ไทยพบพม่า : ยาเสพติดกับลาวในภายใต้เงาซีไอเอ (1) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

นายพลหวังเปา ผู้นำกองทัพลับในลาว

หลังจากสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนเขียนถึงบทบาทของราชนิกุลลาวในขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติในสามเหลี่ยมทองคำยุคสงครามเย็น ผู้เขียนที่ยัง “อิน” กับเรื่องนี้จึงนัดแนะกับคนข้างกายขอขับรถผ่านชายแดนไทยข้ามไปฝั่งลาว ต่อไปยังเมืองคูน (Muang Khoun) และเมืองโพนสะวัน (Phonesavan) เมืองเอกแห่งแคว้นเชียงขวาง เพื่อตามรอยเจ้าสบไซซะนะ เจ้าจากเชียงขวาง ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตลาวประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ถูกทางการฝรั่งเศสจับได้ว่าซุกซ่อนเฮโรอีนน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัมไว้ในสัมภาระ และถูกส่งตัวกลับลาว พร้อมกับความงุนงงของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศส เจ้าสบไซซะนะอาจไม่ใช่ราชนิกุลลาวเพียงพระองค์เดียวที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดขนาดใหญ่ในสามเหลี่ยมทองคำตลอดยุคสงครามเย็น แต่เป็นหนึ่งในเครือข่ายค้ายาไม่กี่รายที่ถูกจับกุมได้ในแผ่นดินยุโรป

การเมืองของลาวนับตั้งแต่เจ้าศรีสว่างวงศ์ (King Sisavangvong) ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส จนกระทั่งลาวได้เอกราชที่แท้จริงจากฝรั่งเศสในปี 1953 ไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ หากเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอีลีทลาวด้วยกันเอง อีนุงตุงนังเหลือจะกล่าว สงครามกลางเมืองในลาวกินเวลายาวนานตั้งแต่ปี 1953-1975 ในช่วงแห่งสุญญากาศทางอำนาจนี้ สหรัฐอเมริกา ที่หาช่องทางแทรกแซงการเมืองภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลคอมมิวนิสต์จากจีนและเวียดนาม เข้าไปสนับสนุนเจ้าลาวบางกลุ่ม และยังสนับสนุนชาวม้ง (Hmong)
ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยกันหนาแน่นในลาวภาคเหนือ ให้ต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาว

อุตสาหกรรมปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่นในเขตสามเหลี่ยมทองคำเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและน่าสนใจ เพราะการค้ายาเสพติดในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เรื่อยมามีลักษณะเป็นขบวนการข้ามชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนและได้รับ “ใบเบิกทาง” จากอีลีททั้งในลาว พม่า ไทย และยังได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาดังกล่าว เครื่องบินสายการบินแอร์อเมริกาขนส่งฝิ่นที่ได้จากชาวม้งไปส่งยังเวียงจันทน์และล่องแจ้ง (Long Tieng) อันเป็นที่ตั้งฐานทัพขนาดใหญ่ของลาว แม้ผลผลิตฝิ่นที่ได้จากชาวม้งจะมีปริมาณมาก แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคเฮโรอีนและมอร์ฟีนของโลกในเวลานั้น จึงเกิดเครือข่ายซื้อขายฝิ่นขนาดใหญ่ระหว่างอีลีทลาวและขบวนการค้ายาเสพติดในรัฐฉาน ในพม่า แต่เดิมจุดหมายปลายทางของเฮโรอีนจากรัฐฉานอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อเกิดเครือข่ายค้าเฮโรอีนใหม่ระหว่างพ่อค้าในรัฐฉานกับอีลีทลาวภายใต้การนำของพลเอกภูมี หน่อสวรรค์ (Phoumi Nosavan) ฝิ่นเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้ในรัฐฉานก็ถูกส่งไปยังลาวเพื่อเข้าโรงงานสกัดเฮโรอีนขนาดใหญ่ 7 แห่งในสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของซีไอเอ และเครือข่ายผู้มีอิทธิพลพ่อค้ายาเสพติดในพื้นที่ทั้งสิ้น

ในบรรดาผู้ค้ายาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ เรามักได้ยินชื่อของขุนส่า พ่อค้ารายใหญ่ในเขตรัฐฉานตอนเหนือ แต่สำหรับในลาว ผู้มีอิทธิพลคนสำคัญคือนายพลหวังเปา ผู้บัญชาการกองทัพม้ง หรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่า “กองทัพลับ” (Secret Army) ที่ซีไอเอสนับสนุนเพื่อทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว และกองทัพประชาชนของเวียดนาม หวังเปาเองก็มีโรงงานผลิตเฮโรอีนแห่งหนึ่งอยู่ภายในค่ายบัญชาการทหารของซีไอเอที่ล่องแจ้ง อาจกล่าวได้ว่าเครือข่ายค้ายาเสพติดขนาดใหญ่ของโลกในสามเหลี่ยมทองคำมีที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างซีไอเอกับกองกำลังของชาวม้ง

