณฑล รณรงค์ ตรวจวัดความดัน ป้องกันภัยเงียบ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

มีโอกาสสดับตรับฟังข่าว ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดถึงโครงการดีๆ ชื่อว่า โครงการเข้าถึง “การวัดความดันโลหิตสูง” โดยความร่วมมือของ 3 ภาคีหลัก คือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร โดยท่านรองนายกฯ ตระหนักว่ามีคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีอุบัติการณ์สูงมาก และมักจะมาโรงพยาบาลด้วยโรคเลือดหัวใจตีบตัน เส้นเสียงแตก หรืออุดตันในสมอง และไตวาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสาเหตุการเจ็บป่วย การพิการเป็นอัมพาต การตายสูง นอกจากนี้ยังมีผลเสียต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละปีเป็นแสนล้านบาท และที่สำคัญ คือ คนไทยเรามากกว่า 50% ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันสูงหรือเปล่าอาจจะด้วยสาเหตุ 1) ประชาชนคนไทยไม่มีความรู้ ไม่ตระหนัก ไม่มีความเข้าใจเรื่องโรคความดันโลหิตสูงว่าคืออะไร มีอาการอย่างไร? รุนแรงอย่างไร? มีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง 2) ประชาชนบางคนมีความรู้ดี ฐานะดีมาก บางคนผอม บางคนอ้วน บางคนดื่มสุรา สูบบุหรี่ รู้ว่าความดันโลหิตสูงคืออะไร รุนแรงอย่างไร แต่ไม่สนใจที่จะวัดความดันเป็นประจำ ถ้าจะพูดว่า “ประมาท” ก็ได้ 3) ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงเครื่องวัดความดัน บางคนกลัวไปโรงพยาบาล สถานอนามัย หรือไม่ชอบที่จะตรวจสุขภาพ หรือวัดปรอท วัดความดัน ตรวจเบาหวาน เพราะกลัวรู้เป็นโรคแล้วรับไม่ได้ แต่ก็มีส่วนใหญ่ของประชากรที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเครื่องวัดความดันโลหิต ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงริเริ่มให้มีเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ จำนวน 100 เครื่องในสถานที่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือสถานที่สาธารณะที่คนไปอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สำนักเขต ตลาด ศูนย์การค้า วัด เป็นต้น เป็นจุดที่ประชาชนไปวัดได้ด้วยตนเอง และสามารถจะรับ Slip รายงานผลเลยว่าความดันเราสูงเท่าไร?

ผู้เขียนรู้สึกดีใจแทนคนไทยในเขต กทม.และปริมณฑลที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ริเริ่มโครงการดีๆ ด้วยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานเป็นอย่างดี ผู้เขียนเลยขอโอกาสเสนอองค์ความรู้เรื่อง “ความดันโลหิตสูง” ให้แฟนมติชนและคนไทยทั้งประเทศได้ศึกษาแบบง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจในระดับหนึ่งได้ดี ความว่า…

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นโรคไม่ติดต่อ (NCD) ที่มีความสำคัญมากโดยจะตรวจพบได้จากการวัดความดันโลหิตได้ในระบบสูงกว่าปกติเรื้อรังอยู่เป็นเวลานาน องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2542 ว่าผู้ใดก็ตามมีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140/90 มม.ปรอท… “ถือว่าเป็นความดันโลหิตสูง” และหากไม่รักษาให้ถูกต้องจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ แทรกซ้อน เช่น โรคอัมพาตจากหลอดเลือดในสมองตีบ หรือโรคหลอดเลือดในสมองแตก โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย โรคไตวาย หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurism) เป็นต้น โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยปัจจุบันสำรวจพบว่า คนไทยโดยประมาณร้อยละ 20 เป็นโรคความดันโลหิตสูง คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูง มักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นและเมื่อรู้ตัวว่าเป็นส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากไม่มีอาการทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือมีภาวะแทรกซ้อนจึงจะเริ่มสนใจและรักษา ซึ่งบางครั้งก็สายเกินไปทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดง อันเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจ (คล้ายแรงดันที่ดันผนังยางรถเวลาสูบลมเข้า) ซึ่งสามารถวัดโดยใช้เครื่องวัดความดัน (Sphygmomanometer) วัดที่แขนและมีค่าที่วัดได้ 2 ค่า คือ 1.ความดันช่วงบนหรือความดันซิสโตลี หมายถึงแรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งอาจจะสูงตามอายุ ความดันช่วงบนในคนคนเดียวกัน อาจมีค่าแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามท่าของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และปริมาณการออกกำลังกาย 2.ความดันช่วงล่างหรือความดันไดแอส
โตลี หมายถึงแรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว

