จากฟิลิปปินส์สู่มณีปุระ(Manipur) : ดินแดนอันน่าพิศวง โดย สีดา สอนศรี

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมจัดตั้ง Department of Southeast Asian Studies ที่ Manipur University ในระดับปริญญาโท เป็นเวลา 3 เดือน คณะนี้เป็นคณะแรกของรัฐบาลอินเดียที่ Professor Amar ผลักดันให้เกิดขึ้น พรัอมด้วยตึกที่ตกแต่งภายในแบบ classic การมาครั้งนี้ผู้เขียนมิได้คาดหมายมาก่อนว่าจะมา

ทางมหาวิทยาลัยติดต่อมาอย่างกะทันหันโดยสืบค้นจากฐานข้อมูลของ Japan Foundation และจากเว็บไซต์ข้อมูล การจัดการประชุมนานาชาติหลายครั้งด้วยกัน ทางการให้มาช่วยก็ช่วยเขาสักระยะหนึ่ง โดยไม่ทราบว่าเมืองนี้เป็นอย่างไรแต่เมื่อมาถึงทำให้คิดถึงความเหมือนของฟิลิปปินส์ในบางส่วน คือ Diversity in Unity คือการอยู่รวมกันได้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย และวัฒนธรรมที่หลากหลายนี้จะเป็นโอกาสในการร่วมกันคิด ร่วมกันทำกิจกรรมที่หลากหลายที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ คือ Unity in Diversity

และเนื่องจากไม่ได้คาดหมายมาก่อนเช่นกัน ผู้เขียนได้รับรางวัล PHRONESIS-EPIGNOSIS เมื่อปลายปี 2018 ซึ่งเป็นรางวัลดีเด่นทางวิชาการที่ฟิลิปปินส์มอบให้กับต่างชาติซึ่งผู้เขียนมิได้คาดหวังมาก่อน

และในวันที่ 4 มิถุนายน 2019 ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำข้าราชการและนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าทัศนศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศฟิลิปปินส์

Advertisement

และในครั้งนี้ได้มาปฏิบัติงานที่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้โดยมิได้คาดหมายมาก่อนเช่นกัน

มหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่ที่รัฐมณีปุระซึ่งเป็นรัฐที่ติดกับชายแดนพม่า ในอดีตมีการก่อจลาจลกันมากทั้งการไม่ยอมการเข้าร่วมกับรัฐบาลกลางเพราะรัฐบาลกลางถือเป็นชนกลุ่มน้อย บ้านเมืองก็ไม่พัฒนา อีกทั้งมีภัยจากชายแดนพม่าอีกด้วย แต่ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญมากขึ้นเพราะมณีปุระติดต่อกับชายแดนพม่า อาจจะมีโอกาสทางการค้าการลงทุน

การมาครั้งนี้มิได้ทำให้ผู้เขียนเสียเปล่า เพราะได้ทั้งการมาร่วมริเริ่มการจัดตั้ง Department of Southeast Asian Studies และได้ทั้งการเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนที่นี่เมื่อเปรียบเทียบกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมบางส่วนของฟิลิปปินส์ที่ผู้เขียนศึกษามานาน

Advertisement

วิถีชีวิตของคนที่นี่เรียบง่ายพออยู่พอกิน คนรวยคนจนอยู่ร่วมกันได้ บ้านคนรวยอยู่ติดกับบ้านคนจน บ้านคนในเมืองอยู่ติดกับบ้านชนเผ่าต่างๆ ที่อพยพเข้ามา ในปัจจุบันชาวมณีปุระพูดภาษาถิ่นเดียวกัน ใช้ภาษาเขียนเดียวกัน มีการทำกิจการค้าขายต่างๆ แม้จะมีบ้านคูหาเล็กๆ แต่พวกเขาสามารถดำเนินกิจการได้ เช่นร้านขายมือถือที่มีทุกยี่ห้อที่เมืองไทยมี มีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 4G ส่วนใหญ่เขานิยมใช้ Samsung ที่ร่วมทุนกับอินเดีย และมีของอินเดียเองด้วย

