จิตวิญญาณที่มอดหมด : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

อาการเบิร์นเอาต์หรืออาการหมดไฟทางจิตวิญญาณ ส่วนใหญ่จะใช้ในความหมายของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และเผชิญกับวิกฤตทางความเชื่อ แต่ในความหมายปัจจุบันที่คนร่วมสมัยใส่ใจในการเรียนรู้จักตนเองมากขึ้น มันมีสิ่งที่เรียกว่าอาการหมดไฟในทางจิตวิญญาณบ้างไหม

สำหรับผู้เริ่มต้นแสวงหาด้านใน ดูเหมือนว่าจะมีแนวทางให้เลือกเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์ชนิดของคนจากบุคลิกภาพเช่น สัตว์สี่ทิศ, นพลักษณ์ หรือการวิเคราะห์เรื่องพลวัตของตัวตนและสังคม เช่น เสียงภายใน, IFS หรือซาเทียร์ บ้างก็ใช้ร่างกายในการเยียวยาบำบัด เช่น โยคะบำบัด, การเต้นบำบัดแบบของโอโช หรือใช้แบบผสมผสาน เช่น ละครบำบัด สายรุ้งแห่งความปรารถนา หรืออื่นๆ หรือใช้ศิลปะหรือวัตถุมาผนวก ไม่ว่าจะเป็นศิลปะบำบัด หรือกระบะทราย เป็นต้น นอกจากนั้นยังไม่ได้พูดถึงแนวทางในการภาวนา ทั้งในสายพุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสายขนบ หรือสายทางเลือก และอื่นๆ อีกมากมายที่กล่าวถึงไม่ได้ทั้งหมด ในท่ามกลางความหลากหลายนี้ อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้เริ่มต้นว่าจะไปทางไหนดี แต่สำหรับผู้ที่ได้ทดลองและผ่านการอบรมเหล่านั้นมาพอสมควร ย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการอ่อนล้าทางจิตวิญญาณ คือไม่รู้สึกตื่นเต้นกับอะไรอีกต่อไป หรืออาจจะถึงขั้นเบื่อหน่ายและแสวงหาการหลีกหนีไปเลย

เช่นเดียวกับการหมดไฟในการทำงาน ผู้ที่แสวงหาด้านในอาจจะมีความจริงจังในการเรียนรู้ระดับสูง และยิ่งเป็นบุคลิกภาพชนิด A ที่จะต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จ ทำให้ยิ่งมุมานะในการแสวงหามากกว่าคนอื่นทั่วไป และพยายามใช้ทุกโอกาสที่มีในการกระโดดจากการอบรมหนึ่งไปสู่การอบรมหนึ่ง แต่ยิ่งผ่านเวลาไป ก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องมีอะไรที่ดีกว่านี้ยิ่งๆ ขึ้นไป การอบรมจึงเป็นการอบรมเพื่ออบรม ไม่ใช่การอบรมเพื่อนำไปใช้ในชีวิต แต่กลับกลายเป็นว่าตนเองรู้สึกมีชีวิตชีวามากที่สุดเมื่ออยู่ในคอร์สอบรม และตัวตนของตนสวยงามที่สุดเมื่ออยู่ในกระบวนการ

ผมเป็นนักการละคร เมื่อมาคิดดูแล้ว ให้รู้สึกย้อนแย้งว่าช่วงเวลาที่ผมอยู่บนเวทีและได้แสดงเป็นตัวละคร กลายเป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกได้สัมผัสกับ “ชีวิต” ที่สุด มันคล้ายกับว่าผมเกลือกกลั้วกับชีวิตได้มากที่สุดในโลกมายา ดังนั้นผมจึงเข้าใจความรู้สึกดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ที่ในชีวิตไม่สามารถแสดงตัวตนของตัวเองได้ ไม่สามารถพูดในสิ่งที่คิด ไม่สามารถทำในสิ่งที่อยากทำ บรรยากาศของการอบรมอนุญาตให้เราทำได้ทั้งหมดนั่นโดยไม่ถูกตัดสิน และนั่นคือช่วงเวลาที่วิเศษสุด จริงหรือ?

