แหม่มแอนนา.. สอนภาษาอังกฤษในวัง เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ย้อนกลับไปสมัยอยุธยาครั้งกระโน้น… มีชาวต่างถิ่น ต่างภาษา เข้ามาทำมาหากิน ไปมาค้าขาย บ้างก็ถูกจ้างมาทำงานให้กับราชสำนักไม่เคยขาดตอน ชาวจีน แขกเปอร์เซีย โปรตุเกส เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ ญี่ปุ่น อินเดีย สเปน…ไม่ใช่คนแปลกหน้า

อันที่จริงแล้ว ดินแดนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ก็ยังมิได้เป็นชาติ ยังมิได้เป็นประเทศ ไม่มีอาณาเขตที่ชัดเจนอะไร อยู่รวมกันเป็นชนเผ่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีหัวหน้าเป็นนักรบที่เข้มแข็งปกครองดูแล

สำหรับดินแดนสยาม กว่าจะรวมเป็นราชอาณาจักร เหนือ-ใต้-ออก-ตก เป็นรูปเป็นร่าง มีเส้นเขตแดน เป็นชาติขึ้นมาได้ ก็เพิ่งก่อเกิดในสมัยในหลวง ร.5 นี่เอง…

นักวิชาการมากหลายบอกว่า… ชาวสยามแท้ๆ ก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร หน้าตา เป็นอย่างไร

Advertisement

คุณสมบัติที่ชาวต่างชาติพกติดตัวมาหากินในสยาม คือ ความรอบรู้ งานเอกสาร ภาษาสำหรับการติดต่อค้าขายกับดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ ทักษะการทำงาน การบริหารจัดการ ความรู้ทางการแพทย์ งานศิลปะ และอีกร้อยแปดพันเก้า…

ชาวตะวันตกที่เรียกว่า “ฝรั่ง” จะโดดเด่น เจนจัด ในเรื่องการสอนภาษา การรักษาพยาบาล ยารักษาโรค สุขอนามัย ที่เข้ามาเสริมความรู้การแพทย์ของจีนและความรู้ของชนพื้นเมืองในสยาม

ช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ เคยใช้ภาษาโปรตุเกสในการติดต่อค้าขาย เพราะชาวโปรตุเกสแล่นเรือเข้ามาถึงอยุธยาก่อนฝรั่งชาติใดๆ สอนทำบัญชีการค้า สร้างโบสถ์ สอนศาสนา สอนหนังสือ

Advertisement

ส่วนชนชาติในเอเชียที่มาค้าขาย ตั้งรกรากแบบ “จัดหนัก-จัดเต็ม” ในอยุธยา คือ เปอร์เซีย ปัจจุบัน คือ อิหร่าน

พระมหากษัตริย์บางพระองค์ บางช่วงเวลา ก็ทรงโปรดการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสนทนา เพื่อความสัมพันธ์กับอาคันตุกะต่างชาติเพื่อความแน่นแฟ้น แบบใจถึงใจ ….

อังกฤษ ฝรั่งเศส แข่งขันกัน แบบหายใจรดต้นคอ ช่วงชิงกันที่จะ “สร้างอาณาจักร” ทั่วโลกเพื่อการค้าขาย เพียรพยายามที่จะให้ผู้คนทั้งปวง หันมานับถือพระคริสต์และใช้ภาษาของตนเป็นภาษาแม่

สิ่งที่ดีที่สุด… คือ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างหาโอกาสที่จะได้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือตามแนวทางของตน … สยามเป็นผู้รับที่ไม่เกี่ยงงอน เป็นผู้รับที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ของฟรีทั้งนั้น…

เด็กในสยามบางส่วน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ กลายเป็นผู้รับประโยชน์โภชผล โชคดี อ่านออก เขียนได้ ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ได้เรียนรู้โลกกว้าง ฝรั่งขยันตั้งโรงเรียนเพื่อสอนหนังสือ โรงเรียนต่างๆ ที่ฝรั่งตั้งไว้ให้เด็กสยาม 100 กว่าปีที่แล้ว ยังคงมีชื่อเสียงเกรียงไกรมาถึงทุกวันนี้ ต้องแย่งชิง หาเส้นสาย หาทางฝากลูก หลานเข้าไปเรียนให้จงได้ แพงเท่าไหร่ก็พร้อมจะจ่าย

