การเมืองที่ถูกกดทับ : วีรพงษ์ รามางกูร

ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนระดับล่างและคนระดับกลางค่อนไปทางล่าง ต่างก็รู้สึกอึดอัดกับภาวะการเมืองและสังคมเหมือนมีอะไรมากดทับเอาไว้ จะพูดจาอะไรตามข้อเท็จจริงที่เห็นก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องตรวจสอบตนเองแทบจะในทุกสถานที่ตลอดเวลา พอไม่ได้พูดไม่ได้ระบายก็รู้สึกอึดอัดเหมือนมีภูเขามาทับอยู่ที่อก

สำหรับคนที่ออกไปนอกประเทศแล้วได้อ่านหรือฟังข่าวจากสื่อมวลชน หรือบทวิเคราะห์ของสื่อมวลชนต่างประเทศ ที่เขาเสนอข่าวการเมืองและสังคมในประเทศเขาเอง ก็จะรู้สึกว่าผิดกันกับการเสนอข่าวการเสนอข้อเท็จจริงในเรื่องบ้านเมืองอย่างฟ้ากับดิน

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะระบอบการปกครองของประเทศ ที่เป็นระบอบสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. ที่แปลงร่างตนเองจากการเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารมาเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นองคาพยพ โครงสร้างกฎหมาย โครงสร้างการบริหาร ยังดำรงคงอยู่เหมือนเดิม แม้ว่าจะมีเสียงในสภาผู้แทนไม่พอก็สามารถสร้างอภินิหารตีความกฎหมายโดย กกต. ทำให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึง 70,000 เสียง แต่สามารถเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสนับสนุนรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้

เป็นการใช้กฎหมายและองค์กรอิสระปกครอง เป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการโดยใช้กฎหมายหรือ rule by law ไม่ใช่ระบอบนิติรัฐหรือ rule of law เป็นการใช้ “กฎหมายปิดปาก” โดยมีนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนกลุ่มหนึ่ง ดำเนินการพูดสร้างเหตุสร้างผลมาอธิบายให้ เป็นระบอบสืบทอดอำนาจเผด็จการที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยแท้

Advertisement

กระทำการทุกอย่างเหมือนกับประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐปกครอง แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะตนสามารถใช้เสียงวุฒิสภาที่ตนเองแต่งตั้ง มาลงคะแนนเสียงเลือกตนให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ฟังดูก็เหมือนเป็นการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ แต่ความจริงถ้าหากสมาชิกวุฒิสภาไม่มีอำนาจมาออกเสียงลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ผลของการลงคะแนนเสียงของสภาผู้แทนราษฎรก็จะเปลี่ยนไป สิทธิเสรีภาพของผู้คนในการแสดงออก พฤติกรรมของสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบคณะรัฐมนตรีก็จะเปลี่ยนไป

บรรยากาศที่หัวหน้ารัฐบาลไม่ยอมมาชี้แจงตามที่ประธานคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรออกหนังสือเชิญ การเชิญก็ดี การเป็นข่าวไม่ยอมมาชี้แจงด้วยตนเองก็ดี กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ทำให้เกิดความอึดอัดกดทับ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเป็น เพราะไม่มีเรื่องอะไรที่ฝ่ายบริหารจะตอบคำถามของกรรมาธิการไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ไปทำผิดคิดร้ายอะไรมาจากที่ไหน ถ้ามาตอบมาชี้แจงเสีย ความอึดอัดกดทับก็จะหายไป เป็นผลดีกับทุกฝ่าย บรรยากาศที่รู้สึกว่าถูกกดทับก็จะหายไป เหมือนยกภูเขาออกจากอก เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ในสังคมที่คนส่วนน้อยปกครองคนส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจึงไม่ใช่ “เสียงสวรรค์” การให้เหตุผลข้างๆ คูๆ ก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์เพื่อการดำเนินการทางการเมือง การเลือกตั้งที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมทำให้ผลออกมากะพร่องกะแพร่ง เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยแต่พูดไม่ได้ แสดงออกลำบาก จะพูดจะจาก็ต้องป้องปากพูดในที่ลับไม่ใช่ที่รโหฐาน

Advertisement

บรรยากาศเช่นนี้เป็นบรรยากาศที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2500 เป็นต้นมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และกลับไปสู่บรรยากาศเก่าอีกเมื่อมีเหตุการณ์ 16 ตุลาคม 2519 จนกระทั่งมีระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2520 จนมีประชาธิปไตยเต็มใบในปี 2533

ความรู้สึกเหมือนถูกจับใส่ไว้ในกรงขังแล้วปล่อยให้จิกตีกันเอง ไม่ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ ตัวผู้นำรัฐบาลก็ถูกกำหนดถูกจองไว้แล้วโดยมีพรรคพลังประชารัฐของทหาร และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและตำแหน่งประธานรัฐสภาเป็นรางวัล พลังประชารัฐของทหารกับประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคของคนชั้นสูงส่วนน้อยในเมืองและภาคใต้จับมือเป็นพันธมิตรกัน ปกครองคนส่วนใหญ่ที่สะท้อนมาจากเสียงของการเลือกพรรคเพื่อไทย

การเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม ย่อมไม่ใช่การเลือกตั้งไปอย่างไรแต่นายกรัฐมนตรีก็เป็นคนเดิม เพราะมีเสียงวุฒิสมาชิก 250 เสียงไว้ในมือ บวกกับเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ผู้นำพรรคเคยประกาศว่า “เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เหตุผลของความชอบธรรมของระบบการเมืองแบบนี้ สร้างความอึดอัดให้กับประชาชนอีกส่วนหนึ่งคือส่วนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดเป็นจำนวนมาก