Advertisement

เวลาที่เราใช้อยู่ในการอบรมช่างน้อยนิด เมื่อเทียบกับชีวิตจริงภายนอก การยึดถือเอาการอบรมเป็นสรณะ หรือเพื่อการ “เที่ยวพักผ่อน” ทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่ทางออกสำหรับใคร สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวสาระจากความโกลาหลของข้อมูลและกระบวนการที่กระบวนกรพยายามนำมาอวด เมื่อผ่านเวลาย่อมค้นไม่พบทางของตัวเอง และความพึงพอใจในการอบรมก็ย่อมลดน้อยถอยลงตามกฎของเศรษฐศาสตร์ทางจิต และเมื่อถึงเวลานั้น ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบกับ “อาการหมดไฟ” ทางจิตวิญญาณ

ซึ่งหมายถึงสภาวะของการไม่รู้สึกอยากจะทำอะไร ไม่อยากจะพัฒนาตนเอง ไม่อยากจะเรียนรู้อะไรใหม่ ในที่สุดแม้แต่ใครพูดเรื่อง “ภาวนา” หรือ “จิตวิญญาณ” ขึ้นมาก็คร้านจะฟัง

ถ้าถามผม แล้วจะแก้ไขอาการเช่นนี้อย่างไร? ส่วนตัวผมใช้แนวทางแบบนี้ คุณอาจจะลองเอาไปใช้บ้างก็ได้

Advertisement

แกล้งทำจนกว่าจะถลำลึก
(Fake it until you make it)

ดูเป็นคำแนะนำที่แปลกประหลาดนะครับ ผมได้มันมาจากอาจารย์สอนมวยจีนของผม ผมถามอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ บางครั้งทำไมรู้สึกไม่อยากรำมวย เหมือนอะไรๆ มันไม่ได้ดั่งใจ ร่างกายก็ไม่ขยับอย่างที่เราอยากให้มันเป็น เลยพาลไม่อยากรำไปเลย จะแก้อย่างไร” อาจารย์บอกว่า “รำๆ ไปก่อน รอบแรก อย่าไปตั้งใจอะไรมันมาก ให้มันผ่านไปเร็วๆ เดี๋ยวสักพักพอมันเข้าที่แล้ว เราจะมีสมาธิเอง” เชื่อไหมว่า ใช้ได้ผลครับ ผมลองหลายครั้งแล้ว ก็รำแบบสั่วๆ ไปในรอบแรก บางครั้งไม่ถึงห้านาที เหมือนร่างกายและจิตใจมันเชื่อมโยงกันได้แล้ว เราจะเข้าสู่สมาธิ และจากนั้นก็ลืมเวลาไปเลย ดังนั้นอย่าไปเคร่งเครียดจริงจังกับการภาวนาของคุณมากเกินไป ให้เริ่มแบบสั่วๆ เหมือนคนทำไม่เป็นนั่นแหละดีเลย อย่าไปเอาความสมบูรณ์แบบ

อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ

คุรุทางจิตวิญญาณของผมบอกว่า “ที่เรามาเรียนรู้เรื่องนี้น่ะ ไม่ได้ให้ทุกคนเป็นผู้วิเศษ แต่ให้กลายเป็นคนปกติ” ถ้อยคำนี้เตือนใจผมเสมอเมื่อรู้สึกว่าความรู้หรือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เราได้รับมันช่างดีเหลือเกิน วิเศษเหลือเกิน คำของอาจารย์จะเด้งขึ้นมาเป็นเหมือนโนติฟิเคชั่น “ปกติๆๆๆ” เพราะปกติเราไม่ปกติอยู่แล้ว คนทั่วไปมีความวิปลาส หรือความบ้าบออยู่ในระดับหนึ่ง ดังนั้นเราจึงฝึกให้ตัวเองกลายเป็นคนปกติ ไม่ใช่คนวิเศษ

