สถานะ การเมือง ปราบโกง ประชามติ ในทาง ‘ความคิด’

ประหนึ่งว่า “คำขอร้อง” อันดำเนินไปอย่างเฉียบขาดอย่างยิ่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” นปช.

จะเป็นการเปิด “เกมรุก”

“ผมไม่ให้เดิน พอแล้ว หยุดเถอะ ผมขอร้อง ไม่เอา หากยังเดินหน้าต่อผมก็มีมาตรการทางกฎหมายดำเนินการ”

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง คือ “การรับ”

Advertisement

เพราะว่าการประกาศจัดตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ของ นปช.เป็นยุทธวิธีอันมากด้วยความแหลมคม

ทำให้ไปอยู่ในสถานะ “รุก” โดย “อัตโนมัติ”

1 เป็นการรุกบนพื้นฐานแห่งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และ 1 เป็นการรุกบนพื้นฐานแห่ง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

Advertisement

มากด้วยความ “ละเอียดอ่อน” มากด้วยความ “อ่อนไหว”

การงัดเอาคำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 ประสานกับประกาศ คสช.ฉบับที่ 39/2557 และฉบับที่ 3/2558 อาจฟังดูขึงขัง น่ากลัว แต่เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ เทียบกับ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

คสช.และรัฐบาลก็ยังอยู่ในฐานะ “ตั้งรับ” อยู่เช่นเดิม

ไม่ว่าจะชอบ นปช. ไม่ว่าจะชัง นปช. แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ยุทธวิธี” ของ นปช.ในการจัดตั้ง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ครั้งนี้มากด้วยความรอบคอบ มากด้วยความรัดกุม

หลังจาก “สงบนิ่ง” อยู่ใน “ที่ตั้ง” มาอย่างยาวนาน

ที่ว่าสงบนิ่งก็คือ การไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมอย่างที่เคยปฏิบัติในเดือนเมษายน 2552 และอย่างที่เคยปฏิบัติในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

หรือแม้กระทั่งที่เคยปฏิบัติในห้วงท้ายสุดก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

สะท้อนให้เห็นว่า บรรดา “แกนนำ” นปช.โดยเฉพาะ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ และ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ เป็นต้น ได้ร่วมกันสรุปและยึดกุมมาเป็น “บทเรียน”

การนำเอา “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” มาปฏิบัติคือการนำเอาความจัดเจนจาก “อดีต”

เป็นความจัดเจนในการก่อรูป “อาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง” ของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 เป็นการเหยียบบาทก้าวแรกของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าไปยังสนามการเลือกตั้ง สนามการเมือง

บทเรียนนี้ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ น่าจะร่วมด้วยอย่างใกล้ชิด

ความหมายก็คือ อาศัยรูปการณ์ของ “องค์กรประชาชน” ในลักษณะของอาสาสมัคร ปวารณาตนเป็นมือไม้และเครื่องมือให้กับกระบวนการ “ประชามติ”

“ยุทธวิธี” นี้จึงดำเนินไปอย่างมีลักษณะทาง “ยุทธศาสตร์”

การดาหน้ามาสกัด ขัดขวาง “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” สะท้อนให้เห็น 1 ความร้อนใจอย่างยิ่งยวด และ 1 ยืนยันในบทบาทและความหมายของศูนย์ที่จะตามมา

ที่บอกว่าเสมอเป็นเพียง “อีเวนต์” ทางการเมือง อาจใช่

ที่บอกว่าเสมอเป็นเพียง “จั่วลม” จั่วแล้งในทางการเมือง อันเป็นความหมายอย่างเดียวกันกับการดำรงอยู่ในลักษณะแห่ง “อากาศธาตุ” อาจใช่

แต่กระนั้นก็สัมผัสได้ในความร้อนรน กระวนกระวาย

รูปธรรม 1 คือ โฆษกระดับ “พล.ต.” จากทำเนียบรัฐบาล และโฆษกระดับ 2 พ.อ.จาก คสช. และรวมถึงบรรดาลูกแหล่งตีนมือทั้งในแวดวง สนช.และ สปท.

กระทั่งในที่สุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมา “เบรก”

แถลงจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการเห็นการยุติและคาดหมายว่าน่าจะยุติ เพราะเอาสถานะแห่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบด้าน “ความมั่นคง” มาค้ำประกัน

แต่จะสามารถ “ยุติ” ได้อย่างแท้จริงหรือ

บรรดาแกนนำ นปช.อาจถูกประกาศและคำสั่ง คสช.กดทับอยู่อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยากที่จะสกัดและขัดขวางได้ในทางเป็นจริง

นั่นก็คือ บทบาทและความหมายในทาง “ปฏิมา”

นั่นก็คือ การดำรงอยู่ของ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ในทาง “ความคิด”

ไม่ว่าแกนนำ นปช.จะเดินทางไปยัง “สหประชาชาติ” หรือไปยัง “สถานทูต” อันเป็นพันธมิตรหรือไม่

แต่จากวันที่ 5 มิถุนายน กระทั่งวันที่ คสช.และรัฐบาลออก “มาตรการ” เพื่อกำจัดและขจัดมิให้ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ดำรงอยู่ได้อย่างเป็น “องค์กร”

“ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ก็ได้ “แจ้งเกิด” แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image