สิทธิที่จะมีอำนาจกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สิทธิที่จะมีอำนาจกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ [email protected]

 

ผมไม่ใช่คนแรกที่พูดถึง Right to the City ในบ้านเมืองเรา แต่คนมักจะแปลกันว่า “สิทธิที่จะอยู่ในเมือง” ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นคำแปลที่ยังไม่ได้เก็บความสำคัญของแนวคิดนี้ได้อย่างครบถ้วน

จนกระทั่งครั้งหนึ่งได้ยินท่านอาจารย์ ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งคณะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร เอ้ย !!! สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (นายไม่อ่านหนังสือของอาจารย์ชาตรี นายจะรู้อะไร) ท่านให้ความหมายประมาณว่า “สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง” (อาจไม่ตรงเป๊ะกับที่อาจารย์เขาพูดแต่ก็ประมาณนี้ครับ)

Advertisement

ผมเลยรู้สึกตื่นรู้เล็กๆ ขึ้นมาทันที ขอใช้คำยาวๆ มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเป็นคำที่เก็บความได้ครบถ้วนกว่า

ที่อยากจะนำเสนอประเด็นนี้ ก็เพราะรู้สึกว่ากระแสเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่มเป็นประเด็นที่เกิดการเรียกร้องกันมากขึ้นในช่วงนี้ว่าเมื่อไหร่จะเลือกตั้งสักที แล้วคนมีอำนาจก็มีแนวโน้มที่จะบ่ายเบี่ยงว่าจะต้องมีขั้นตอนเลือกตั้งอีกมากมาย ทั้งที่ตัวโครงสร้างรูปแบบการปกครองท้องถิ่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิม (เว้นแต่การยุบ ส.ข. ใน กทม.) และที่ผ่านมาก็ให้ผู้บริหารชุดเดิมรักษาการเอาไว้นานเกินสมัยของตัวเองแล้วทั้งสิ้น ซึ่งไม่ได้สร้างความเป็นธรรมใดๆ ในพื้นที่ และไม่ได้ให้ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกและตรวจสอบจากประชาชนในเวลาที่เหมาะสม

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของท้องถิ่นที่น่าจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อหลายปีก่อนก็คือท้องถิ่นที่เราพูดถึงกว้างๆ นั้นมีความเป็นเมืองมากขึ้น แถมในส่วนที่เราคิดว่ายังอยู่ในรูปแบบของชนบทนั้น ก็มีความเป็นเมืองแทรกอยู่ หรือล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลของเมืองทั้งสิ้น โดยคำอธิบายแบบทางการของไทยนั้น เขตเมืองก็คือเขตเทศบาล (มีประชากรมากในพื้นที่ที่ไม่มากนัก เว้นแต่ กทม.ที่เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษ ซึ่งพัฒนาจากเดิมที่เป็นเทศบาลเต็มพื้นที่) ขณะที่เขตชนบทหรือไม่ใช่เมืองก็คือพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล แต่จริงๆ แล้ว เราจะเห็นการเติบโตของย่านการค้าใหม่ๆ ในพื้นที่ อบต. รวมทั้งบรรดากิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ริมถนนรอบเมืองอยู่บ่อยๆ หรือการที่คนที่อยู่รอบนอกเมืองก็ต้องเข้ามาทำมาหากินในเมือง หรือแม้แต่การที่คนในเมืองนั้นทิ้งขยะนอกเขตเมือง ทั้งแอบทิ้ง หรือซื้อที่ดินเพื่อทำหลุมขยะ

Advertisement

การพูดถึงการเมืองการปกครองท้องถิ่นในปัจจุบันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดเรื่องเมือง เพื่อให้เห็นลักษณะเฉพาะและลักษณะที่เป็นพลวัตของพื้นที่และความสัมพันธ์ของท้องถิ่นนั้น และเมื่อนำเอาความเข้าใจเรื่องเมืองมาบวกกับเรื่องของสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง เราก็จะพบว่าการพูดถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นเฉพาะในเรื่องของสิทธิการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ออกจะจำกัดและคับแคบไปสักหน่อย

สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง เป็นเรื่องที่ช่วยเสริมอำนาจให้กับคนที่ไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเองนั้นมีสิทธิที่จะอยู่ในเมือง และแม้ว่าจะมีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองอันน้อยนิดแต่พวกเขาควรจะตระหนักถึงว่าสิทธิของเขานั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่เขาต้องกำหนดชีวิตของเขาและกำหนดชีวิตของเมืองได้ด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าเราใช้เพียงคำว่า สิทธิที่จะอยู่ในเมือง เราก็อาจจะรู้สึกว่ามันช่วยให้เราเริ่มเห็นคนบางกลุ่มที่ถูกไล่รื้อออกจากพื้นที่ และบ่อยครั้งที่การถูกไล่รื้อนั้นถูกไล่รื้อให้ไปอยู่นอกเขตเมือง ซึ่งทำให้เขาขาดแหล่งงานและแหล่งทรัพยากรอีกมากมาย รวมทั้งขาดความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่เดิมที่เป็นลูกค้า หรือเป็นแหล่งที่มาของความมั่งคั่งและทรัพยากรของพวกเขา

คําว่าสิทธิที่จะอยู่ในเมืองอาจจะมีลักษณะที่ก้ำกึ่งมากขึ้นเมื่อเราเริ่มเห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้มีการห้ามใครเข้ามาอยู่ในเมือง แต่การอยู่นั้นมันเป็นการอยู่แบบชั่วคราวเช่นจะมาทำมาหากินในเมืองก็ได้ แต่ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หน่อยถ้าไม่มีปัญญาที่จะเช่าที่เช่าทางหรือเช่าบ้านในแบบที่เป็นทางการหรือมีเอกสารที่ถูกต้อง

กล่าวคือ เขาไม่ได้ห้ามว่าเราจะไม่มีสิทธิเข้าเมืองแต่การอยู่ในเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี มีมาตรฐาน และได้รับการยอมรับนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสักหน่อย ต้องเข็นรถไปเรื่อยๆ ต้องเจรจากับเจ้าถิ่น ต้องอยู่ในบ้านเช่าที่ขาดมาตรฐาน

ความสำคัญของคำว่าสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง จึงอยู่ที่คำว่า “อำนาจกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง” เพราะการอยู่ในเมืองบางครั้งอาจจะอยู่ได้ แต่ไม่มีอำนาจ ไม่มีศักดิ์ศรี แต่กลายเป็นเพียง “ข้อมูล” หรือ “ประชากร” ให้กับผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดความเป็นไปของเมือง เช่นเราเป็นเพียงประชากรในการคิดคำนวณ เป็นเพียงผู้บริโภคที่ถูกล้วงตับ (ข้อมูล) เอาไปกำหนดการเคลื่อนที่การพักอาศัยและรสนิยม หรือเป็นเพียงผู้ที่ต้องได้รับการปกป้องจากอาชญากรรมเท่านั้น

ความแปลกแยกของเราที่อยู่ในเมือง หรือบางครั้งอาจจะน่าหดหู่กว่าก็คือความที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราเป็นเพียงทรัพยากรและผู้บริโภคที่ทำพฤติกรรมตามที่นักพัฒนาที่ดินและธุรกิจนั้นต้องการให้เราชอบหรือไม่ชอบ หรือแม้กระทั่งเดินไปในแนวทางที่เขาออกแบบมาให้ อยู่และมีกิจกรรมภายใต้อาคารที่เขาออกแบบมาให้เพราะเขาศึกษาพฤติกรรมทุกอย่างของเราไว้แล้ว เหมือนเกมเสมือนจริง หรือเหมือนในภาพยนตร์ประเภท Hunger Game นั่นแหละครับคือสิ่งที่คนจำนวนหนึ่งเริ่มตระหนักถึงว่าฉันอาจจะอยู่ในเมืองได้ แต่ฉันไม่มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปอะไรทั้งนั้น

สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง ไม่ใช่เรื่องที่มีขึ้นมาโดยอัตโนมัติ แต่เป็นเรื่องที่มาจากการต่อสู้-ต่อรอง และการสร้างการยอมรับ ในประวัติศาสตร์ของการปรากฏขึ้นของสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงในเมืองนั้นพบว่าการต่อสู้ต่อรองให้ได้มาซึ่งสิทธิที่จะมีอำนาจดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากคนคนเดียว หรือกลุ่มกลุ่มเดียว แต่มาจากการรวมตัวของผู้คนที่หลากหลายในเมือง ทั้งคนจน คนธรรมดา รวมทั้งคนร่ำรวยก็ต้องดิ้นรนต่อสู้กับเรื่องนี้ร่วมกัน