ชาวต่างประเทศโดยเฉพาะนักบวช นักบุญในศาสนาคริสต์ เข้ามาศึกษาภาษาไทยแบบแตกฉาน เรียนรู้ไวยากรณ์ไทย แต่งตำราภาษาไทย แล้วสอนคนไทยอีกต่างหาก…ผลงานชิ้นหนึ่ง คือ จินดามณีฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์

การเรียนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ จะเป็นการเปิดประตูสู่โลกกว้าง โดยเฉพาะชนชั้นสูงในสยามที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น และเพื่อต้องการให้ลูกหลานไปศึกษาในต่างประเทศ

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอเปิดเผยเรื่องราว เบื้องหลังที่ ในหลวง ร.5 ทรงพระปรีชาสามารถ มีรับสั่ง ทรงมีพระราชปฏิสันถาร กับผู้นำของต่างชาติได้อย่างสนิทสนมคล่องแคล่ว ลึกซึ้งทุกครั้งครา โดยเฉพาะในการเสด็จเยือนต่างประเทศ

จะว่าไปแล้ว…ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของทั้ง 3 พระองค์ คือ ในหลวง ร.4 รวมถึง พระปิ่นเกล้าฯ และในหลวง ร.5 ได้ช่วยสร้างไมตรี ความเข้าใจ ในการปกป้องบ้านเมือง…

ท่านทรงศึกษาภาษาอังกฤษที่ไหน อย่างไร และใครสอน ?

คนไทยไม่น้อย คุ้นเคยกับชื่อของแหม่มแอนนา …

เด็กน้อยแอนนา เป็นเด็กกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เธอเป็นลูกครึ่งแองโกล-อินเดีย เกิดในประเทศอินเดีย เป็นบุตรีของโทมัส เอ็ดเวิดส์ กับสตรีชาวพื้นเมืองอินเดีย

คุณตาของเธอชื่อ ร้อยเอก วิลเลียม วอเดรย์ กลาสคอตต์ เป็นทหารสัญญาบัตรชาวอังกฤษประจำกองพลทหารราบที่ 4 ในค่ายทหารเมืองบอมเบย์ ในอินเดีย ที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ

กองเรือทหารอังกฤษไปยึดดินแดนเกือบทั่วโลก แล้วสมรสกับสตรีชาวพื้นเมือง …รายนี้ก็เช่นกัน ทหารอังกฤษเข้ามาทำงานในอินเดีย ได้กับสตรีพื้นเมือง ไม่ทราบชื่อ ข้อมูลที่ไม่ค่อยชัดเจนนัก พอจะบอกได้ว่า แอนนา ไม่ใช่ฝรั่งยุโรป เธอเป็นลูกผสมที่เกิดในอินเดีย

อายุได้ 18 ปี…แอนนาแต่งงานกับเจ้าหน้าที่เสมียนชาวอังกฤษ นามว่าโธมัส ลีออน โอเวนส์ ทั้งคู่มีบุตรธิดารวม 4 คน สองคนแรกเสียชีวิตตั้งแต่เล็ก คนที่ 3 เป็นหญิงชื่อเอวิส และคนสุดท้องเป็นชายชื่อ หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ (ซึ่งต่อมาได้ตั้งบริษัท หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ในเมืองสยาม)

แอนนาได้กลับไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ ต่อมาได้ย้ายตามสามีไปอยู่ที่เกาะปีนังในมาเลเซีย สอนภาษาอังกฤษหาเงินเลี้ยงชีพ

เมื่อสามีของนางเสียชีวิต…แอนนาจึงเดินทางไปทำงานต่อที่สิงคโปร์ และเปิดโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ เป็นครูสอนหนังสือ รับสอนพวกลูกหลานนายทหาร