Advertisement

เมื่อซีไอเอเริ่มปฏิบัติการในลาว เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนามที่แทรกซึมเข้ามา ซีไอเอเล็งเห็นว่าชาวม้งเคยเป็นกำลังหลักให้ฝรั่งเศสต่อสู้กับลาวมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม อีกทั้งทหารม้งยังชำนาญในพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนในลาว และมีความสามารถด้านการรบอยู่แล้ว ม้งจึงเป็นคนกลุ่มแรกที่เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐอเมริกาในลาว ระหว่างปี 1960-1974 ซีไอเอเข้าไปสนับสนุนกองทัพม้งที่มีกำลังราว 30,000 นายอย่างลับ ๆ อันเป็นบ่อเกิดของสงครามลับในลาว ที่ทำให้ลาวกลายเป็นประเทศที่เสียหายมากที่สุดตลอดประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น (ลาวเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุด ประเมินกันว่าสหรัฐอเมริกานำระเบิดไปทิ้งในลาวถึง 2 ล้านตัน แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถเผด็จศึกคอมมิวนิสต์ปะเทดลาวได้สำเร็จ)

ปฏิบัติการของซีไอเอในลาวพึ่งพาบารมีของนายพลหวังเปาอยู่มาก เพราะเขาเป็นผู้นำชาวม้งเพียงไม่กี่คนที่สามารถรวบรวมชาวม้งที่อยู่กระจัดกระจายตามภูเขาสูงในลาวภาคเหนือได้ ดังนั้น ซีไอเอจึงจำเป็นต้องเอาอกเอาใจหวังเปาเป็นพิเศษ เพื่อให้ปฏิบัติการในลาวราบรื่นและดำเนินต่อไป โดยกองทัพม้งไม่ตีตัวออกห่างซีไอเอไปเสียก่อน ดังนั้น แม้ซีไอเอและรัฐบาลสหรัฐจะไม่ได้เป็นผู้ค้ายาเสพติดโดยตรง แต่ก็กล่าวได้ว่าซีไอเอสนับสนุนให้หวังเปาและชาวม้งปลูกฝิ่นเพื่อส่งออกต่อไป โดยมีซีไอเอช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งฝิ่นออกนอกลาวและสามเหลี่ยมทองคำ โดยฝั่งม้งมีกำลังทหารหนุ่มๆ (เด็กหนุ่มม้งเริ่มฝึกทหารตั้งแต่อายุ 13-14 ปี)

Advertisement

อย่างไรก็ดี สงครามลับในลาวทำให้ประชากรเพศชายชาวม้งลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีทหารม้งเสียชีวิตในการรบจำนวนมาก คาดว่ามีชาวม้งเสียชีวิตในสงครามลับเกือบ 40,000 คน ทำให้ชาวม้งขาดแคลนแรงงานวัยทำงาน จึงต้องพึ่งพาเสบียงที่สหรัฐอเมริกาส่งให้ ในขณะที่ซีไอเอส่งข้าวสารให้ชาวม้ง ชาวม้งก็ตอบแทนเป็นฝิ่นดิบและทหารวัยหนุ่มดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เทคโนโลยีของสงครามเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวม้งในลาวตอนเหนืออย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จริงอยู่ว่าชาวม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรม ศาสนา และพูดภาษาเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง ประชากรชาวม้งราว 2 แสนคนอาศัยกระจัดกระจายตามหุบเขาในลาวตอนเหนือ แต่ละชุมชนมีความสัมพันธ์กันอย่างหลวม ๆ ด้วยการสัญจรไปมาหาสู่กันในพื้นที่ภูเขาสูงไม่สะดวกและใช้เวลานาน แต่เมื่อซีไอเอเข้าไปในพื้นที่ และภายใต้การบัญชาการของหวังเปา ชุมชนชาวม้งที่เคยอยู่แบบกระจัดกระจายสามารถรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเครื่องบินที่ซีไอเอนำเข้ามาส่งเสบียงให้ชาวม้ง และขนทหารม้งออกไปรบ

การเข้ามาของเครื่องบินขนส่งทั้งใหญ่เล็กของแอร์อเมริกา (Air America) สายการบินขนส่งสินค้าของซีไอเอ ยังเปิดเส้นทางค้ายาเสพติดให้กว้างขึ้นทั่วโลก เพราะการขนส่งยาเสพติดทางอากาศมีความปลอดภัยสูง รอดสายตาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ง่าย และสามารถขนส่งได้ในปริมาณมากๆ แต่สิ่งที่ทำให้การค้ายาเสพติดในยุคสงครามเย็นยิ่งเติบโต และผ่านหูผ่านตาผู้ปกครองลาวไปได้อาจไม่ใช่เพราะบารมีของหวังเปา แต่เป็นเพราะผู้ปกครองลาวเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาและค้ายาเสียเอง เจ้าสบไซซะนะไม่ใช่อีลีทเพียงคนเดียวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดยักษ์ในเวลานั้นเป็นแน่… ติดตามตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image