มุ่งสู่กรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐมืออาชีพ : โดย สุรชัย เทียนขาว

เรื่องของสภาสถาบันอุดมศึกษาในเอกสารกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2565) ได้มีการกล่าวถึงบทบาทและความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัยด้วยการยกคำกล่าวของ ฯพณฯ องคมนตรี นพ.เกษม วัฒนชัย ที่สรุปบทบาทและความรับผิดชอบของสภาวิทยาลัยไว้ว่าประกอบด้วย การกำหนดพันธกิจและเป้าประสงค์ สรรหาสนับสนุน และติดตาม กำกับการปฏิบัติงานของอธิการบดี ประเมินการปฏิบัติงานของสภามหาวิทยาลัย ยืนหยัดให้มีการจัดทำแผนกลยุทธศาสตร์ และการกำกับติดตามทบทวนโครงสร้างหลักสูตรและโครงสร้างการบริการสังคม การประกันความพอเพียงของทรัพยากร และการบริหารจัดการที่ดี ยึดมั่นในความมีอิสระของสถาบันเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกับชุมชน และทำหน้าที่ศาลอุทธรณ์ในบางครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้บริหารสภามหาวิทยาลัยรวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจบทบาทของสภา และการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างเพียงพอเกิดความย่อหย่อน ผลประโยชน์ทับซ้อน ความไม่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาที่ปราศจากทิศทางขาดนวัตกรรมการศึกษา ตลอดจนปัญหาในการสรรหาผู้นำที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในองค์กรที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักศึกษาและประชาคม (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 2550)

แม้ว่าข้อมูลที่กล่าวข้างต้นนี้ได้ผ่านการตีพิมพ์ และเผยแพร่มาแล้วถึง 12 ปี ผู้เขียนเห็นว่าปรากฏการณ์ที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐยังดำรงอยู่ในบางสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งที่ถูกขนานนามว่า “สภาเกาหลัง” (ยังไม่หายไปจากสภามหาวิทยาลัยของรัฐของไทย) รัฐบาลชุดปัจจุบันควรเน้นให้องค์กรสูงสุดของสถาบันอุดมศึกษา คือ สภาสถาบันอุดมศึกษา มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษา ได้แก่ พระราชบัญญัติกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน (Turning point) ที่สำคัญต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถาบันอุดมศึกษา สภาสถาบันอุดมศึกษาก็ควรที่จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับประเทศไทย 4.0 และการศึกษาของโลก

จากการศึกษารายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาปริญญาการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทย เสนอต่อสถาบันคลังสมองของชาติ (พฤษภาคม 2562) โดยคณะผู้วิจัยประกอบด้วย ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานวัฒน์ หัวหน้านักวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชาย เพ็ชรช่วย และอาจารย์ ดร.สานนท์ ด่านภักดิ์ พิจารณาเห็นว่า ผลการวิจัยดังกล่าวมีความน่าเชื่อค่อนข้างสูง และมีคุณค่าควรนำข้อมูลที่คณะผู้วิจัยนำเสนอไว้เผยแพร่ในวงกว้างไม่เฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเท่านั้น ประชาชนที่เป็นผู้จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลพึงรับรู้รวมทั้งสถานประกอบการต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐที่รับบัณฑิตเข้าทำงาน

Advertisement

ข้อค้นพบบางประการที่น่าสนใจและขอนำเสนอในที่นี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบงานของสภาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และการรับรู้ของผู้สนใจ ดังนี้

1.กรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยทุกประการทั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ประเภทผู้บริหาร และประเภทคณาจารย์ และข้าราชการหรือพนักงาน ล้วนมีอำนาจหน้าที่และบทบาทเป็น “คณะบุคคล” ของสภามหาวิทยาลัยเหมือนกัน จึงต้องทำหน้าที่และบทบาทในทุกด้านเหมือนกันตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยของรัฐแทนเจ้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งก็คือ สังคม และประเทศชาติ หรือสาธารณะ

2.หลักการสำคัญที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยึดมั่นมี 8 ประการ คือ

Advertisement

1) ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง

2) ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและเงื่อนไขต่างๆ

3) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัย

4) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยสำนึกความรับผิดชอบ โปร่งใส และตรวจสอบได้รวมทั้งกำกับดูแลให้เปิดเผยข้อมูลถูกต้องและเชื่อถือได้แก่สาธารณะ

5) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม มีความเป็นกลางไม่เลือกปฏิบัติ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

6) ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักความคุ้มค่า มุ่งเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานเป็นหลัก

7) เสียสละ อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและสาธารณะ

8) ปฏิบัติหน้าที่องค์คณะแบบมีส่วนร่วม มุ่งแสวงหาฉันทามติ และรับฟังข้อมูลรอบด้านจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ส่วนประเด็นที่เป็นจรรยาบรรณของกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาต่อมหาวิทยาลัย การศึกษาครั้งนี้มีข้อค้นพบที่สำคัญ คือ

1) เข้าใจและยึดมั่นอุดมการณ์ ค่านิยม และวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย

2) กำหนดและกำกับนโยบาย ตลอดจนพิทักษ์ธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัย และสาธารณะ