เรามักเข้าใจกันง่ายๆ ว่า สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะอยู่ในเมือง แล้วก็ลดทอนเรื่องสิทธิที่จะอยู่ในเมืองนั้นไปเป็นเรื่องของสิทธิในที่พักอาศัย แล้วก็ลดลงไปอีกว่าที่พักอาศัยนั้นหมายถึงที่พักสำหรับคนจนหรือชุมชนแออัด ดังนั้นเราก็จะจบลงที่ว่า Right to the City เป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียวที่อ้างสิทธิที่จะอยู่ในเมือง โดยเฉพาะพวกที่ไม่ต้องการถูกไล่รื้อ ก็จะใช้เรื่องนี้ต่อสู้ เหมือนกับที่อ้างสิทธิมนุษยชนในการต่อสู้เพื่อไม่ให้ถูกไล่รื้อในกรณีที่ไม่มีสิทธิในทางกฎหมายในการอ้างสิทธิ

แต่หากพิจารณาเรื่องของสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองให้ดี จะพบว่าสิทธิที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่ของคนกลุ่มเดียว แต่เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงกันของผู้คนที่อยู่ในเมืองทั้งหมดในฐานะที่ทุกคนนั้นเป็นผู้คนที่ร่วมชีวิตกันในเมือง (The Urban Common) แม้ว่าในฉากหน้านั้นเราจะพบว่าการต่อสู้ในเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธินี้จะถูกนำเสนอในแบบของความขัดแย้ง เป็นขั้ว เช่นระหว่างคนที่ถูกไล่รื้อกับเจ้าของที่ดิน แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจเพิ่มก็คือ สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองไม่ใช่เรื่องของการยึดทรัพย์สินของทุกคนมาเป็นของส่วนกลาง

แต่เป็นการยึดเมืองให้เป็นของทุกคน ให้ทุกคนได้มีส่วนกำหนดความเป็นไปของเมือง ดังนั้นคำประเภทเมืองของทุกคนที่ใช้กันอย่างหรูหราในทุกสโลแกนเมืองประเภท City for All, All for the City จึงไม่ใช่คำแปลง่ายๆ ว่าเมืองของทุกคนนั้นหมายถึงมีหน่วยงานหนึ่งเข้ามาออกแบบเมืองให้ทุกคน หรือทุกคนนั้นต้องมี “หน้าที่ในเมือง” ตามที่ถูกกำหนดจากคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกเขาร่วมกันสร้างสรรค์และกำหนดเมือง

สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนจนเมืองเท่านั้น แม้ว่าในขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆเรื่องของคนจนเมืองนั้นจะถูกนำเสนอให้เป็นเรื่องหลักในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการบางอย่าง หรือการรับรองสิทธิในแต่ละกรณี ทั้งที่โดยหลักการแล้ว สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองมันรวมไปถึงทุกมิติของการใช้ชีวิตในเมืองร่วมกันนั้นแหละครับ ทั้งในการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไปจนถึงความสวยงามของเมืองว่าใครกำหนด กระบวนการกำหนดนั้นมีใครบ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง และเกี่ยวข้องในแบบไหนบ้าง

บางครั้งเราก็มองภาพไม่ขาดว่า คำที่ดูยิ่งใหญ่อย่างสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของเมือง ทำไมในตะวันตกอาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องแต่กับการต่อสู้เพื่อต่อรองในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดินในพื้นที่ระดับละแวกบ้านเป็นหลัก แต่ในขณะที่ในประเทศที่กำลังพัฒนา คำคำนี้ดูยิ่งใหญ่และทำให้เห็นการเรียกร้องในระดับท้องถนนทั่วไปทั้งเมือง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตซึ่งไล่มาตั้งแต่การไม่มีบ้านจะอยู่ หรือคุณภาพที่พักอาศัยและเมืองนั้นถูกละเลยให้อยู่ไปตามมีตามเกิด ดิ้นรนกันไป เพราะเชื่อว่าถ้ามีเงินก็หาซื้อเอาได้เอง มีมากก็อยู่ดีกินดี มีน้อยก็อยู่ๆกันไป ความเชื่อในระบบความเป็นไปของเมืองแบบนี้ถูกทำให้เป็นธรรมชาติ มีเงินมากก็อยู่แพง มีเงินน้อยก็อยู่ในรู หรืออยู่ถูกๆ เขาไม่ให้อยู่ก็หลบๆ ซ่อนๆ ต่อรองกันไปเป็นพื้นที่ๆไป

