เปรียบเทียบการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีอเมริกัน : พ.ศ.2511 กับ พ.ศ. 2563 : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ผู้เขียนมีโอกาสไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์ระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2510 มีโอกาสติดตามและศึกษาการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาเป็นเวลา 52 ปี หรือเท่ากับการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้วถึง 12 ครั้ง และการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2563 คือปีหน้านี้ก็จะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 13 ของผู้เขียนที่ยังต้องติดตามกันต่อไป ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะมีการกำหนดวิธีการอย่างแน่นอนในรัฐธรรมนูญที่ใช้กันมานานถึง 232 ปี ที่มีรายละเอียดดังนี้

“อํานาจบริหารให้เป็นของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ประธานาธิบดีอยู่ในตําแหน่งวาระละสี่ปีและพร้อมกับรองประธานาธิบดีซึ่งได้รับเลือกให้อยู่ในวาระนานเท่ากันนั้นให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาดังต่อไปนี้ คือให้มลรัฐแต่ละมลรัฐแต่งตั้งคณะผู้เลือกตั้งตามวิธีการที่สภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐนั้นจะกําหนดไว้ขึ้นคณะหนึ่งมีจํานวนเท่ากับจํานวนสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่รัฐนั้นมีสิทธิมีได้ในรัฐสภา แต่ห้ามแต่งตั้งวุฒิสมาชิกหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ที่ดํารงตําแหน่งที่อาศัยความเชื่อถือของสหรัฐหรือข้องเกี่ยวกับลาภสักการะเป็นผู้เลือกตั้งให้ผู้ทําหน้าที่เลือกตั้งนี้ประชุมกันภายในมลรัฐของตนและออกเสียงโดยการลงคะแนนเลือกบุคคลสองคน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดคนหนึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีภูมิลําเนาอยู่ในมลรัฐเดียวกับตน แล้วทําบัญชีแสดงรายชื่อบุคคลทุกคนที่ได้รับคะแนนเสียงและคะแนนเสียงที่แต่ละคนได้รับโดยลงนามรับรองกํากับไว้ในบัญชีด้วย และให้ผนึกซองประทับตราส่งไปยังที่ตั้งที่ทําการของรัฐบาลสหรัฐโดยจ่าหน้าถึงประธานวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภาเปิดบัญชีทั้งหมดต่อหน้าที่ประชุมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแล้วนับจํานวนคะแนนเสียงให้บุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประธานาธิบดี ถ้าจํานวนนั้นเป็นคะแนนเสียงฝ่ายข้างมากของจํานวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดและถ้าปรากฏว่ามีผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากดังกล่าวนี้เกินกว่าคนหนึ่งขึ้นไป และได้รับคะแนนเสียงเท่ากันแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเลือกคนใดคนหนึ่งในจํานวนนั้นเป็นประธานาธิบดีทันที และถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากก็ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกคนใดคนหนึ่งจากห้าคนที่ได้รับคะแนนสูงสุดในบัญชีขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ในการเลือกประธานาธิบดีนี้ให้เสียงเป็นมลรัฐโดยคณะผู้แทนราษฎรจากแต่ละมลรัฐมีหนึ่งคะแนนเสียงองค์ประชุมสําหรับการนี้ให้ประกอบด้วยจํานวนสมาชิกจากสองในสามของมลรัฐทั้งหมด และจะต้องได้รับเลือกจากจํานวนเสียงข้างมากของรัฐทั้งหมดจึงจะมีผลในทุกๆ กรณี หลังจากที่ได้เลือกประธานาธิบดีแล้วให้บุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุดรองลงมาเป็นรองประธานาธิบดี แต่ถ้ายังมีผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงเท่ากันสองคนหรือมากกว่าอยู่อีกก็ให้วุฒิสภาลงคะแนนเลือกคนหนึ่งจากผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงเท่ากันนั้นเป็นรองประธานาธิบดี

รัฐสภาอาจกําหนดเวลาสําหรับเลือกคณะผู้เลือกตั้งและกําหนดวันที่คณะผู้เลือกตั้งจะออกเสียงโดยที่วันดังกล่าวจะต้องเป็นวันเดียวกันทั่วทั้งสหรัฐ ห้ามไม่ให้บุคคลอื่นใดยกเว้นผู้ที่เป็นพลเมืองโดยกําเนิดหรือเป็นพลเมืองสหรัฐขณะที่มีการรับรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้นที่จะมีคุณสมบัติเข้ารับตําแหน่งประธานาธิบดีหรือจะกําหนดให้บุคคลใดเป็นผู้มีคุณสมบัติพอที่จะเข้ารับตําแหน่งประธานาธิบดีโดยที่ยังมีอายุไม่ครบสามสิบห้าปีและเป็นผู้มีภูมิลําเนาอยู่ภายในสหรัฐน้อยกว่าสิบสี่ปีไม่ได้”