Advertisement

ความดันโลหิตสูง (ความดันเลือดสูง ความดันสูงก็เรียก) หมายถึง ค่าความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 140 มม.ปรอท ความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 90 มม.ปรอทขึ้นไป อุบัติการณ์โรคความดันโลหิตสูง ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ทั่วโลกมีผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเกือบถึง 1,000 ล้านคน สองในสามนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ประชากร 1 ใน 3 คนจะมีภาวะความดันโลหิตสูง มีผู้เสียชีวิตของโรคความดันโลหิตสูงปีละ 1.5 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลกและประเทศไทยในขณะนี้

พยาธิสภาพการเกิดโรค : หลอดเลือดและหัวใจ เปรียบเสมือน “ท่อยาง” กับ “ปั๊มน้ำ”1.ท่อยาง 4 หุนใหม่ๆ เปรียบเสมือนหลอดเลือดเด็กทารกเกิดใหม่ จะอ่อนนุ่มยืดหยุ่นดี ใส รูโตตามขนาดไม่มีตะกอน 2.ท่อยางใช้มา 5 ปี เปรียบได้เท่ากับหรือวัยรุ่น (อายุ 13-20 ปี) ท่อยางเริ่มแข็งตัว ยืดหยุ่นน้อย มีตะกอนตกในท่อยางๆ เริ่มขุ่น ผนังท่อยางเริ่มหนา รูท่อจะมีขนาดเริ่มเล็กลง เทียบได้กับหลอดเลือดในวัยรุ่นก็มีสภาพเช่นเดียวกัน หรือเริ่มแข็ง ยืดหยุ่นช้าลง รูหลอดเลือดเริ่มมีขนาดเล็กลง 3.ท่อยางใช้มา 10 ปี ท่อแข็งขึ้น หนาตัวขึ้นเพราะตะกอน ยืดหยุ่นน้อยลงไปมาก รูท่อเล็กลงเทียบได้กับหลอดเลือดคนวัยทำงาน อายุถึง 30-40 ปี ท่อหลอดเลือดเริ่มแข็ง ตะกอนจากคอเลสเตอรอลตกเกาะผนังหลอดเลือดมาก รูเล็กลง ปั๊มน้ำหรือหัวใจเริ่มต้องใช้แรงบีบสูงขึ้นตามลำดับ ฉะนั้นในช่วงอายุ 30-40 ปี เราจะพบว่าเริ่มเป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งโดยสภาพตามธรรมชาติการเกิดความดันโลหิตสูงจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยสภาพการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ท่อยางใช้มา 20 ปี ท่อแข็งตัวขึ้น ผนังหนาขึ้น ไม่มียืดหยุ่นเปราะง่าย อุดตันแตกได้ง่าย รูเล็กลงจากตะกอน เสมือนเช่นเดียวกับหลอดเลือดแข็งตัว หนาตัวมากขึ้น (เรียกว่า Arteriosclerosis) รูหลอดเลือดเล็กลง มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นชัดเจน ผลคือ ปั๊มน้ำหรือหัวใจต้องเพิ่มแรงดันสูบฉีดมากขึ้น ผลคือ เกิดความดันสูงขึ้นตามลำดับกาลเวลา ซึ่งเปรียบเท่ากับอายุคนที่เกิดเส้นเลือดอุดตันหรือแตกของหลอดเลือดหัวใจหรือสมองก็จะเกิดก็จะเกิดประมาณอายุ 50-60 ปี ได้เป็นส่วนมาก