ในตะวันตกนั้น กว่าจะมาถึงวันนี้ การต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง เริ่มต้นขึ้นสมัยทศวรรษที่ 1960 เมื่อเมืองเริ่มขยายตัวและกระทบชีวิตของผู้คนร่วมสมัยมากขึ้น ปัญหาเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องของมลพิษอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยของชนชั้นกรรมาชีพ แต่มันเป็นภาพรวมของการใช้ชีวิตที่ยากลำบากขึ้น การจัดสรรและการออกแบบสาธารณูปโภคนั้นทำให้ผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาอยู่ในเมืองทั้งจากการอพยพจากชนบท และการอพยพข้ามประเทศ

รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา เริ่มรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีอำนาจและสิทธิที่จะกำหนดความเปลี่ยนแปลงของเมือง โดยเฉพาะความเป็นไปพื้นฐานประเภทการขนส่ง ที่พักอาศัย ค่าเช่าบ้าน โรงเรียน การดูแลเด็ก ความรู้สึกของคนที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือไม่เห็นหัว ไม่มีส่วนกำหนดกลายเป็นเรื่องที่เขาเรียกร้องกันมานาน

พูดง่ายๆ คือ รัฐที่รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลชีวิตเมืองนั้นถูกกดดันและเรียกร้องว่าทำได้ไม่ดีพอ ทำได้ไม่ทั่วถึง แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1980 การที่รัฐลดบทบาทในการดูแลประชาชนในเมืองลงก็ทำให้การเรียกร้องสิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการประท้วงมาเป็นการร่วมมือกันในการสร้างโครงการในระดับท้องถิ่นกับรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนชั้นกลางเริ่มเข้ามาเรียกร้องเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้นเช่นพวกคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

บทเรียนที่ได้จากการต่อสู้ต่อรองในเรื่องของ สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง ก็คือ คำๆนี้มันมีทั้งเรื่องที่ต่างกลุ่มต่างเรียกร้องและสิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือความท้าทายว่าแต่ละกลุ่มจะมีข้อเรียกร้องร่วมในฐานะพลเมืองร่วมกันอย่างไร และไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้อย่างไร เพราะความสำคัญในเรื่องความขัดแย้งในเมืองมันไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในฐานะความขัดแย้งที่แท้จริง แต่มันเป็นความขัดแย้งที่มีกับระบบการใช้ชีวิตในเมืองภายใต้ตรรกะของเสรีนิยมใหม่เสียมากกว่า ที่ทำให้คนแต่ละกลุ่มต้องมีแรงเสียดทานและความตึงเครียดระหว่างกัน ซึ่งการที่จะทำให้คนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองก็จะต้องอาศัยกลไกประชาธิปไตยที่มีคุณภาพเข้ามากำกับการตัดสินใจต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนและการเปลี่ยนแปลงของเมือง

นอกจากนี้แล้วการพูดถึงอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมืองยังจะต้องรวมไปถึงเรื่องของความยั่งยืนคือคิดถึงทั้งวันนี้และวันข้างหน้าของทุกคน และยังต้องเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมให้ตรงกัน

ในอดีตนั้น สิทธิที่จะมีอำนาจในการกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง อาจจะต่อสู้แต่กับรัฐและกระบวนการผังเมืองที่มีแต่ผู้เชี่ยวชาญ หรือทุน/ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับนักพัฒนาที่ดิน แต่ในวันนี้สิ่งที่สำคัญเพิ่มขึ้นก็คือ ระบบอัจฉริยะของข้อมูลที่ถูกจัดเก็บโดยที่เราไม่รู้ตัวและมีผลต่อการกำหนดชีวิตของเราและความเป็นไปในเมืองมากขึ้น เช่นวันดีคืนดี ราคาค่าขนส่งอาหารในบริการสั่งอาหาร หรือเดินทางรูปแบบใหม่ก็เปลี่ยนไปซะอย่างนั้น เพราะเขารู้ว่าเราต้องการใช้มากในช่วงเวลานั้น เป็นต้น

อยากให้เริ่มมีการพูดถึงเรื่องแบบนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับของบ้านเราให้มากขึ้นครับ ไม่ใช่ยังวนเวียนแต่โครงการแลกคะแนนเสียงเท่านั้น

 

ข้อคิดจากบทความ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image