3) กำกับดูแลให้มหาวิทยาลัยบริหารอย่างมืออาชีพตามหลักอัตตาภิบาล และหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งดำเนินการเรื่องต่างๆ อย่างเป็นธรรมและถูกระเบียบ

4) ริเริ่มการนำประสบการณ์มาพัฒนาสภามหาวิทยาลัยให้ก้าวทันสมัยสมกับเป็นองค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัย

5) รักษาชื่อเสียง เกียรติภูมิ และประโยชน์อันชอบธรรมของมหาวิทยาลัย

6) ละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการอาศัยอำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแก่ตนเอง พวกพ้องหรือผู้อื่น หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์มาว่าทางตรงหรือทางอ้อม

7) ไม่ดำเนินการในลักษณะที่เป็นตัวแทนของบุคคลกลุ่มบุคคล เพื่อเรียกร้องหรือต่อรองผลประโยชน์ที่เหนือกว่าผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและสาธารณะ

8) ไม่ไปทำหน้าที่หรือดำรงตำแหน่งต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่ได้รับค่าตอบแทนเว้นแต่เป็นงานโดยตำแหน่ง หรือตามหน้าที่ หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัย

9) ไม่ทำการหรือประพฤติตนเป็นปรปักษ์หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัย

10) ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งหรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับมหาวิทยาลัย

สําหรับข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีประเด็นที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างธรรมาภิบาลและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอุดมศึกษา

1.สถาบันคลังสมองของชาติพึงนำผลวิจัย โดยเฉพาะข้อกำหนดจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งการปฐมนิเทศกรรมการสภามหาวิทยาลัยใหม่การอบรม สัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนากรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐมืออาชีพ

2.สภามหาวิทยาลัยของรัฐ โดยสำนักงานสภามหาวิทยาลัยควรนำคู่มือว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยประกอบการพิจารณาปรับปรุงหรือจัดทำคู่มือกรรมการสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. ….

3.สถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถนำข้อค้นพบเกี่ยวกับจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยไปประยุกต์ใช้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มา ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสมรรถนะความสามารถที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทย

4.สภามหาวิทยาลัยของรัฐสามารถนำข้อค้นพบเกี่ยวกับจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยและคู่มือว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยไปกำหนดแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะของกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งการกำกับบทบาทและพฤติกรรมของกรรมการสภามหาวิทยาลัยในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณะ สังคม และประเทศเป็นสำคัญ

5.สภามหาวิทยาลัยของรัฐพึงใช้ข้อค้นพบจากการวิจัยเรื่องนี้ประกอบเป็นเกณฑ์ในการประเมินกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐและประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของสภามหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

6.สภามหาวิทยาลัยของรัฐพึงใช้ข้อค้นพบจากการวิจัยเรื่องนี้เป็นแนวทางในการออกแบบ หรือปรับปรุงประกาศ หรือข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการ หรืออนุกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง พ.ศ. …และจรรยาบรรณของสภาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ พ.ศ. …

7.มหาวิทยาลัยพึงดำเนินการจัดการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร และผู้เรียนของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 โดยพิจารณาประกอบกับข้อค้นพบเกี่ยวกับจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทย

8.สภาสถาบันอุดมศึกษาพึงนำข้อค้นพบเกี่ยวกับจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัยของไทยประกอบกับข้อกำหนดการกำกับดูแลการอุดมศึกษาของประเทศอังกฤษ (2014 ปรับปรุง 2018) และข้อกำหนดการกำกับดูแลที่เป็นเลิศของประเทศออสเตรเลีย (2011) ดำเนินการตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้สภาสถาบันอุดมศึกษาจัดให้ประมวลจริยธรรมของนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร และบุคลากร ของสถาบันอุดมศึกษาและผู้เรียนโดยมีกลไกการส่งเสริม ตรวจสอบ และบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ

9.สถาบันคลังสมองของชาติน่าจะสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดและสำคัญที่สุดของสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน เช่น การวิเคราะห์องค์ประกอบของจรรยาบรรณของกรรมการสภามหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิผล มีธรรมาภิบาล และเป็นแบบอย่างที่ดี วิธีที่ปฏิบัติที่เป็นเลิศของสภามหาวิทยาลัยของรัฐ ปัจจัยที่ส่งผลต่อสัมฤทธิผลของสภามหาวิทยาลัย บทบาทและสัมฤทธิผลของสภามหาวิทยาลัยของไทย

ข้อมูลสารสนเทศบางส่วนที่ได้จากการศึกษาวิจัย โดยสถาบันคลังสมองของชาติ (2562) ที่เสนอในที่นี้น่าจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของสภาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีความก้าวหน้า และทันสมัยรวมทั้งเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนที่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาล

ผลการวิจัยครั้งนี้นอกจากจะสามารถนำไปใช้ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐโดยตรงแล้ว สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจศึกษา และนำข้อค้นพบบางประเด็นที่อาจใช้ในการพัฒนาสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในเชิงเทียบเคียงได้ เช่นเดียวกันอันจะนำไปสู่การเป็นสภาสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่มีความเข้มแข็ง และเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน

สุรชัย เทียนขาว
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
(อุดมศึกษา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image