กล่าวได้ว่า ความดันโลหิตสูงโดยธรรมชาติแล้ว เราไม่ต้องไปทำอะไร หลอดเลือดคนเราทุกคนไม่ว่าชายหญิง เมื่อเข้าสู่อายุมากขึ้นตั้งแต่ 15 ปีขึ้น แนวโน้มจะเกิด…โรคความดันโลหิตสูงจึงได้ทุกคนอย่างแน่นอนเป็นแล้วเป็นเลย ไม่ดูแลรักษาตัวด้วยการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม มีอารมณ์เครียด ซ้ำภาวะเกิดปัจจัยเสี่ยง คือ โรคอ้วน กินเหล้า สูบบุหรี่ ก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนก่อนอายุ 60 ปี หากเราดูแลเฝ้าระวัง ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปด้วย “3อ 3ลด” จะยืดอายุของการเกิดโรคแทรกซ้อนไปเกิดที่อายุ 70-80 ปี ได้อย่างแน่นอน ซึ่งดั้งเดิมนั้น อายุจะสั้น มีโรคแทรกซ้อนด้วย Stroke stemi ไตวาย อายุ 40-60 ปีก็ตาย หาเราควบคุมป้องกันดีๆ ตั้งแต่อายุ 15 ปี ก็จะลดภาวะเสี่ยง จะตาย อายุมากกว่า 80 ปี กล่าวคือ ยืดอายุยืนขึ้น

ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิตสูงมี 8 ข้อ คือ 1.อายุ : ส่วนใหญ่อายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน (ตามที่กล่าวเบื้องต้น) ตัวอย่างเช่น อายุ 18 ปี ความดันโลหิตเท่ากับ 120/70 มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้น 140/90 มม.ปรอท แต่ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป อาจวัดได้ 120/70 เท่าเดิมก็ได้ 2.เวลา : ความดันโลหิตสูงจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ตอนเช้าความดันซิสโตลี (ความดันช่วงบน) อาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ตอนช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำถึง 100 มม.ปรอท เป็นต้น 3.จิตใจและอารมณ์ : พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตสูงได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เมื่อรู้สึกเจ็บปวดก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน 4.เพศ : พบว่าเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง 5.พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม : ผู้มีบิดามารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียดก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วยเช่นกัน 6.สภาพภูมิศาสตร์ : ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าเป็นสังคมชนบท 7.เชื้อชาติ พบว่าชาวแอฟริกัน อเมริกันผิวดำจะพบความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว 8.เกลือ : ผู้กินเกลือมากจะมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่กินเกลือน้อย จากการที่ความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ เช่นนี้ทำให้การวินิจฉัยโรคด้วยตัวผู้ป่วยเองอาจทำได้ลำบาก ผู้ป่วยจะต้องปรึกษาแพทย์ให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคหรือไม่จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและปลอดภัย

ระดับความรุนแรง แบ่งได้ 3 ระดับ ระดับ 1 : ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิตระหว่าง 140/90-150/99 มม.ปรอท ระดับ 2 : ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิตระหว่าง 160/100-179/109 มม.ปรอท ระดับ 3 : ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิตระหว่าง 180/110 มม.ปรอท การวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนั่งพัก วัดด้วยวิธีเทคนิคที่ถูกต้องและควรวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าค่าของความดันโลหิตถูกต้องจริงๆ

อาการของผู้ป่วย : ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจไม่มีอาการใดๆ เลย หรืออาจจะพบว่ามีอาการปวดศีรษะ มึน เวียนศีรษะและเหนื่อยง่ายผิดปกติ ความดันโลหิตสูงอาจทำให้ภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีด้วยกัน คือ กรณีที่ 1 : ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง ได้แก่ หัวใจวาย หรือหลอดเลือดในสมองแตก กรณีที่ 2 : ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรังทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบตันมากขึ้น ไตวายมากขึ้น ข้อมูลจากทางการแพทย์ระบุว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจวายถึงร้อยละ 60-75 เสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองอุดตันหรือแตกร้อยละ 30 และเสียชีวิตจากโรคไตวายเรื้อรังร้อยละ 5-10