ตั้งแต่สมัยในหลวง ร.3 ต่อเนื่องมาถึง ร.4 สยาม คือ แผ่นดินทองสำหรับการค้ากับต่างชาติ ฝรั่งตะวันตก แขก ญี่ปุ่น ทยอยกันเข้ามาสร้างไมตรี เรือสินค้าแล่นไป-มา ในแม่น้ำเจ้าพระยาขวักไขว่

พ.ศ.2368 นายเฮนรี เบอร์นี เป็นทูตจากอังกฤษเดินทางเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้า

20 มิถุนายน พ.ศ.2369 สยามลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) ซึ่งเป็น สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่ทำกับประเทศตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยในหลวง ร.3

ชาวสยามที่ฟัง พูด อ่านเขียน อังกฤษได้…หาตัวได้ยากมาก

ในหลวง ร.4 ทรงตระหนักถึงคุณประโยชน์ของภาษาอังกฤษ ดังนั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติได้เพียง 4 เดือน ทรงมีรับสั่งให้พวกมิชชันนารีจัดหาหญิงในพวกมิชชันนารีเข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้ฝ่ายใน โดยผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปสอนอาทิตย์ละ 2 วัน

เริ่มสอนในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2394 แต่สอนอยู่ได้ประมาณ 3 ปีก็หยุดลง

ในหลวง ร.4 รับสั่งให้หาครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ เพื่อจัดการศึกษาแก่พระราชโอรส และธิดา

มร.อดัมซัน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวที่สิงคโปร์ ได้แจ้งให้กรุงเทพฯ ทราบว่า มีแหม่มสอนภาษาอังกฤษที่เหมาะสม เธอชื่อนาง แอนนา เลียวโนเวนส์ กับหลุยส์ ลูกชายวัย 7 ขวบ

นางแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) พร้อมบุตรชาย เดินทางจากสิงคโปร์สู่ราชสำนักสยาม เข้าเฝ้าในหลวง ร.4 เมื่อตอนบ่ายวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2405

ลองมาตีแผ่ข้อตกลงประวัติศาสตร์ในการว่าจ้างแหม่มแอนนา…

1.แอนนา จะต้องสอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น วรรณคดีอังกฤษ ขนบธรรมเนียมอังกฤษ แต่ไม่ต้องสอนศาสนาคริสต์

2.พระราชทานบ้าน สร้างด้วยอิฐแบบฝรั่งให้แอนนาอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง

3.พระราชทานเงินเดือนให้ เดือนละ 100 เหรียญสิงคโปร์

4.การสอน แบ่งเป็น 2 ผลัด ผลัดเช้า สอนพระราชโอรสและพระราชธิดา ผลัดบ่าย สอนเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม

แหม่มแอนนาจัดการเรียนเป็น 2 ผลัด คือ ภาคเช้าสอนบรรดาพระโอรสและพระราชธิดา ซึ่งมีพระชนมายุระหว่าง 5-11 พรรษา มีพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา พระราชธิดาพระองค์แรกในรัชกาลที่ 4 มีพระชนม์ได้ 11 พรรษา และในภาคเช้ามีนักเรียน พระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

ส่วนภาคบ่าย…สอนบรรดาเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมที่ยังสาวทั่วไป สอนวันละ 3 ชั่วโมง

แอนนาได้ทำหน้าที่เป็นครูภาษาอังกฤษของเจ้านายทุกพระองค์ในราชสำนัก และยังทำหน้าที่เสมือนราชเลขานุการิณี ของในหลวง ร.4 โดยเฉพาะหนังสือราชการโต้ตอบกับต่างประเทศ

ประวัติศาสตร์สยามบันทึกไว้ว่า …แหม่มแอนนาเป็นที่รู้จักในฐานะเป็น “พระอาจารย์ฝรั่ง” ของในหลวง รัชกาลที่ 5

