คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน ยุคของ ‘ทำน้อยได้มาก’ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

“การสร้างมูลค่าเพิ่ม” ด้วย “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของนโยบาย “Thailand 4.0” (ประเทศไทย 4.0)

ทุกวันนี้ การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน จึงเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมขององค์กร ซึ่งมุ่งไปที่หลักการ “ทำน้อยได้มาก” แทนที่การเป็นผู้รับจ้างผลิตแบบเดิม ที่ “ทำน้อยได้น้อย” และ “ทำมากก็ได้กลางๆ”

การปรับเปลี่ยนเป็นหลักการเพิ่มผลผลิต (Productivity) ด้วยแนวความคิด “ทำน้อยได้มาก” จึงต้องเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” ให้มากขึ้นๆ

ดังนั้น ช่วงนี้จึงเห็นความพยายามของภาครัฐในการสนับสนุนกิจการประเภท Startup เศรษฐกิจในยุค “Thailand 4.0” จึงเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการบริการ โดยเน้นที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมที่มีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการและความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อชุมชนแข็งแรงแล้ว เราก็สามารถจะเชื่อมต่อกับ ASEAN และโลกต่อไป

Advertisement

กลไกการขับเคลื่อน (Engines of Growth) เศรษฐกิจยุคใหม่ตามนโยบาย “Thailand 4.0” ประกอบไปด้วย 3 กลไกด้าน Productive Growth, Inclusive Growth และ Green Growth

เป้าหมายสำคัญของ Productive Growth Engine ก็เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์

เป้าหมายสำคัญของ Inclusive Growth Engine ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงเป็นธรรม เป็นการลดความเหลื่อมล้ำและเป็นการกระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Advertisement

เป้าหมายสำคัญของ Green Growth Engine ก็เพื่อสร้างความมั่งคั่งของไทยในอนาคต คือจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการหลุดออกจากกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนาระหว่างคนกับสภาพแวดล้อม

ทั้ง 3 กลไกขับเคลื่อนสู่ “ประเทศไทย 4.0” ถือเป็นการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ความมั่งคั่งอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการลงทุนต่างประเทศ ที่มีการลงทุนการวิจัยและพัฒนาตัวเองน้อยมาก ไปเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาของบุคลากร การสร้างงานวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและความทันสมัยให้ไทยสามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 และสามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้

กลไกขับเคลื่อนทั้ง 3 กลไกเพื่อเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0” นี้ จะมุ่งเน้นในการพัฒนากลุ่มอาชีพและบุคลากร 4 กลุ่ม (กลุ่มเกษตรกร กลุ่ม SMEs กลุ่มงานบริการ และกลุ่มแรงงาน) ให้มีศักยภาพและมีความ SMART มากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยรวมด้วย

ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

เรื่องที่ต้องคิดหนักในวันนี้ก็คือ ความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ ที่จะสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยหลักการของ “ทำน้อยได้มาก” ครับผม!

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image