ส่วนรถที่ใช้กันทั่วเมืองเป็นคันเล็กๆ คือ Suzuki ที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่น 50-50 ผลิตในอินเดียโดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น อีกยี่ห้อหนึ่งคือ Hyundai ของเกาหลีก็ร่วมทุนกันเช่นกัน ส่วนในเมืองมีร้านแฟชั่นเสื้อผ้า ร้านอาหาร KFC ร้านอาหารไทยและต่างชาตินานาชนิด ร้านเหล่านี้เราสามารถสั่งซื้อจาก Foodwifi ส่งถึงบ้านได้

ที่มณีปุระมีทุกอย่างที่ทันสมัยแบบเมืองไทย ร้านอาหารที่ตกแต่งสวยงามจะอยู่ชั้นสองของตึก มีบันไดทางขึ้นแคบๆ เล็กๆ ส่วนข้างล่างจะเป็นร้านปิด

ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมืองนี้จะเจริญมากกว่านี้ สังเกตได้จากการร่วมลงทุนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ กับยุโรปเช่นเยอรมนีและสหภาพยุโรป การจราจรติดขัดมาก

ในส่วนของวัฒนธรรม ที่นี่มีการฉลองเทศกาลกันทุกเดือนเหมือนของฟิลิปปินส์ ต่างกันที่ศาสนาฮินดูและคริสต์ ในเดือนตุลาคมนี้ มีเทศกาลด้านวัฒนธรรมทั้งเดือนทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย สำหรับภายในมหาวิทยาลัยมี Youth Festival เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 23-25 เป็นการแข่งขันกิจกรรมของนักศึกษาหลายประเภทของทุกคณะ เช่นการรำของพระกฤษณะที่เป็นลักษณะการร่ายรำของท้องถิ่นเองที่อ่อนช้อย ไม่เหมือนกับของภาคกลาง นอกจากนั้นยังมีการแข่งขันการโต้วาที การร้องเพลง การแต่งกลอนพร้อมท่ารำ เป็นต้น เขาให้ความสำคัญกับ
กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาทุกกลุ่ม เพื่อให้สังคมหล่อหลอมเข้าด้วยกันได้

นอกจากนั้นยังมี เทศกาลวัน Diwali ระหว่างวันที่ 27 จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม เป็นการจุดไฟนำแสงสว่างต้อนรับนางสีดาจากกรุงลงกากลับสู่บ้านเกิด เพราะฉะนั้นจะมีการประดับประดาไฟกันทั้งประเทศสวยงามมาก คำว่า Diwa คือ แสงสว่าง จึงเรียกเทศกาลนี้อีกชื่อหนึ่งว่า Light Festival เป็นเทศกาลของฮินดูที่ร่วมฉลองกันหมดทุกเชื้อชาติ โดยมีความเชื่อว่าความดีอยู่เหนือความชั่วร้าย และแสงสว่างอยู่เหนือความมืด เหมือนเทศกาลปีใหม่ของไทย

อีกเทศกาลหนึ่งที่สำคัญซึ่งเป็นของรัฐมณีปุระเองคือ Sangai Festival ระหว่างวันที่ 24-30 พฤศจิกายนที่กำลังจะถึงนี้ เป็นการฉลองกวาง Sangai ซึ่งเป็นสัตว์ประจำเมืองมณีปุระ การฉลองจะมีขึ้นที่ Keibul Village ซึ่งอยู่ใกล้กับ Keibul Lamjao National Park ที่ Loktak Lake ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของกวางชนิดนี้ที่มีเขา 4 เขา เขาสองเขาด้านหน้าจะโน้มงอเข้าหาหน้าผาก เป็นกวางชนิดเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้ งานเทศกาลนี้ จะมีการแสดงภูมิปัญญาต่างๆ ของทุกชนเผ่า เช่น การทอผ้า การแสดง อาหารประจำท้องถิ่น กีฬาโปโลซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่มณีปุระที่ถูกนำมาในสมัยอังกฤษครอบครอง การแสดงศิลปะป้องกันตัวและการแสดงดนตรีสมัยใหม่

สำหรับงานนี้การท่องเที่ยวแห่งเมืองมณีปุระจะเชิญหลายชาติมาออกร้าน เช่น ไทย พม่า สิงคโปร์ ศรีลังกา ภูฏาน อินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นต้น จึงเป็นงานใหญ่ที่ไทยควรติดตาม