ส่วน หลุยส์ บุตรชายราว 7 ขวบเศษ ได้เพื่อนเล่น เป็นลูกท่าน หลานเธอในวังอย่างสนุกสนาน

แหม่มแอนนารับราชการในราชสำนักนาน 5 ปี 6 เดือน ก็กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย

อาจารย์แอนนาและหลุยส์บุตรชาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก ในหลวง ร.5 เป็นอันมาก

เมื่อ พ.ศ.2412 พระราชทานเงิน 400 เหรียญไปให้ และในปี พ.ศ.2424 หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ลูกชายของนางเข้ามารับราชการและภายหลังได้ตั้งบริษัท หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ จำกัด ที่สี่พระยา

ขอกล่าวถึงหนังสือและบทประพันธ์ที่กลายเป็นเรื่องโด่งดัง

ความทรงจำ ประสบการณ์ในรั้วในวังสยามของแหม่มแอนนา ถูกนำไปเขียนหนังสือขายได้ 2 เล่ม คือ “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem”

หนังสือทั้ง 2 เรื่องนี้เดิมทีก็ไม่มีใครพูดถึง แต่พอ นายเอียน กริมเบิล นักประวัติศาสตร์ชาวสก็อต ได้ไปกล่าวโจมตีเธอในรายการวิทยุบีบีซีว่า หนังสือทั้ง 2 เล่มนี้เป็นเหมาะสำหรับ คนที่คลั่งศาสนาต้องแอบนอนอ่านใต้ผ้าปูที่นอน …

มาร์กาเร็ต แลนดอน นักประพันธ์เบอร์ต้นๆ ของอังกฤษ นำงานเขียน 2 เล่มนี้ไปดัดแปลง แต่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ หนังสือขายดิบขายดี เลยถูกไปสร้างต่อเป็นละครเพลงเวทีบรอดเวย์จนโด่งดังเรื่อง เดอะ คิง แอนด์ ไอ

หนังสือของเธอกลายเป็นหนังสือขายดีทั้งในยุโรปและอเมริกา และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 20 ภาษา

หนังสือนิยายที่แต่งขึ้นใหม่ พรรณาถึงเรื่องราวในรั้วในวังขณะที่เธอทำงาน เหตุบ้านการเมืองในสยาม ถูกนำมาอ้างอิง …ซึ่งหนังสือดังกล่าวถูกห้ามนำมาจำหน่ายในประเทศไทย

เรื่องที่ไม่เหมาะสมทั้งปวง จากเนื้อหาในวรรณกรรม เกิดจากการที่ นางมาร์กาเร็ต แลนดอน นำเค้าโครงเรื่องของเธอไปประพันธ์ขึ้นมาใหม่ ใส่สีสันเพื่อให้ขายได้…

ภาพยนตร์ The King and I ถูกนำเข้ามาฉายในสยาม ผ่านการพิจารณาจากแผนกพิจารณาภาพยนตร์ กรมตำรวจ เมื่อเดือนตุลาคม 2499 โดยขอทดลองฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ (เคยตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนเทพศิรินทร์ ปัจจุบันทุบทิ้งไปแล้ว :
ผู้เขียน)

เมื่อฉายไประยะหนึ่ง… ชาวสยามไม่ค่อยสบอารมณ์นัก เพราะผิดเพี้ยนทั้งเนื้อหา และธรรมเนียมทั้งปวง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบเรื่อง จึงออกคำสั่งระงับการฉาย เนื่องจากเรื่องราวบิดเบือน รัฐบาลจอมพล ป. ตราประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มนิยามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ครอบคลุมถึงการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติในประมวลกฎหมายอาญา…

อาจารย์แอนนาจากไปแล้ว…ส่วนลูกชายชื่อหลุยส์ ที่เคยมาวิ่งเล่นในวัง ยังคงติดต่อไป-มากับราชสำนักในสมัยในหลวง ร.5

ข้อมูลจากหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม เมื่อ 23 สิงหาคม 2562 บรรยายว่า…

