เพียงแต่ตั้งใจ’แก้’คือแสงสว่างปลายอุโมงค์ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ระหว่างนี้ คอการเมืองใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาก่อนแก้ แล้วจะแก้หรือไม่แก้ขอให้ทราบชัดเจน หวังว่าคงจะเดินหน้าไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 15 ตั้งแต่มาตรา 255 เป็นต้นไป

ในมาตรา 256 กำหนดว่า ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

Advertisement

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นฉบับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

ดังนั้น การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ มีได้ 2 กรณี คือ กรณีแรกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

กรณีนี้มีความเป็นไปได้ ด้วยจำนวนสมาชิกของฝ่ายค้านมีทั้งหมดเกือบกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านเข้าชื่อกันยื่นญัตติใน (2) เสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

แต่…เรื่องนี้ต้องมีแต่…หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสองในห้าเข้าชื่อขอแก้ไขเรียบร้อย แล้วยื่นตาม (2) เสนอเป็นฉบับร่างต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

รัฐสภาคือสภาผู้แทนราษฎรกับสภาวุฒิสมาชิกคงไม่นำเสนอเข้าสู่วาระง่ายๆ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และสมาชิกของวุฒิสภา 250 คน เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเกือบทั้งหมดก็ว่าได้

เถอะ… แม้จะมีความพยายามโน้มน้าว หรือรัฐบาลเองเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นไปได้ยากส์) แล้วมีโอกาสผ่านเข้าบรรจุเป็นวาระ

การอภิปรายแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งของทุกฝ่ายในการพิจารณาวาระแรก คงตกไปก่อนผ่านวาระนี้
นั่นคือ โอกาสจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะตกไปก่อนในวาระแรก

เอาเป็นว่า หากเป็นไปได้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบางมาตรา แน่นอนว่า วุฒิสมาชิกต้องสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเช่นกัน

เมื่อมาถึงวาระสองที่ต้องพิจารณาแปรญัตติ ส่วนนี้คงไม่ผ่านไปได้ง่ายๆ ด้วยเหตุที่การแปรญัตติคือความต้องการของทุกฝ่ายเพื่อจะให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์กับฝ่ายตน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายวุฒิสมาชิก

เอ้า ให้เป็นฝ่ายความต้องการของประชาชนซึ่งเสนอผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสื่อมวลชน ใช่ว่าจะผ่านเข้าสู่การแก้ไขได้ง่ายๆ

กระนั้น เมื่อเสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม 2560 เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่ง หรือที่พูดกันว่า เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

หากมีกำหนดเวลาว่าจะเริ่มพิจารณาเมื่อใด เสร็จเมื่อใด เมื่อนั้นการนับสองสามสี่ ทำให้แสงสว่างเกิดความหวังยิ่งขึ้น จริงไหมจ๊ะลุงตู่ ???

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image