ที่แปลกที่สุดในโลกคือตลาดผู้หญิง หรือ Ima Market หรือ Mother Market ที่มีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่ขายของในตลาด ตั้งแต่ผัก ผลไม้ เครื่องครัว ตลอดจนผ้าทอ เครื่องนุ่งห่มสตรี ตลาดนี้ดำเนินกิจการมากว่า 100 ปีที่มาของตลาดนี้ก็คือในสมัยก่อนผู้ชายทำงานในไร่นาและเก็บผักปลาผลไม้และของในไร่นาให้ผู้หญิงไปขายในตลาด

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่นี่มีบทบาทสูงมาก มีผู้นำสตรีที่รัฐบาลท้องถิ่นยอมรับ ถ้าหากจะประท้วงเรื่องใดก็แล้วแต่ที่เขาไม่พอใจ (ที่ไม่เกี่ยวกับการก่อจลาจล) ผู้หญิงเท่านั้นที่เดินขบวนประท้วง และสังคมที่นี่ให้เกียรติผู้หญิงสูงมากตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงสังคมภายนอก

สำหรับที่ท่องเที่ยวมีพอสมควรเช่น War Museum, State Museum, Loktak Lake, Keibul Lamjao National Park และสวนสาธารณะต่างๆ ก็จัดได้สวยงาม สิ่งสำคัญที่จะละเลยเสียมิได้คือ อินเดียกำลังดำเนินนโยบาย Look East ในความร่วมมือ Regional Comprehensive Economic Cooperation (RCEP) เป็นความร่วมมือที่จัดตั้งในปี 2012 ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับอาเซียน+3+6 เป็น 16 ประเทศ และโครงการความร่วมมือ Look East Policy ของอินเดียที่กำลังดำเนินการในขณะนี้คือ Mekong-Ganga Cooperation (MGC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอินเดียกับกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ จัดตั้งในปี 2000

อินเดียจะใช้ทางเชื่อมจากพม่าเข้าทางเหนือของไทยไปสู่อินโดจีน ซึ่งทั้งอินเดียและจีนต่างก็แข่งขันกันทั้งใน RCEP และ MGC

ส่งท้ายด้วยการเปรียบเทียบระหว่างอินเดียกับฟิลิปปินส์ในภาพรวม ทั้งสองประเทศ เป็นพหุสังคมเหมือนกัน ต่างกันที่อินเดียใหญ่กว่า เป็นสังคมที่มีความหลากหลาย (Diversity) แต่สามารถรวมเป็นประเทศเดียวได้เช่นเดียวกัน และถ้าเทียบในส่วนของรัฐมณีปุระกับเขตปกครองตนเองภาคใต้ของฟิลิปปินส์ (BARMM) แล้วมีความคล้ายกันในลักษณะความเป็นพหุสังคมของเขตนี้คือมี มุสลิมหลายชนเผ่า คริสเตียน ชนเผ่าพื้นเมืองหลายชนเผ่าที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนสเปนเข้าครอบครอง แต่สามารถเจรจาจนบรรลุข้อตกลงและออกกฎหมายได้ เป็นการเจรจาที่ยาวกว่า 44 ปี ส่วนมณีปุระนั้นมีชาวพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่แล้วแต่มีผู้อพยพเข้ามาเป็นระลอกๆ ทั้งชาวพม่า เบงกอล เบงกาลี อินเดีย มุสลิม เนปาลีและไทย มานานมากแล้วจนปัจจุบันกลายเป็นชาวมณีปุระ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู แต่เมื่อมีงานรื่นเริงทุกกลุ่มก็ฉลองด้วยกัน สังคมนี้จึงเป็นสังคมหลากหลาย (Diversity) แต่ร่วมทำกิจกรรมด้วยกันได้

ต่างกับฟิลิปปินส์ตรงที่มีกลุ่มที่ก่อความไม่สงบที่ไม่ต้องการรวมกับอินเดียและไม่ยอมเจรจากับรัฐบาล แต่ปัจจุบันเมืองเจริญมากแล้ว มีการลงทุนเข้ามามาก กลุ่มเหล่านี้ก็จะมีพลังน้อยลง สิ่งที่น่าจับตามองก็คือนโยบาย Look East ของอินเดีย จะแข่งขันกับจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image