“…หลุยส์เดินทางกลับมาถึงสยามเป็นช่วงที่ ในหลวง ร.5 ขึ้นครองราชย์ได้ 13 ปีแล้ว หลุยส์ มีโอกาสเข้ารับราชการ…เขาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารม้า มีอัตราค่าจ้าง 800 ปอนด์ พร้อมที่พักใกล้พระราชวัง ติดๆ กับบ้านที่เราเคยอยู่นั่นเอง…”

“… หลุยส์ปฏิบัติหน้าที่หลายประการ ตั้งแต่ไปซื้อม้าพันธุ์ใหญ่ที่นิวเซาธ์เวลส์ เขาเดินทางกลับออสเตรเลียเพื่อหาซื้อม้าที่เป็นตัวหลุยส์ นั่นแหละที่เสนอต่อกองทัพสยามว่าควรซื้อม้า และเคยร่วมปราบกบฏอั้งยี่ กระทั่ง พ.ศ.2426 เป็นช่วงที่ราชบัลลังก์มั่นคงแล้ว งบประมาณจึงถูกใช้ในการพัฒนาบ้านเมืองมากกว่าการทหาร…”

“… หลุยส์ตัดสินใจกราบบังคมลาออกจากราชการ แต่ถูกระงับ และได้รับมอบหมายงานให้ขึ้นเหนือไปกับกองทัพปราบฮ่อ เพื่อสำรวจเขตแดนเตรียมทำแผนที่สากล จนปีต่อมา หลุยส์ กราบบังคมลาออกจากราชการไปเป็นเอเยนต์สัมปทานป่าไม้สักภาคเหนือของบริษัทบอร์เนียว…”

ปัจจุบัน…บ้านของหลุยส์ และที่ทำการบริษัท ยังคงได้รับการดูแล ซ่อมแซม ตกแต่ง สวยงามในจังหวัดลำปาง (ตามภาพ)

ในปี พ.ศ.2427 แอนนามีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กรมพระนเรศรวรฤทธิ์หรือพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร” พระราชโอรสองค์ที่ 17 ของในหลวงรัชกาลที่ 4 และทรงเคยเรียนหนังสือกับแอนนาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

แอนนามีความปลาบปลื้มใจที่ได้มีโอกาสพบกับกรมพระนเรศรวรฤทธิ์อีกครั้ง …ท่านเคยเป็นลูกศิษย์แหม่มแอนนา

ต่อมา พ.ศ.2440 ในหลวง ร.5 เสด็จประพาสยุโรป แหม่มแอนนาซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 66 ปี ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าในหลวง ร.5 ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับเป็นระยะเวลา 30 ปีพอดี หลังจากที่นางได้เดินทางออกจากกรุงสยาม…

ชื่อของแหม่มแอนนา ที่เสียชีวิตมานับร้อยปีแล้ว เรื่องราวบางส่วนถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมทั้งความผูกพันในช่วงเวลาที่เธออาศัยในสยามราว 5 ปี …บอกอะไรกับคนไทยมิใช่น้อย…

พระปรีชาสามารถ ความมั่นพระทัยในการเข้าสมาคม การใช้ภาษาอังกฤษของในหลวง ร.5 ที่ในหลวง ร.4 ทรงวางรากฐานแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้พระองค์สง่างาม ทรงโต้ตอบกับ ประมุข บุคคลชั้นสูง เพื่อแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง สร้างบารมีให้สยามประเทศ ผูกมิตรไมตรีกับกษัตริย์ พระราชวงศ์ ทูตานุทูต ในการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง

และต่อมา…ในรัชสมัยในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระราชวงศ์ บุตรขุนนาง 19 พระองค์ไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ ทั้งทางทหารและทางพลเรือน เพื่อกลับมารับราชการ…

ปี 2462 หลุยส์เสียชีวิตที่อังกฤษจากโรคระบาดครั้งใหญ่ในยุโรป

อาจารย์แอนนา… เสียชีวิตที่เมืองมอนทรีออล ในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ.2458 เมื่ออายุ 84 ปี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image