ความอึดอัด อัดอั้นในใจ จะมีมากขึ้นในยามที่เศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจขาลง ที่รัฐบาลไม่อาจจะยอมรับได้ว่าตลอดเวลา 6 ปีที่ตนเข้ามารับผิดชอบบ้านเมืองนั้น ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประชาชนระดับ “รากหญ้า” มีปัญหา การที่รัฐบาลไม่อาจจะยอมรับว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอยและซบเซา หาทางบรรเทาภาวะดังกล่าวโดยมาตรการทางด้านการใช้จ่ายมีโครงการลงทุนในด้านต่างๆ เช่นการลงทุนก่อสร้างขยายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง ระบบขนส่งทางราง สนามบิน ท่าเรือ โครงการสาธารณสุข บริการทางการแพทย์

โครงการทางด้านการศึกษา ซึ่งประเทศเราถูกตำหนิว่ายังล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ การทุ่มการลงทุนในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ การทุ่มเงินในงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่จะต้องทำในยามที่เศรษฐกิจซบเซาถดถอย เพื่อชดเชยให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นการลงทุน แทนที่จะเป็นการทุ่มเงินผ่านทางการบริโภคเพราะเมื่อใช้หมดไปแล้วก็จะไม่เหลืออะไรเลย

ความอึดอัดเพราะสภาวะการว่างงานได้เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะขยายตัว โดยเริ่มจากการว่างงานของคนที่มีการศึกษา นักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยได้รับปริญญาไม่สามารถหางานทำได้ ครั้นจะลดตัวลงรับตำแหน่งงานที่ไม่ได้ต้องการคุณวุฒิที่สูงก็มีปัญหาว่าตนมีคุณวุฒิสูงเกินไป จึงเกิดสถานการณ์การว่างงานทั้งที่งานระดับที่ไม่ต้องการคุณวุฒิที่สูงมีให้ทำแต่ไม่มีคนไทยทำ จึงต้องจ้างแรงงานแบบนี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าการว่างงานเพราะโครงสร้างของตลาดแรงงานหรือ structural unemployment

เมื่อว่างงานก็เกิดความอึดอัด เพราะรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในระบบก็ตาม และในยามเศรษฐกิจถดถอยก็มักจะมีข่าวปัญหาหนี้นอกระบบเกิดขึ้น สถาบันการเงินในระบบไม่ยอมปล่อยเงิน เพราะระบบค้าปลีกการค้าการขายพ่อค้ารายย่อยที่ขายของได้น้อยลง หมุนเงินไม่ทัน เกิดความกลัดกลุ้มหันเข้าหาสุรายาเมา ทำให้เกิดคดีความรุนแรงมากขึ้น

หากดูข่าวทางสื่อมวลชนก็จะพบกับข่าวอาชญากรรม ฆาตกรรมบ่อยขึ้นมากขึ้น อันเป็นการสะท้อนถึงความตึงเครียดความอึดอัดของผู้คนอันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ข่าวเช่นว่าจะลดน้อยเบาบางในยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและรุ่งเรือง

สมัย 20 ปีก่อน แรงงานภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้ตัดขาดจากภาคเกษตรกรรม เมื่อเศรษฐกิจหดตัวซบเซามีปริมาณการผลิตลดลง แรงงานที่ถูกปลดก็กลับไปทำงานในภาคเกษตร ทำไร่ไถนาได้ แต่ขณะนี้แรงงานภาคอุตสาหกรรมกับงานในภาคเกษตรแยกจากกันอย่างเด็ดขาดมากขึ้น เพราะแรงงานเป็นแรงงานที่มีการศึกษามากขึ้น การผลิตในภาคเกษตรใช้เครื่องมือเครื่องจักรมากขึ้น เครื่องมือเครื่องจักรที่ว่าต้องมีการจ้าง ต้องมีค่าใช้จ่ายและขึ้นลงตามราคาพลังงาน ซึ่งอิสระจากราคาขายที่ปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลก ความอึดอัดของเกษตรกรจะเกิดขึ้นอย่างมากในยามที่ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาตลาดโลกของสินค้าที่ตนผลิตกลับมีแนวโน้มลดลง

นักการเมืองระดับรัฐมนตรีรวมทั้งผู้นำรัฐบาล ไม่มีโอกาสได้สัมผัสของจริงถ้าไม่แอบเดินทางไปเองเป็นการส่วนตัวโดยไม่ให้ทางจังหวัดรู้ กรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ที่สมัชชาคนจนสามารถระดมคนมายื่นเรื่องของคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลจนเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของนายกรัฐมนตรีต้องหนีไปจอดที่อื่น ภาพดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าขาลงของรัฐบาลเกิดขึ้นได้เร็วเกินคาดและเกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศเสียแล้ว

ความอึดอัดของผู้เฝ้ามองการเมืองจากข้างบน เหมือนนกที่บินขึ้นฟ้าแล้วมองลงมาข้างล่าง เห็นสถานการณ์ที่การเมืองออกนอกจุดดุลยภาพ หรือจุดสมดุลระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชนผู้ไร้อำนาจ แต่ได้รับผลกระทบจากคนกลุ่มน้อยที่คุมอำนาจรัฐไว้ในมือ ที่ยังสืบทอดไว้ไม่ยอมปล่อย ความย้อนแย้งดังกล่าวจึงเป็นสภาพการณ์ที่ไม่เกิดจุดสมดุลหรือจุด equilibrium ทางการเมือง เป็นสถานการณ์ที่ไม่นำพาไปสู่จุดดุลยภาพที่มีเสถียรภาพ

ความอึดอัดจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image