สาเหตุ มี 4 ประการ คือ : 1.ส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 90) จะไม่พบโรคหรือภาวะผิดปกติ หรือสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูงเรียกว่า “ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary Hypertension) หรือความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ (essential hypertension)” แต่อย่างไรก็ตามมักพบว่า ประวัติกรรมพันธุ์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องการเกิดโรค ถ้ามีประวัติพ่อแม่เป็น จะมีโอกาสเป็นเมื่ออายุได้ 25-55 ปี พบมากในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้น และยิ่งอายุสูงยิ่งมีโอกาสพบได้สูงมากขึ้น 2.ส่วนน้อย (ต่ำกว่าร้อยละ 10) อาจตรวจพบโรคหรือภาวะผิดปกติหรือสิ่งเป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือเริ่มมีความดันโลหิตสูง เริ่มอายุมากกว่า 50 ปี เรียกว่า ความดันโลหิตระดับทุติยภูมิ (Secondary Hypertension) หรือความดันโลหิตสูงชนิดมีสาเหตุ เช่น จากการกินอาหารประเภท เช่น ยาคุมกำเนิด, สเตียรอยด์, ความดันโลหิตในหญิงตั้งครรภ์, โรคไต, หลอดเลือดแดงตีบ, คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น 3.ในผู้ป่วยสูงอายุ มักมีความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) เรียกว่า ความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ซึ่งจะพบได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น 4.ความดันโลหิตสูงอาจสูงได้ชั่วคราว เมื่อมีภาวะที่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น ไข้สูง ซีด ออกกำลังกายใหม่ๆ อารมณ์เครียด (เช่น โกรธ ตื่นเต้น) ไม่จำเป็นต้องรักษา จะหายไปได้เองเมื่อปัจจัยเหล่านี้หมดไป

อาการแทรกซ้อน :ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้ความดันสูงอยู่นานๆ มักจะเกิดความผิดปกติของอวัยวะสำคัญได้แก่ หัวใจ สมอง ไต ประสาทตา เป็นต้น เนื่องจากความดันโลหิตสูง จะทำให้หลอดเลือดแดงทุกส่วนของร่างกายเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง หลอดเลือดตีบเลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่พอ มีโรคแทรกซ้อน 5 ประการ 1.หัวใจ : ทำให้หัวใจห้องล่างข้างซ้ายโต ถ้าเป็นมากๆ นานๆ อาจจะหัวใจวายตายได้ หลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงอาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ 2.สมอง : อาจจะเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้ กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีกพบได้บ่อยๆ บางรายที่เป็นรุนแรงอาจจะตายได้ทันที บางรายเป็นเรื้อรังความจำเสื่อม สมาธิลดลง 3.ไต : อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากหลอดเลือดแดงแข็ง รูเล็กลงเลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ ไตวาย ยังทำให้ความดันสูงขึ้น กลายเป็นวงจรที่เลวร้าย การตรวจปัสสาวะจะพบไข่ขาว (albumin) ตั้งแต่ 2+ ขึ้นไป การเจาะเลือดจะพบค่า BUN ค่า creatinine สูง 4.ตา : จะเกิดภาวการณ์เสื่อมของหลอดเลือดภายในลูกตาอย่างช้าๆ เริ่มจากรูหลอดเล็กลงตีบ ต่อมาเลือดออกที่จอตา (retina) ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆ จนตาบอดได้ 5.หลอดเลือดแดงใหญ่ : อาจจะทำให้เกิดภาวะโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ aortic aneurysm และผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกแยก (aortic dissection) จะมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง เป็นลม หรือเป็นอัมพาต เป็นรุนแรงอาจเกิดอันตรายถึงตายได้

การรักษา 1.ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย เช่น ป่วยระดับ 1 : แนะนำ ควบคุมน้ำหนักตัว ลดกินอาหารเค็มและเกลือโซเดียม งดบุหรี่ เหล้า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผ่อนคลายเครียด (3อ. 3ลด) ให้วัดความดันทุกเดือน ถ้าหากพบว่าความดันสูงกว่า 160/180-209/119 มม.ปรอท ควรเริ่มให้ยา 2.อาการรุนแรง ปานกลาง ถ้าวัดครั้งแรกสูงมากกว่า 160/100 มม.ปรอท 209/119 มม.ปรอท ถือว่าป่วยปานกลางถึงรุนแรง ต้องตรวจเช็กโดยละเอียด เริ่มให้ยาทันทีและควบคุมป้องกันด้วย 3อ. 3ลด ให้ยาเริ่มจากยาขับปัสสาวะไฮโดรคลอไรโทอะไซด์ เป้าหมายต้องการลดให้ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท 3.ผู้ป่วยที่ป่วยรุนแรง คือความดันมากกว่า 180/110 มม.ปรอท 210/120 มม.ปรอท ควรส่งโรงพยาบาลด่วน

