เดินหน้าชน : รายได้ปิโตรเลียม : โดย สัญญา รัตนสร้อย

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ผ่านวาระแรกรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว อยู่ระหว่างการแปรญัตติ

ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณของ ส.ส.ฝ่ายค้าน นอกจากจะชำแหละงบประมาณด้านต่างๆ แล้ว ยังตั้งข้อสังเกตถึงประมาณการรายรับด้วยว่าอาจไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ด้วยเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว

ลองไปดูรายรับว่ามาจากไหนบ้าง ในปีงบประมาณ 2563 ตั้งประมาณการรายรับไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% คิดเป็นสัดส่วน 18% ของจีดีพี

มาจาก ภาษีอากร 2,969,417.1 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีทางตรง 1,144,200 ล้านบาท เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 358,500 ล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 727,000 ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 58,700 ล้านบาท

Advertisement

ภาษีทางอ้อม 1,825,217.1 ล้านบาท จากภาษีการขายทั่วไป 971,900 ล้านบาท เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 890,000 ล้านบาท ภาษีธุรกิจเฉพาะ 65,600 ล้านบาท และอากรแสตมป์ 16,300 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีภาษีการขายเฉพาะ 690,659.1 ล้านบาท เช่น ภาษีสุราและแสตมป์สุรา 51,467 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 79,109 ล้านบาท ภาษีน้ำมัน 234,076 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิตจากการนำเข้า 137,725 ล้านบาท

ยังมีภาษีทรัพยากรธรรมชาติ 48,744 ล้านบาท เช่น ค่าภาคหลวงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 46,731 ล้านบาท

Advertisement

ภาษีสินค้าเข้าออก 108,600 ล้านบาท แบ่งเป็นอากรขาออก 100 ล้านบาท และอากรขาเข้า 108,500 ล้านบาท

รวมทั้ง ภาษีลักษณะอนุญาต 54,058 ล้านบาท เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตวิทยุคมนาคม 46,800 ล้านบาท

ยังมีรายได้จากรัฐพาณิชย์ 188,800 ล้านบาท เช่น รายได้จากองค์การของรัฐสาขาขนส่ง 22,072 ล้านบาท รายได้จากองค์การของรัฐสาขาพาณิชย์และบริการ 40,079.8 ล้านบาท และรายได้จากองค์การของรัฐสาขาพลังงาน 65,691 ล้านบาท

รวมรายได้ทั้งหมด 3,237,500 ล้านบาท แต่ต้องหักลดให้กับการคืนภาษีของกรมสรรพากร 331,600 ล้านบาท, อากรถอนคืนกรมศุลกากร 10,000 ล้านบาท การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก 14,300 ล้านบาท และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 19,600 ล้านบาท และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ 131,000 ล้านบาท

คงเหลือรายได้สุทธิ 2,731,000 ล้านบาท จึงต้องกู้เงิน 469,000 ล้านบาท รวมรายรับ 3,200,000 ล้านบาท

จากการดูรายรับด้านต่างๆ จะเห็นว่า หลายส่วนมาจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม

ย้อนไปเมื่อปี 2524 ที่เริ่มดำเนินการกิจการปิโตรเลียมจนถึงปี 2562 รัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม รวม 2,324,976 ล้านบาท

แบ่งเป็นรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต รวม 1,081,939 ล้านบาท จัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลการประกอบกิจการปิโตรเลียมของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีรายได้ในรูปแบบภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จัดเก็บโดยกรมสรรพากรอีก 1,243,037 ล้านบาท

ย้อนไปดูข้อมูลการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศย้อนหลัง 5 ปี ในปี 2558 มีรายได้ 162,799 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้ 117,182 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 99,577ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้ 110,677 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 166,332 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในแต่ละปีการจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ค่าเงินบาท ราคาน้ำมันในตลาดโลก และปริมาณการผลิตปิโตรเลียม

ทั้งนี้ การประกอบกิจการปิโตรเลียมสร้างรายได้ให้กับประเทศมาต่อเนื่องกว่า 40 ปีแล้ว แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อค้นหาแหล่งใหม่มานานกว่า 10 ปีแล้ว

ดังนั้น หากไม่มีการลงทุนสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ไม่เพียงจะเสี่ยงที่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

แต่ยังส่งผลให้รัฐขาดรายได้ที่จะนำไปเป็นงบประมาณแผ่นดินในการพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชนด้วย

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image