คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน คนของเราพร้อมหรือยัง : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คน คือ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของทุกองค์กร

ปัญหาในวันนี้ ก็คือ เราได้พัฒนาคนของเราให้มีความรู้ความสามารถเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือยัง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Digital Transformation

เรื่องที่จะทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ความคิดในเชิงกลยุทธ์” หรือ “การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์” (Strategic Management)

เพราะกลยุทธ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “อนาคต” และ “เป้าหมาย” ซึ่งต้องมี “วิธีดำเนินการ” ที่ชัดเจนจึงจะทำแล้วได้ผลไปถึงเป้าหมาย

Advertisement

“การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์” เป็นศาสตร์ในเชิงรุก เพราะจะต้องมีการกำหนด “วิสัยทัศน์” หรือ “เป้าหมาย” (ที่เป็นรูปธรรม) ในอนาคตที่ชัดเจนล่วงหน้า จากนั้นถึงจะมีขั้นตอนดำเนินการที่สำคัญ 4 ขั้นตอน

อันได้แก่ (1) การวางแผน (2) การนำแผนไปปฏิบัติ (3) การควบคุม และ (4) การประเมินผล

ที่สำคัญยิ่งก็คือ “แผนงาน” เพราะเปรียบเสมือนหางเสือของเรือที่ใช้บังคับทิศทางของการเดินเรือให้ไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

Advertisement

ดังนั้น การดำเนินการใดๆ หรือการประกอบกิจการจะคุ้มค่า และสำเร็จผลตามเป้าหมายได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใดนั้น ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับการวางแผน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการและบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์

แผนงานใดๆ จึงต้องมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม และสามารถวัดผลได้เป็นขั้นเป็นตอนระหว่างดำเนินการว่าใกล้ถึงเป้าหมายหรือยัง (ต้องทำอีกกี่มากน้อยจึงจะบรรลุเป้าหมาย)

เรื่องของ “เป้าหมาย” ก็เช่นเดียวกัน คือจะต้องชัดเจนและวัดค่าได้ ตลอดจนมีการคิดเผื่อ “วิธีการ” ต่างๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุวัตถุประสงค์

ดัชนีตัวชี้วัดผลของผลการดำเนินการ จะต้องชัดเจนและเป็นรูปธรรม และต้องมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ด้วย คือไม่ต่ำเกินไปและไม่สูงเกินกว่าตัวชี้วัดที่ผ่านมาถึงขนาดที่ทำไม่ได้

ดัชนีตัวชี้วัดจึงควรเป็นค่า หรือ ตัวเลขที่ “ท้าทาย” ให้พนักงานต้องใช้ “ความพยายาม” มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง จึงบรรลุเป้าหมายได้ (คือไม่ใช้ค่าที่ “เกินเอื้อม”)

การพัฒนาบุคลากรในองค์กร จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำให้เห็นถึง “ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” และมีความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

การพัฒนาคนในวันนี้ จึงต้องทำอย่างครบวงจร ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงที่ทำงานเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงระบบการศึกษาปกติด้วย โดยเฉพาะการผลิต “บัณฑิต” ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพราะบัณฑิตก็คือ ผลผลิตของสถาบันอุดมศึกษา ที่ป้อนให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมและสังคม

มหาวิทยาลัยจึงต้องคิดและทบทวนโดยเร็วว่า จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้างจึงจะผลิต “บัณฑิตที่มีคุณภาพ” ได้ คือ บัณฑิตที่มีทั้งความรู้ความสามารถและทักษะความชำนาญ พร้อมซึ่งการรู้จักเรียนรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เพื่อทำงานใดๆ หรือประกอบอาชีพใดๆ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ที่สามารถทำงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้

ทุกวันนี้ เราจึงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่อยู่ในวัยทำงานให้ “ตื่นรู้” เพื่อพัฒนาตนเองให้เข้าสู่ยุค 4.0 โดยเร็ว และรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image