ความรู้ที่ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ความรู้

อันนี้เป็นหลักอีกอย่างหนึ่งที่ผมคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ เพราะเมื่อเราเดินทางไปในเส้นทางจิตวิญญาณ เราไปรับรู้อะไรมากมาย กระบวนกรก็พยายามจะขายของให้เราเยอะแยะ แต่ในที่สุดเมื่อเรากลับมาอยู่กับตัวเอง ให้ถามตัวเองว่าความรู้นี้ใช้ได้จริงไหม หรือเพียงแค่เอาไว้ “พูดให้คนอื่นฟัง” หรือ “โพสต์อวดคนอื่น” ความรู้ที่ใช้จริงได้นี้ ต้องใช้ได้ทุกที่ไม่ว่าเราจะนั่งปลดทุกข์อยู่ในห้องน้ำ ก็ต้องใช้ได้ หรือในเวลาที่เรารู้สึกเคว้งคว้างอยู่คนเดียว ก็ต้องใช้ได้ ความรู้ที่ใช้ไม่ได้ ช่วยเราไม่ได้เวลาที่เราแย่ ไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นเพียงเครื่องประดับเก๋ไก๋เพียงเท่านั้น

สนทนากับผู้ร่วมทาง

ไม่มีใครจะเข้มแข็งบนเส้นทางของตนได้ตลอดเวลา การได้แลกเปลี่ยนกับผู้ฝึกปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน หรือแม้กระทั่งต่างแนวทาง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้ปรับจูนตัวเองมาสู่โลกของความเป็นจริง การมีผู้รับฟังอย่างเข้าใจ เป็นสิ่งที่ทำให้การฝึกปฏิบัติบนเส้นทางสายเดี่ยวไม่รู้สึกเดียวดายจนเกินไป

ถ้าสงสัยให้กลับไปที่ฐาน

ความสับสนงุนงงเพราะการเตลิดไปกับความคิด หรือการวิเคราะห์เจาะลึก จะแก้ไขได้ถ้าเรากลับไปที่ฐานของการปฏิบัติ ทางพุทธเรียกว่า “กรรมฐาน” มันคือฐานของการกระทำ เพราะกรรมแปลว่าการกระทำ ถ้าคุณฝึกปฏิบัติแต่ไม่มี “การปฏิบัติ” แสดงว่ากำลังฝึก “ความคิดวิเคราะห์” ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ จึงไม่มีปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ ดังนั้นถามตัวเองว่าคอร์สอบรมมากมายที่คุณเสียเงินและเวลาไปเรียนนั้น ให้อะไรคุณมากกว่าวิธีการใหม่ๆ ในการคิดวิเคราะห์เรื่องจิตใจหรือไม่ ถ้ามันมีอยู่แค่นั้น โดยไม่มีฐานของการปฏิบัติเลย หรือถามตัวเองว่า เมื่อถึงเวลาคับขันคุณจะเอาความรู้แบบนั้นมาใช้ช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ ถ้าคำตอบที่ซื่อสัตย์กับตัวเองบอกว่าไม่ได้ ก็แปลว่าคุณกำลังเสียเวลาอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่จะใช้กับชีวิตไม่ได้

แต่ถ้าคุณเรียนไปเพื่ออวดคนอื่นว่าฉันเรียนแล้ว ได้ใบประกาศแล้ว ก็เรียนไปเถอะ เพราะมันชีวิตคุณ ใครจะไปห้ามได้

หมายเหตุ : ใครมีประสบการณ์ในการดูแลจัดการอาการมอดหมดทางจิตวิญญาณ เขียนมาคุยกันได้นะครับที่ [email protected]

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image