โปรดสังเกตว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีนี้เป็นหน้าที่ของมลรัฐต่างๆ โดยตรงที่จะเลือกคน 2 คนขึ้นเสนอต่อประธานวุฒิสภาสหรัฐเพื่อคัดเลือกอีกทีหนึ่ง แต่กติกาการได้มาของ 2 รายชื่อของแต่ละมลรัฐนั้นย่อมแล้วแต่แต่ละมลรัฐจะกำหนดเอาเองโดยไม่เหมือนกันเลยและอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงในกติกาการเลือกตั้งของแต่ละครั้งและสถานการณ์แวดล้อมในการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกันเลย การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจึงมีลักษณะเฉพาะไม่ค่อยซ้ำแบบกัน จนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าคือ พ.ศ.2563 ดูจะมีรูปแบบที่ซ้ำกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นปีแรกที่ผู้เขียนเริ่มศึกษาติดตามมาถึง 52 ปี

Advertisement

ทั้งๆ ที่การรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าเพิ่งเริ่มมาราวครึ่งปีแล้ว ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวประณามบรรดาผู้นำชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาสาดเสียเทเสียว่าเป็นคนไม่ดีนั่นแหละครับ และประณามชีวิตความเป็นอยู่ที่เสื่อมโทรมในชุมชนแออัดตามเมืองใหญ่ๆ ที่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาอาศัยอยู่ซึ่งเป็นท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะใช้การแบ่งแยกเกลียดชังระหว่างคนขาวกับคนดำและคนในเมืองกับคนในชนบทเป็นเครื่องมือการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อที่จะได้เป็นประธานาธิบดีในสมัยที่สอง นอกจากนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ยังกล่าวหาว่าพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นพรรคตรงกันข้ามพยายามที่จะทำลายชาติ โดยทางฝั่งพรรคเดโมแครตเองก็โต้ตอบว่าการที่ประธานาธิบดีทรัมป์กระพือความเกลียดชังระหว่างสีผิวของประชาชนอเมริกันนั่นแหละเป็นการทำลายชาติ

ครับ! ถึงแม้ว่าการด่าว่าโจมตีกันอย่างดุเดือดรุนแรงจะเป็นเรื่องธรรมดาในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีก็ตาม แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ พ.ศ.2563 น่าจะสกปรกและน่าเกลียดและรุนแรงพอๆ กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ พ.ศ.2511 เนื่องจากสาเหตุจากการแบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่ายโดยความเกลียดชังมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรูจะทำลายชาติด้วยความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวมเลย ในขณะที่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2511 นั้นก็มีความขมขื่นของสงครามเวียดนามที่เด็กหนุ่มทั้งหลายต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเสี่ยงตายในสมรภูมิโดยไม่ต้องการเลย รวมทั้งความโกรธแค้นที่บุคคลสำคัญในตำนาน เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และโรเบิร์ต เคนเนดี ถูกลอบสังหาร และความที่ชาวอเมริกันผิวขาวที่ไม่พอใจที่พวกชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาเรียกร้องสิทธิให้เท่าเทียมกับคนผิวขาวแบบว่าคนผิวขาวไม่ชอบที่คนผิวดำมาทำตีเสมอนั่นเอง

ใน พ.ศ.2511 อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ลงใต้ คือการแบ่งแยกระหว่างคนขาวกับคนดำนั่นเอง โดยอ้างว่าพวกที่มีการศึกษาผิวขาวที่เข้าใจถึงหลักประชาธิปไตยว่าคนเราทุกคนเท่าเทียมกันนั้นเป็นพวกไม่รักชาติอยากดังก่อความยุ่งยากให้กับสังคม และถึงเวลาที่คนส่วนใหญ่ที่เงียบสงบต้องพากันลุกขึ้นมารักษากฎหมายและความสงบด้วยการเลือกพรรครีพับลิกันซึ่งก็ได้ผลมีการจลาจลตลอดกระบวนการเลือกตั้งของปี พ.ศ.2511 และริชาร์ด นิกสัน ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัย ซึ่งดูท่าประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้ยุทธศาสตร์แบบเดียวกับอดีตประธานาธิบดีนิกสันอันเป็นการสกปรกและน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image