ข้อแนะนำ : 1.การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งการติดตามผลการรักษาที่แน่นอนคือ การวัดความดันโลหิตเท่านั้น การอาศัยสังเกตการณ์เพียงอย่างเดียวไม่แน่นอน เพราะโรคนี้ส่วนมากมักไม่มีอาการแสดงอย่างใด เช่น ถ้าเป็นโรคความดันสูงต้องมีอาการปวดหัว ถ้าไม่ปวดหัว ก็นึกว่าไม่เป็นโรคความดันสูง ความจริงมีความดันสูงอยู่ และอาการปวดหัวส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเครียดไมเกรน 2.ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนใหญ่ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ การใช้ยาโฮโดรคลอไรโทอะไซด์ และยาปิดกั้นเบต้า (? Blocker) ใช้เดี่ยวหรือใช้ร่วม 3.โรคแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นานเป็นแรมปีหากได้รับการรักษาจริงๆ จังๆ โอกาสโรคแทรกซ้อนจะลดน้อยลงและมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ ดังนั้นต้องแนะนำผู้ป่วยพบว่าโรคนี้เป็นแล้วไม่หายขาด ต้องติดต่อรักษากับหมออย่าให้ขาด ถึงแม้จะรู้สึกสบายดี (ไม่มีอาการผิดปกตใดๆ ควรหมั่นวัดความดันอาทิตย์ละ 1 ครั้ง วัดเองที่บ้าน ลงสมุดบันทึกด้วยนำไปให้หมอดูทุกครั้ง ในรายป่วยปานกลางถึงรุนแรง ควรวัดทุกวันจะดีมากเป็นการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่องเพราะเป็นสัญญาณชีพที่บอกเราได้ดีที่สุด 4.ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองเป็นอันขาด ถึงแม้จะรู้สึกว่าสบายดีหรือความดันลดลงแล้วก็ตาม ควรต้องให้หมอเป็นผู้พิจารณา (เพราะหลอดเลือดแข็งและรูเล็กลงเป็นแล้วเป็นเลย จะไม่มีวันกลับมาเหมือนตอนแรกเกิด) ซึ่งอาจจะค่อยๆ ลด หรืออาจจะเพิ่มก็ได้แล้วแต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตามที่กล่าวแล้ว 5.การให้ยารักษาลดความดัน ควรเริ่มทีละน้อยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มตามความดันที่สูงขึ้น ระวังไม่ให้ยาเกินขนาด จะทำให้ความดันตกมากเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืด เป็นลมเวลาลุกขึ้น

ขอสรุปท้ายสุดนี้ว่า “หัวใจสำคัญ” คือ 1.ผู้ป่วยต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 2.ส่งเสริมสุขภาพ 3อ 3ลด อย่างต่อเนื่อง 3.หมั่นวัดความดันโลหิตทุกวัน หรือแม้เช้า-เย็น จนความดันลดลงมาระดับน้อยกว่า 140/90 อาจจะวัดอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง จนทำให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้เยี่ยงคนปกติ เหมือนไม่เป็นคนป่วย หากทำได้อย่างจริงจังต่อเนื่องเชื่อเหลือเกินว่าอายุจะยืนเกิน 80 ปี ได้ไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ เลย

รัฐบาลมอบเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ จำนวน 100 เครื่อง นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี นับเป็นโครงการดีๆ อย่างนี้ที่ถูกต้องและถูกใจชาวบ้าน

ยังมีอีก 73 จังหวัด ยังรอคอยฝนตกให้ทั่วฟ้า ถ้าเป็นไปได้ขอฝากให้รณรงค์ ให้ทุกบ้านทุกครัวเรือน มีและใช้ “เครื่องวัดความดัน” ประจำบ้าน เพื่อเป็นเครื่องเตือนสัญญาณชีพ ให้คนในบ้านมีและใช้วิเคราะห์ว่าเป็นความดันสูงหรือไม่ ถ้าหากปลูกฝังให้มีพฤติกรรม การสร้างสุขภาพ 3อ (ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์) 3ลด (ลดอ้วน ลดเหล้า ลดบุหรี่) และมีการเฝ้าระวังวัดความดันตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ก็จะยืดระยะเวลาของคนที่จะเกิดความดันจากอายุ 30-40 ปี ไปอยู่ที่อายุ 55-65 ปี และอายุขัยเฉลี่ยยืนยาว จาก 70 ปี เป็น 80 ปี และถ้าคนไข้ที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาต ไตวาย ก็จะเกิดน้อยลง หรือไปเกิดกับคนอายุ 80 ปี ซึ่งลดค่าใช้จ่ายเป็นแสนล้าน เมื่อเทียบกับเครื่องวัดความดันหนึ่งเครื่อง ราคาเพียง 1,000 บาทเศษ นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image